xs
xsm
sm
md
lg

ดันยุทธศาสตร์ค้าปลีกชงรั ฐก.ย.นี้รับ “เออีซี”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นางสาวบุษบา จิราธิวัฒน์ ประธานสมาคมผู้ค้าปลีกไทย
ส.ผู้ค้าปลีกไทยเร่งผลักดันยุทธศาสตร์ค้าปลีกค้าส่งไทยรับเออีซี ชี้โอกาสไทยสยายปีกผุดห้างสรรพสินค้าอาเซียนมีสูง จวกนโยบายภาครัฐไม่มีความชัดเจนกฎหมาย-การลงทุนต่างประเทศ จี้ภาษีสินค้าฟุ่มเฟือยไม่เอื้อ มาเลเซียแซงหน้าลดภาษี 0-5%  มั่นใจปีนี้กลุ่มสมาชิกผู้ค้าปลีกไทยทั้งปีโต 12%  

นางสาวบุษบา จิราธิวัฒน์ ประธานสมาคมผู้ค้าปลีกไทย เปิดเผยว่า สมาคมฯ กำลังอยู่ระหว่างเร่งดำเนินการผลักดันยุทธศาสตร์ค้าปลีกค้าส่งประเทศไทยเพื่อเตรียมพร้อมสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ในปี 2558 หรืออีก 3 ปีข้างหน้า เนื่องจากมองว่าธุรกิจค้าปลีกค้าส่ง เป็นกลไกในการขับเคลื่อนการเติบโตของเศรษฐกิจภายในประเทศได้ง่ายและรวดเร็ว โดยเป็นภาคบริการที่ทำรายได้สูงสุดเป็นอันดับ 2 ของประเทศ

นอกจากนี้ยังเป็นธุรกิจที่ขยายตัวได้อีกมากทั้งในประเทศ โดยในปีที่ผ่านมาธุรกิจอุตสาหกรรมค้าปลีก-ค้าส่งเติบโต 2.3% จากมูลค่า 1.35 ล้านบาท เนื่องจากได้รับผลกระทบจากภัยน้ำท่วมเมื่อปลายปีที่ผ่านมา ขณะที่ยอดขายของสมาชิกสมาคมฯ ต่อออุตสาหกรรมการบริโภคค้าปลีกสัดส่วนเพียง 34.5% และภาพรวมของกลุ่มสมาชิกสมาคมผู้ค้าปลีกไทยครึ่งปีแรกของปีนี้โต 8% และคาดว่าทั้งปีโต 12% 

อีกทั้งมองว่ากลุ่มธุรกิจค้าปลีกค้าส่งของไทยเป็นธุรกิจที่มีศักยภาพในตลาดอาเซียน เนื่องจากการที่กลุ่มค้าปลีกค้าส่งสามารถไปเปิดตลาดอาเซียน ก็เปรียบเสมือนหัวเรือที่ขนสินค้ากลุ่มเอสเอ็มอีไปด้วย ซึ่งปัจจุบันกลุ่มมีคู่ค้า 9,000 ราย เพียงแต่ว่าที่ผ่านมาภาครัฐยังไม่ได้มีนโยบายด้านกฎหมาย หรือกฎเกณฑ์เพื่อให้กลุ่มนักลงทุนทั้งในและต่างประเทศได้ทราบถึงความชัดเจน โดยเฉพาะในด้านกฎหมายการเข้าไปทำธุรกิจค้าปลีกค้าส่งในอาเซียน โดยควรจะมีหน่วยงานที่ให้ข้อมูลดังกล่าวอย่างครบวงจร เช่น การเข้าไปลงทุนในแต่ละประเทศต้องเสียภาษีท้องถิ่นเท่าไร รวมถึงนโยบายลดภาษีสินค้าฟุ่มเฟือยเหลือ 0-5% จากปกติภาษีนำเข้าสินค้าฟุ่มเฟือย 30-50% เพื่อผลักดันให้ประเทศไทยเป็นประตูหน้าด่านในอาเซียน หรือเป็นจุดเดสติเนชันด้านชอปปิ้ง 

ทั้งนี้ เรื่องลดภาษีสินค้าฟุ่มเฟือย กลุ่มผู้ประกอบการพยายามชี้แจงภาครัฐตลอด ขณะที่ภาครัฐจะคำนึงว่าการลดภาษีสินค้าฟุ่มเฟือยจะส่งผลเสียต่อประเทศ หรือสูญเสียรายได้จากการจัดเก็บภาษี  ขณะนี้กลุ่มประเทศอาเซียน อย่างมาเลเซีย มีจำนวนนักท่องเที่ยว 22 ล้านคน เริ่มลดภาษีสินค้าฟุ่มเฟือยเหลือ 0-5% แล้ว ส่วนประเทศไทยมีจำนวนนักท่องเที่ยว 20 ล้านคน มีศักยภาพด้านอาหาร สถานที่ท่องเที่ยว แต่ด้านภาษีสินค้าฟุ่มเฟือยกลับไม่เอื้อ และเมื่อเทียบกับสิงคโปร์มีนักท่องเที่ยว 12 ล้านคน มีการปรับตัวด้านสนามบิน อย่างไรก็ตาม ในสถานการณ์บนเวทีแห่งการค้าที่มีการแข่งขันมากขึ้นในตลาดอาเซียน กลุ่มผู้ประกอบการคงไม่รอภาครัฐ เพราะในแง่ของการแข่งขันต้องชิงความได้เปรียบ 

“ภาครัฐควรสนับสนุนด้านการลงทุน การโปรโมตสินค้าแบรนด์ไทย โดยสื่อสารเป็นแบรนด์ที่มีคุณภาพ มีนวัตกรรม และอยากให้มองว่าสินค้าแบรนด์เนมเป็นเหมือนสินค้าที่สร้างภาพลักษณ์และดึงดูดให้นักท่องเที่ยวมาชอปปิ้งมากขึ้น ขณะที่กลุ่มภาคเอกชนต้องคิดนอกกรอบมากขึ้น หากต้องการให้ไทยเป็นเดสติเนชันชอปปิ้งในอาเซียน”

นางสาวบุษบากล่าวว่า ล่าสุดทางสมาคมฯ เร่งดำเนินการผลักดันยุทธศาสตร์ค้าปลีกและค้าส่งเพื่อนำเสนอต่อภาครัฐในเดือน ก.ย.นี้ ในเบื้องต้นต้องเร่งดำเนินการเพื่อพัฒนาศักยภาพบุคลากรทั้งค้าปลีก ค้าส่ง และคู่ค้า เพื่อเตรียมความพร้อมสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน จะเริ่มดำเนินการแล้วเสร็จในปีนี้ การจัดทำดัชนีค้าปลีกเพื่อเป็นเครื่องมือในการวัดการบริโภคของประเทศ เช่น ดัชนีชี้เศรษฐกิจมหภาคด้านการบริโภคและอำนาจการซื้อของประเทศ ดัชนีชี้การบริโภคระดับภูมิภาคและจังหวัด และดัชนีชี้วัดการบริโภคในแต่ละหมวดสินค้า จะแล้วเสร็จในปีหน้า และโครงการพัฒนาศักยภาพผู้ค้าปลีก ค้าส่ง และคู่ค้า มุ่งตลาดเออีซี คาดว่าแล้วเสร็จในปีหน้าเช่นกัน 

นายฉัตรชัย ตวงรัตนพันธ์ ผู้อำนวยการสมาคมผู้ค้าปลีกไทย กล่าวว่า โอกาสของผู้ประกอบการค้าปลีกไทยที่จะไปขยายธุรกิจในอาเซียนมีสูงมาก โดยเฉพาะห้างสรรพสินค้า เพราะประเทศไทยมีห้างสรรพสินค้าที่เป็นอันดับหนึ่งในอาเซียน โดยห้างสรรพสินค้าจะมีสินค้าที่หลากหลายทั้งสินค้าไทยและสินค้าแบรนด์เนม รองลงมาเป็นสเปเชียลลิตีสโตร์ ที่มีโอกาสขยายการลงทุนได้มาก ส่วนธุรกิจซูเปอร์มาร์เกต และห้างค้าปลีกไม่มีความเหมาะสมเข้าไปลงทุนมากนัก เพราะต้องใช้สินค้าในท้องถิ่นจำนวนมาก อาจจะเกิดปัญหาผู้ผลิตสินค้า (ซัปพลายเออร์) ไม่จัดส่งสินค้าให้
กำลังโหลดความคิดเห็น