“คมนาคม” เตรียมรวมระบบจัดเก็บค่าผ่านทางอัตโนมัติ ทางด่วนกับมอเตอร์เวย์ โดยใช้บัตรใบเดียวกันได้ 2 ระบบ ลดปัญหาผู้ใช้ทางสับสน เดินหน้าระบบตั๋วร่วม สั่ง ทล.และกทพ.ศึกษาข้อดี ข้อเสียสรุป 27 ก.ค.นี้ก่อนเสนอ “จารุพงศ์” ตัดสินใจ “ศรศักดิ์” เผยแนว ทล.จ้าง กทพ.เก็บทั้งหมดเหมาะที่สุด
นายศรศักดิ์ แสนสมบัติ รองปลัดกระทรวงคมนาคม เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการบริหารจัดการระบบตั๋วร่วมเมื่อวันที่ 23 กรกฎาคมว่า ได้หารือถึงระบบจัดเก็บค่าผ่านทางอัตโนมัติระหว่างระบบทางด่วนการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) หรือ Easy Pass กับระบบทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (มอเตอร์เวย์) ของกรมทางหลวง (ทล.) หรือ M-Pass เพื่อจัดทำให้เป็นระบบตั๋วร่วมที่ผู้ใช้ทางสามารถใช้ร่วมกันได้ โดยได้มอบหมายให้ กทพ.และ ทล.ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมถึงข้อดี ข้อเสีย และข้อจำกัดในการบริหารจัดการ โดยมีเงื่อนไขว่าประชาชนผู้ใช้ทางต้องได้รับความสะดวกและไม่เกิดความสับสนใน 2 แนวทาง คือ 1. กรมทางหลวงว่าจ้าง กทพ.จัดเก็บค่าผ่านทางมอเตอร์เวย์ 2. ต่างคนต่างจัดเก็บเอง โดยในวันที่ 27 กรกฎาคมนี้ให้นำข้อมูลมาหารือร่วมกันและสรุปนำเสนอนายจารุพงศ์ เรืองสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เป็นผู้พิจารณาแนวทางที่เหมาะสมที่สุด
“ปัจจุบัน กทพ.ใช้ Easy Pass เป็นระบบอัตโนมัติของทางด่วน ส่วนมอเตอร์เวย์ของกรมทางหลวงกำลังจัดทำระบบเก็บค่าผ่านทางอัตโนมัติเช่นกัน จะทำให้ประชาชนต้องมีบัตร 2 ใบ ซึ่งปัจจุบัน กพท.มีสมาชิกบัตร EASY PASS อยู่ประมาณ 400,000 บัญชี ส่วนผู้ใช้มอเตอร์เวย์อาจจะมีอีกประมาณ 100,000 ราย ดังนั้นแนวทางที่สะดวกที่สุดคือ ให้เป็นระบบตั๋วร่วมบัตรเดียวกันใช้ได้ทั้ง 2 ระบบและมีชื่อเดียวกัน แต่การที่จะให้ กทพ.จัดเก็บทั้งหมด ต้องดูว่าเทคนิครายละเอียดปลีกย่อยที่ต้องแก้ไขมีอะไรบ้างและมีค่าใช้จ่ายเท่าไร โดยหลักการจ้าง กทพ.จัดเก็บไม่ควรมีค่าใช้จ่ายที่สูงกว่าการที่ ทล.จัดเก็บเอง” นายศรศักดิ์กล่าว
ด้านนายสิทธิชัย บุญสะอาด ผู้อำนวยการกองทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง กรมทางหลวง กล่าวว่า ขณะนี้ ทล.อยู่ระหว่างปรับรูปแบบมอเตอร์สาย 7 (กรุงเทพฯ-ชลบุรี สายใหม่) และสาย 9 (วงแหวนตะวันออก) ให้เป็นระบบปิดเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมแก่ผู้ใช้ทางมากขึ้น เพราะไม่มีค่าแรกเข้าและปรับให้จ่ายเงินตามระยะทางที่ปลายทาง พร้อมกันนี้ได้มีการติดตั้งระบบเก็บค่าผ่านทางอัตโนมัติซึ่งตั้งชื่อไว้ว่า M-Pass เพื่อแก้ปัญหาจราจรหน้าด่านและอำนวยความสะดวกแก่ผู้ใช้ทางด้วย โดยกำหนดแล้วเสร็จในเดือนพฤษภาคม 2556 ส่วนการจัดทำระบบตั๋วร่วมหรือค่าผ่านทางอัตโนมัติร่วมกับระบบทางด่วนของ กทพ.นั้น ทล.จะต้องศึกษาในเรื่องเทคนิค การเชื่อมระบบ นอกจากนี้จะต้องพิจารณาในเรื่องระเบียบและข้อกฎหมายด้วย เนื่องจาก ทล.จะต้องนำรายได้จากค่าผ่านทางมอเตอร์เวย์จัดส่งเข้ากองทุนมอเตอร์เวย์
อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ ทล.ได้มอบหมายให้ กทพ.ดำเนินการจัดเก็บค่าผ่านทางโครงการถนนวงแหวนรอบนอกด้านใต้ช่วงบางขุนเทียน-สุขสวัสดิ์ ซึ่งเป็นของ ทล. เนื่องจากเป็นช่วงต่อเนื่องกับช่วงบางพลี-สุขสวัสดิ์ของ กทพ.แล้ว แต่มีความแตกต่างกันกับมอเตอร์เวย์ เนื่องจาก ทล.ลงทุนระบบที่มอเตอร์เวย์เองทั้งหมด ส่วนช่วงบางขุนเทียน-สุขสวัสดิ์ให้ กทพ.เข้ามาลงทุนระบบจัดเก็บค่าผ่านทางให้ และจัดเก็บให้ทั้งแบบอัตโนมัติและค่าผ่านทางแบบเงินสด