xs
xsm
sm
md
lg

กทพ.ปรับแผนแม่บททางด่วน เพิ่มเส้นทางรับ AEC คาด 10 ปีเพิ่ม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายอัยยณัฐ ถินอภัย ผู้ว่าการการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.)
กทพ.ปรับแผนแม่บททางด่วนใหม่ระยะ 10 ปี (57-67) เพิ่มโครงข่ายเชื่อมเพื่อนบ้านรับ AEC ตั้งเป้าเสร็จอย่างช้าปี 60 และขยายเส้นทางในประเทศเชื่อมต่อ 4 ภาค ตั้งเป้าเพิ่มเส้นทางด่วนให้ได้ 1,000 กิโลเมตร เผย ก.ค.ยกเลิกมัดจำ Easy Pass

นายอัยยณัฐ ถินอภัย ผู้ว่าการการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) เปิดเผยว่า กทพ.จะมีการปรับแผนแม่บททางพิเศษใหม่ โดยมุ่งเส้นทางเชื่อมต่อประเทศในภูมิภาคเพื่อรองรับประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) และการขยายเส้นทางปัจจุบันรอบกรุงเทพฯ และปริมณฑลออกไปยังภูมิภาค โดยคาดว่าจะใช้เวลา 1 ปี โดยแผนแม่บทใหม่จะมีระยะ 10 ปี (2557-2567) มีเป้าหมายเพิ่มโครงข่ายทางพิเศษให้ได้ 1,000 กิโลเมตรจากปัจจุบันมีระยะทางประมาณ 200 กิโลเมตร

โดยเส้นทางเชื่อมประเทศเพื่อนบ้าน 4 ด้าน ได้แก่ สปป.ลาวทางด้านมุดาหาร, กัมพูชาทางอรัญประเทศ, พม่าทางแม่สาย และแม่สอด, มาเลเซียทางด่านสะเดา ซึ่งจะสอดคล้องกับโครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (มอเตอร์เวย์) ของกรมทางหลวง จากหาดใหญ่-สะเดา ซึ่งปัจจุบันมีปริมาณจราจรที่ด่านสะเดาประมาณ 1.1 ล้านเที่ยวต่อปี โดยจะมีด่านตรวจคนเข้าเมืองศุลกากรบริการครบวงจรและใช้ระบบ EASY PASS ก่อสร้างเป็นทางด่วนบริเวณชายแดนระยะทาง 4-6 กิโลเมตร โดยอยู่ฝั่งไทยประมาณ 3 กม.อีก 3 กิโลเมตรอยู่ในฝั่งประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งจะช่วยเพิ่มความเร็วในการคมนาคมขนส่งผ่านแดน โดยตั้งเป้าดำเนินการแล้วเสร็จในปี 2560

สำหรับการขยายโครงข่ายทางพิเศษภายในประเทศ ประกอบด้วย 1. ต่อขยายทางพิเศษบูรพาวิถี จากจุดสิ้นสุดปัจจุบันที่ถนนบางนา-ตราด กม.55 ไปถึงพัทยา สัตหีบ และแหลมฉบัง ระยะทาง 57 กม. 2. ต่อขยายทางพิเศษฉลองรัช จากถนนวงแหวนรอบนอกตะวันออก ไปจังหวัดสระบุรี ระยะทาง 63 กม. รับรถจากภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคเหนือ 3. ต่อขยายทางพิเศษอุดรรัถยา จากบางปะอินไปป่าโมก สิ้นสุดที่จังหวัดนครสวรรค์ ระยะทาง 183 กม.

4. ทางพิเศษวงแหวนรอบนอกตะวันตก จากจุดสิ้นสุดทางพิเศษศรีรัช-วงแหวนรอบนอก ไปจังหวัดนครปฐม ระยะทาง 27 กม. 5. ทางพิเศษวงแหวนรอบนอกตะวันตกไปปราณบุรี ระยะทาง 250 กม.ทั้งนี้ เพื่อเพิ่มทางเลือกให้ประชาชนและแข่งขันกับมอเตอร์เวย์ของกรมทางหลวง (ทล.) 6. ทางพิเศษสายดาวคนอง-วงแหวนตะวันตก 8.8 กม. และต่อเชื่อมไปตามเกาะกลางถนนพระราม 2 ถึงแยกวังมะนาว ระยะทาง 75 กม.

ส่วนความคืบหน้าในการยกเลิกค่ามัดจำบัตร Easy Pass 1,000 บาท จะเสนอที่ประชุมคณะกรรมการ (บอร์ด) กทพ. พิจารณาอนุมัติในวันที่ 22 มิถุนายนนี้ และหลังจากนั้นจะต้องใช้เวลาอีกประมาณ 15-20 วันในการเตรียมการ รวมถึงแจ้งเงื่อนไขต่างๆ ให้ประชาชนทราบ คาดว่าจะยกเลิกค่ามัดจำบัตรได้ภายในเดือนกรกฎาคมนี้ โดยผู้ที่เริ่มใช้บัตร Easy Pass จะต้องเติมเงินขั้นต่ำครั้งแรกเป็นจำนวน 1,000 บาท ครั้งต่อไปเติมเงินขั้นต่ำไม่ต่ำกว่า 500 บาท ส่วนคนที่มีเงินประกันบัตรไว้กับ กทพ. 1,000 บาท หรือ 800 บาท สามารถขอรับเงินคืนได้โดยต้องเขียนคำร้องขอรับเงินคืน หรือสามารถเปลี่ยนเป็นค่าผ่านทางได้ ซึ่งจะแจ้งรายละเอียดให้ทราบอีกครั้ง แต่หากมีการทำบัตร Easy Pass เสียหายจะต้องเสียค่าปรับ 1,000 บาทตามราคาบัตร เพราะถือเป็นทรัพย์สินของทางราชการ โดยบัตรมีอายุการใช้งาน 5 ปี

อย่างไรก็ตาม ในวันนี้ (12 มิ.ย.) กทพ.จะลงนามสัญญากับซีพีออลล์ เพื่อเติมเงินค่าผ่านทางผ่านเคาน์เตอร์เซอร์วิสเซเว่นอีเลฟเว่นทุกสาขา โดยเสียค่าธรรมเนียม 10 บาท
กำลังโหลดความคิดเห็น