เรกูเลเตอร์ส่งสัญญาณเตือนรัดเข็มขัดค่าไฟ มิ.ย.-ส.ค. 55 ขึ้น 30 สตางค์ต่อหน่วยไม่เปลี่ยนแปลงแล้ว พร้อมลดหน่วยไฟฟรีจาก 90 หน่วยเหลือ 50 หน่วย เผยแนวโน้มค่าไฟงวดหน้ามีโอกาสขึ้นแต่จะไม่ร้อนแรงเท่างวดนี้
นายดิเรก ลาวัณย์ศิริ ประธานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (เรกูเลเตอร์) เปิดเผยว่า เรกูเลเตอร์ยังคงไม่มีนโยบายเปลี่ยนแปลงค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ หรือ Ft ที่จะเรียกเก็บในบิลค่าไฟประชาชนเดือนมิถุนายน-สิงหาคม 2555 ที่จะต้องขึ้น 30 สตางค์ต่อหน่วย หลังจากก่อนหน้าได้เห็นชอบตรึงราคาเดือนพฤษภาคม 55 ไว้เพื่อบรรเทาผลกระทบต่อประชาชน เช่นเดียวกับมาตรการค่าไฟฟ้าฟรีสำหรับผู้ใช้ไฟบ้านที่อยู่อาศัยไม่เกินขนาด 5 (15) แอมแปรที่จะปรับลดหน่วยการใช้จากไม่เกิน 90 หน่วยเหลือไม่เกิน 50 หน่วยที่จะเริ่มตั้งแต่เดือนมิถุนายนนี้เป็นต้นไป
“ค่า Ft ที่ขึ้น 30 สตางค์ต่อหน่วยนั้นข้อเท็จจริงเราจะต้องขึ้นในรอบ 4 เดือน คือพฤษภาคม-สิงหาคม 55 แต่เพราะประชาชนมีค่าครองชีพที่แพงจึงช่วยเหลือตรึงค่า Ft เดือนพฤษภาคมให้ 1 เดือนเพื่อช่วยประชาชน ส่วนการลดใช้ไฟฟรีเหลือ 50 หน่วยก็เพื่อให้เกิดการใช้ประหยัดมากขึ้นและบรรเทาผลกระทบต่อภาคอุตสาหกรรมที่จะต้องจ่ายค่าไฟแพงเพื่อช่วยเหลือครัวเรือน จากเดิมมีผู้ใช้สิทธิประมาณ 7 ล้านครัวเรือนเหลือ 5 ล้านครัวเรือน” นายดิเรกกล่าว
อย่างไรก็ตาม ค่า Ft งวดถัดไปหรือเดือนกันยายน-ธันวาคม 55 เมื่อพิจารณาราคาน้ำมันขณะนี้เริ่มลดลงมากซึ่งจะสะท้อนไปยังราคาก๊าซธรรมชาติให้ปรับลดได้ แต่คงจะต้องติดตามช่วงสิ้นปีที่ดีเซลปกติจะราคาสูงขึ้นมากน้อยเพียงใด แต่ภาพรวมน่าจะปรับขึ้นไม่หวือหวามากเมื่อเทียบกับงวดที่ผ่านมาที่เป็นการสะสมไว้พอสมควร
ทั้งนี้ ค่าไฟงวดเดือนกันยายน00-ธันวาคม 55 จะมีตัวแปรสำคัญที่จะนำมาคำนวณนอกเหนือจากต้นทุนเชื้อเพลิง อัตราแลกเปลี่ยน คือการตรึงค่าไฟเดือนพฤษภาคมได้ให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) รับภาระไปก่อน คิดเป็นเงิน 4,000 ล้านบาท เมื่อรวมกับการตรึงค่าไฟก่อนหน้ารวมเป็นภาระทั้งสิ้น 14,000 ล้านบาท ซึ่งจะต้องนำเงินส่วนนี้มาเกลี่ยปรับค่าไฟกับประชาชนในงวดต่อไปประมาณ 8 สตางค์ต่อหน่วย ขณะเดียวกัน ยังมีเงินเรียกคืนจากการบริหารจัดการก๊าซฯ จาก บมจ.ปตท.อีก 2,400 ล้านบาท ซึ่งส่วนนี้ก็จะนำมาลดค่า Ft ได้อีกประมาณ 5 สตางค์ต่อหน่วย
นายดิเรกกล่าวว่า ขณะนี้เรกูเลเตอร์ได้ดำเนินการแต่งตั้งคณะกรรมการพัฒนาชุมชนในพื้นที่รอบโรงไฟฟ้า หรือ คพรฟ. ไปแล้ว 39 กองทุน จำนวน 79 โรงไฟฟ้า โดยเป็นกองทุนประเภท ก. ที่ได้รับเงินมากกว่า 50 ล้านบาทต่อปี ซึ่งได้ดำเนินการครบถ้วนแล้วจำนวน 10 กองทุน และกองทุนประเภท ข ที่ได้รับเงินมากกว่า 1 ล้านบาทแต่ไม่เกิน 50 ล้านบาทต่อปี จำนวน 29 กองทุน โดยขณะนี้ยังเหลือการสรรหา คพรฟ.ของกองทุนประเภท ข. อีก 11 กองทุน ที่ได้มีการประกาศพื้นที่เพิ่มเติมเดือนมีนาคม 55 ที่ผ่านมา และการจัดให้มีตัวแทนกองทุนประเภท ค.ที่ได้รับเงินไม่เกิน 1 ล้านบาทต่อปี ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จเดือนกรกฎาคม-สิงหาคม 55
“ล่าสุดได้มีกองทุนพัฒนาไฟฟ้าในพื้นที่ประกาศเสนอแผนงานประจำปีเข้าสู่การพิจารณาของเรกูเลเตอร์เพิ่มเติมอีกจำนวน 8 กองทุน ซึ่งจะได้เสนอให้คณะกรรมการกลั่นกรองแผนงานและโครงการฯ เห็นชอบวันที่ 14 มิถุนายน 55 ก่อนที่จะเสนอเรกูเลเตอร์ในสัปดาห์หน้า เช่น กองทุนฯ โรงไฟฟ้ากระบี่ กองทุนฯ จ.นครสรรค์ 1 กองทุนฯ โรงกลั่นน้ำมันบางจาก เป็นต้น” นายดิเรกกล่าว