ASTVผู้จัดการ - “แกรมมี่” ออกแถลงการณ์โต้กลับ “ทรูวิชั่นส์” ระบุคุยกันมาตลอดตั้งแต่ปลายปี 54 เผยขอแลกเนื้อหากันแต่ทรูไม่ยอม จนในที่สุดได้คู่ค้าใหม่คือ DTV จึงตกลงกันไม่ได้ อัดบิดเบือนข้อเท็จจริงต่อสังคม ยันผู้บริหาร 2 ฝ่ายเปิดโต๊ะเจรจาและส่งเรื่องให้ยูฟ่าแล้วตั้งแต่ 8 มิถุนายน แต่ต้อง “จอดำ” จนกว่าจะได้คำตอบจากยูฟ่า
จากปมปัญหากรณีบริษัท จีเอ็มเอ็ม แซท จำกัด ในเครือจีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ จำกัด (มหาชน) ผู้ถือครองลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสดฟุตบอลชิงแชมป์แห่งชาติยุโรป หรือยูโร 2012 ระหว่างวันที่ 8 มิถุนายน ถึง 1 กรกฎาคม 2555 ทำการล็อกสัญญาณถ่ายทอดสดบอลยูโร 2012 ที่ออกอากาศผ่านทางฟรีทีวี ช่อง 3 ช่อง 5 และช่อง 9 โดยไม่ให้ผู้ชมที่ติดตั้งกล่องรับสัญญาณดาวเทียม และสมาชิกทรูวิชั่นส์ที่เสียค่าบริการรายเดือนรับชม โดยบังคับให้ซื้อเสาอากาศแบบก้างปลา หรือต้องซื้อกล่องรับสัญญาณดาวเทียมจีเอ็มเอ็ม แซทเพื่อรับชมการถ่ายทอดสด ล่าสุดในช่วงบ่ายวันนี้ (11 มิ.ย.) ทางจีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ได้ออกแถลงการณ์ต่อกรณีดังกล่าว
“สืบเนื่องจากกรณีความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนในเรื่องลิขสิทธิ์การถ่ายทอดการแข่งขันฟุตบอลชิงแชมป์แห่งชาติยุโรป ยูโร 2012 ที่ยังเป็นประเด็นอยู่ในขณะนี้ และมีสัญญาณว่ากำลังจะถูกบิดเบือนจากประเด็นทางธุรกิจให้กลายเป็นประเด็นทางสังคม
จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ ในฐานะผู้ได้สิทธิ์เผยแพร่การถ่ายทอดฟุตบอลยูโรแต่เพียงผู้เดียวในประเทศไทย ตระหนักถึงการทำธุรกิจบนพื้นฐานของคุณธรรมและความถูกต้อง ซึ่งเป็นแนวทางที่ จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ยึดถือและปฏิบัติมาตลอด 30 ปี จึงขอชี้แจงเพื่อสร้างความเข้าใจในการบริหารสิทธิ์และการรับชมฟุตบอลยูโรอีกครั้ง
การได้ลิขสิทธิ์ของฟุตบอลยูโร 2012 จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ได้ลิขสิทธิ์เผยแพร่ในทุกช่องทางการรับชม (All rights) ซึ่งต้องใช้เม็ดเงินในการประมูลค่าลิขสิทธิ์จำนวนมหาศาล มีการประมูลแข่งขันกับผู้ประกอบการในประเทศหลายราย เมื่อรวมกับค่าใช้จ่ายในการผลิตแล้วเป็นตัวเลขสูงกว่า 400 ล้านบาท การบริหารสิทธิ์ที่ได้มาครั้งนี้จึงอยู่บนความชอบธรรมที่ผู้ได้รับสิทธิ์จะดำเนินภายใต้วิธีการบริหารจัดการที่เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ทุกๆ ฝ่ายที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งผู้บริโภคที่พึงได้รับสิทธิ์ในแต่ละช่องทางการรับชม
ซึ่งเงื่อนไขสำคัญก่อนการประมูลนั้น ผู้เข้าประมูลจะต้องระบุถึงช่องทางการรับชมเสนอต่อยูฟ่า ผู้เป็นเจ้าของสิทธิ์ อย่างชัดเจน เพื่อแสดงถึงศักยภาพในการเผยแพร่การแข่งขันระดับโลกครั้งนี้สู่ผู้ชมอย่างกว้างขวางและเพียงพอต่อมาตรฐานที่ยูฟ่ากำหนด และต้องเผยแพร่การถ่ายทอดการแข่งขันครั้งนี้เฉพาะในประเทศไทยเท่านั้น หากมีการเปลี่ยนแปลงใดๆ จะต้องขออนุญาตและได้รับความเห็นชอบจากยูฟ่าก่อนทุกกรณี หลักการนี้เป็นหลักการสากลที่ผู้เคยเจรจาซื้อลิขสิทธิ์กับยูฟ่าย่อมรู้ดี
การเจรจาเพื่อหาพันธมิตรในการจับมือทางธุรกิจช่องทางการรับชมช่องทางต่างๆ จึงเริ่มดำเนินการตั้งแต่ช่วงกลางปี 2554 โดยเฉพาะ 3 ช่องทางการรับชมหลักที่สอดคล้องกับพฤติกรรมการรับชมโทรทัศน์ของคนไทยปัจจุบันนี้ คือ ฟรีทีวี ระบบภาคพื้นดิน (terrestrial TV), เคเบิลทีวี ทางสาย coaxial (Cable TV), และโทรทัศน์ดาวเทียม (satellite TV) ซึ่งระบุตัวเลขรวมของผู้ชมโดยรายงานล่าสุดของ AGB Nielsen เมื่อเดือนสิงหาคม 2554 ประมาณ 22 ล้านครัวเรือน เป็นผู้ชมฟรีทีวีผ่านเสาอากาศ เสาก้างปลา ประมาณ 10.9 ล้านครัวเรือน ผ่านระบบเคเบิลทีวีท้องถิ่น 2.3 ล้านครัวเรือน ที่เหลือเป็นระบบจานดาวเทียมทั้งซีแบนด์ และเคยูแบนด์ ประมาณ 6.8 ล้าน และของทรูวิชั่นส์อีก 1.8 ล้านครัวเรือน ซึ่งเป็นตัวเลขที่รวบรวมก่อนสถานการณ์น้ำท่วมใหญ่ที่ผ่านมา และไม่รู้ว่าฐานผู้ชมในแต่ละระบบ ณ ปัจจุบันคือเท่าใด แต่ที่แน่ๆ หลังน้ำลดผู้ชมกว่าครึ่งประเทศต้องเปลี่ยนทีวี และเครื่องรับสัญญาณใหม่เกือบทั้งหมด
ในช่องทางฟรีทีวี จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่บรรลุข้อตกลงกับช่อง 3, 5 และ 9 ในรูปแบบความร่วมมือทางธุรกิจ การหาโฆษณาและแบ่งรายได้ โดยใช้ฐานผู้ชมจากตัวเลขของ AGB Nielsen เป็นฐานในการนำเสนอแพกเกจต่อผู้สนับสนุน เพราะคำว่า ฟรีทีวี ยูฟ่าระบุชัดเจนว่าเป็นการรับชมในภาคพื้นดิน ที่รับชมอย่างอิสระโดยไม่มีเงื่อนไขผ่านเสาอากาศทุกประเภทเท่านั้น
หากฟรีทีวีที่นำสัญญาณไปทวนซ้ำ หรือ rebroadcast ในระบบดาวเทียม เช่นกรณี ทรู, DTV, IPM โดยเฉพาะทรูซึ่งมีรายได้จากการบอกรับสมาชิกและช่องรายการฟรีทีวีก็รวมอยู่ในแพกเกจที่ต้องจ่ายค่าสมาชิกด้วย ซึ่งถือเป็นสิทธิ์อีกช่องทางหนึ่งและต้องมีระบบการเข้ารหัสสัญญาณ หรือ encryption เพื่อไม่ให้สัญญาณหลุดออกนอกประเทศ อันเป็นกติกาที่ฟรีทีวีทุกช่องทราบดี และไม่ใช่เฉพาะฟุตบอลยูโรเท่านั้น การแข่งขันทัวร์นาเมนต์ระดับโลกอื่นๆ ก็ล้วนต้องเข้ารหัสทั้งสิ้นหากต้องยิงสัญญาณผ่านดาวเทียม
เมื่อการ rebroadcast ถือเป็นสิทธิ์ที่นอกเหนือจากฟรีทีวี จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่จึงมีความชอบธรรมในการหาพันธมิตรทางธุรกิจเพื่อร่วมบริหารสิทธิ์ในแต่ละช่องทางต่างๆ เหล่านั้นต่อไป
ณ เวลานั้น จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่วางนโยบายในการร่วมมือกับทุกกลุ่มพันธมิตร เพื่อร่วมบริหารสิทธิ์ในแต่ละช่องทางให้เกิดประโยชน์สูงสุดร่วมกัน พร้อมกันนั้น จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ประกาศชัดเจนในการเข้าสู่ธุรกิจแพลตฟอร์ม ด้วยการเปิดตัวกล่องรับสัญญาณดาวเทียม ซึ่งต่อมาได้เปลี่ยนชื่อเป็น จีเอ็มเอ็ม แซท ในภายหลัง โดย จีเอ็มเอ็ม แซทได้แสดงจุดยืนในการบอกต่อสาธารณะมาตลอดถึงลิขสิทธิ์การถ่ายทอดฟุตบอลยูโรจะเป็นเครื่องมือสำคัญในการขับเคลื่อนธุรกิจใหม่นี้ แต่พร้อมจะแบ่งปันคอนเทนต์เพื่อร่วมบริหารสิทธิ์ และลดต้นทุนที่จีเอ็มเอ็มต้องแบกรับ และมีความเชื่อมาโดยตลอดว่าการร่วมกัน แบ่งปันกันจะสร้างความมั่นคงให้ธุรกิจนี้เติบโตได้อย่างยั่งยืน และเปลี่ยนแนวคิดในลักษณะการซื้อแบบผูกขาด exclusive รวมทั้งการตั้งความหวังการรวมตัวเพื่อร่วมกันซื้อคอนเทนต์ระดับโลก เพื่อให้คนไทยทุกระดับได้รับชมเป็นวงกว้างในราคาที่ถูกลง
ทรูวิชั่นส์ คือพันธมิตรอันดับต้นๆ ที่จีเอ็มเอ็มให้ความสำคัญ เสนอไมตรีในการหารือความเป็นไปได้ทางธุรกิจในการร่วมบริหารสิทธิ์ช่องทางของทีวีดาวเทียมตั้งแต่ปลายปี 2554 เพราะเล็งเห็นว่ากลุ่มเป้าหมายของทรูวิชั่นส์ กับจีเอ็มเอ็ม แซท นั้นเป็นคนละกลุ่ม จึงมีความเป็นไปได้ในการแบ่งปันคอนเทนต์อย่างลงตัว จีเอ็มเอ็ม แซทได้เสนอแลกเปลี่ยนสิทธิ์ของฟุตบอลยูโร โดยเฉพาะในระบบ HD กับคอนเทนต์อื่นๆ ที่ทรูวิชั่นส์ถือสิทธิ์อยู่โดยไม่มีตัวเงินเข้ามาเกี่ยวข้อง และทุกครั้งในการเจรจา จีเอ็มเอ็มได้แสดงนโยบายชัดเจนในการเข้ารหัสสัญญาณผ่านดาวเทียม การถ่ายทอดฟุตบอลยูโรช่องฟรีทีวีที่มีการทวนสัญญาณ ทั้งซีแบนด์ และเคยูแบนด์ กล่องหรือแพลตฟอร์มใดที่ไม่ได้รับสิทธิ์จะพบสถานการณ์ “จอดำ” ไม่สามารถรับชมได้แน่นอน จึงไม่มีเหตุผลใดที่ทรูวิชั่นส์จะปฏิเสธการรับรู้ หรือเข้าใจเองว่าสามารถรับชมการถ่ายทอดฟุตบอลยูโรได้ตามแถลงการณ์ที่ออกมา
และด้วยนโยบาย Exclusive (การทำธุรกิจแบบผูกขาดทางด้านรายการ) ของทรูวิชั่นส์ การเจรจาแต่ละครั้งจึงไม่บรรลุข้อตกลง แม้ว่าจะมีความพยายามจากจีเอ็มเอ็ม แซท ในการเสนอรูปแบบธุรกิจอื่นๆ อีกหลายครั้งก็ตาม จึงเป็นความชัดเจนและสรุปได้ในที่สุดจากระยะเวลาที่ผ่านมาว่า ทรูวิชั่นส์ไม่สามารถดำเนินธุรกิจตามแนวทางใดที่จีเอ็มเอ็ม แซทนำเสนออย่างแน่นอน
ในเวลาต่อมา จีเอ็มเอ็ม แซทจึงเปิดเจรจากับพันธมิตรรายอื่น ซึ่งได้บรรลุข้อตกลงตามเงื่อนไขธุรกิจที่พึงพอใจทั้งสองฝ่ายในการรับชมฟุตบอลยูโร ทั้งช่องทางเคเบิลทีวี กับซีทีเอช และผู้ประกอบการเคเบิลท้องถิ่นทั่วประเทศ รวมทั้งแพลตฟอร์ม ดีทีวี ที่ยินดีร่วมมือทางธุรกิจในการถ่ายทอดฟุตบอลยูโรในระบบเอชดี (HD) รวมทั้งคอนเทนต์กีฬาเอชดีอีก 3 ช่องในมูลค่าหลายสิบล้านบาท โดยร่วมมือผลิตกล่องรับสัญญาณระบบเอชดี ภายใต้ชื่อ จีเอ็มเอ็ม แซท บาย ดีทีวี (GMM Z by DTV) แต่มีเงื่อนไขการร่วมธุรกิจด้วยการขอความเชื่อมั่น สำหรับการรับชมของฟุตบอลยูโร ในรุ่นมาตรฐานจะดูได้เฉพาะจีเอ็มเอ็ม แซท และรุ่นเอชดี เฉพาะจีเอ็มเอ็ม แซท บายดีทีวีเท่านั้น
การร่วมธุรกิจของดีทีวี ซึ่งมีแพลตฟอร์มระบบเคยูแบนด์เหมือนทรูวิชั่นส์ และมีฐานสมาชิกกว่า 1.3 ล้านครัวเรือน ก็เข้าใจในหลักการ “จอดำ” การถ่ายทอดฟุตบอลยูโรจากฟรีทีวี เพราะตระหนักดีในหลักการ rebroadcast ว่าเป็นคนละสิทธิ์กับฟรีทีวีภาคพื้นดิน ค่าสิทธิ์ที่ตกลงไว้สำหรับผู้ชมระบบเอชดีเท่านั้น ผู้ชมผ่านจานและกล่องดีทีวีรุ่นทั่วไป 1.3 ล้านครัวเรือน ก็ไม่สามารถรับชมการถ่ายทอดได้เช่นกัน
และแม้ว่าได้สิทธิ์ไปแล้ว ปรากฏการณ์ “จอดำ” จากช่องฟรีทีวีช่วงการถ่ายทอดสดบนแพลตฟอร์มพันธมิตรก็ไม่ใช่ข้อยกเว้น ทั้งจีเอ็มเอ็ม แซท และจีเอ็มเอ็ม แซท บาย ดีทีวี รวมถึงเคเบิลทีวี แพลตฟอร์มเหล่านี้ต้องหาช่องพิเศษรองรับการถ่ายทอดสัญญาณที่แยกออกมาจากสัญญาณช่องฟรีทีวี แม้ต้องมีค่าใช้จ่ายการเช่าช่องสัญญาณใหม่เพิ่มเติม แต่เป็นเรื่องที่ต้องยอมรับ เพราะเป็นความถูกต้องของกติกาการใช้ลิขสิทธิ์ที่ไม่สามารถทวนสัญญาณ หรือ Rebroadcast ได้
ซึ่งจะเห็นว่า ใครจะดูถ่ายทอดฟุตบอลยูโรในกล่องจีเอ็มเอ็ม แซท ต้องกดไปที่ช่อง 0, DTV HD ดูที่ช่อง 1 เคเบิลทีวี ก็ต้องหาช่องพิเศษรองรับสัญญาณ เพราะภาพของช่องฟรีทีวี ช่อง 3, 5, 9 ที่มีการถ่ายทอดสดในทุกกล่อง จะพบ “จอดำ” โดยไม่มีข้อยกเว้น หรือเลือกปฏิบัติแต่อย่างใด
จากการปฏิเสธของทรูวิชั่นส์ด้วยการมิได้ตอบรับข้อเสนอของจีเอ็มเอ็ม แซท แผนการตลาดของจีเอ็มเอ็ม แซทจึงประกาศสู่สาธารณะอย่างชัดเจนถึงช่องทางการรับชมฟุตบอลยูโร 2012 และระบุการรับชมผ่านทีวีดาวเทียมต้องผ่านกล่องรับสัญญาณของจีเอ็มเอ็ม แซท และจีเอ็มเอ็ม แซท บาย ดีทีวีเท่านั้น สองสัปดาห์ก่อนการแข่งขัน ทรูวิชั่นส์ได้ติดต่อเข้ามาเพื่อเจรจาขอสิทธิ์เผยแพร่สำหรับสมาชิก แลกกับคอนเทนต์ตามเงื่อนไขที่เคยเจรจากันไว้
แต่เมื่อเวลาเปลี่ยน สถานการณ์ย่อมเปลี่ยน แม้ใจมีไมตรี แต่จีเอ็มเอ็มไม่อยู่ในสถานะที่สามารถตอบตกลงกับทรูได้ เพราะจีเอ็มเอ็มได้มีข้อตกลงกับ DTV ที่จะร่วมเป็นพันธมิตรและได้จ่ายค่าลิขสิทธิ์ อีกทั้งการเจรจากับยูฟ่าที่ต้องใช้เวลา สิ่งสำคัญที่สุดคือคำมั่นสัญญาที่ประกาศไปในตลาด ทั้งลูกค้า ดีลเลอร์ และสังคม ที่ได้ประกาศไปแล้วว่าสามารถดูได้ผ่านกล่องจีเอ็มเอ็ม แซทแล้วเท่านั้น นี่ต่างหากที่จะทำให้จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ ถูกตั้งคำถามว่าทำธุรกิจด้วยการหลอกลวงผู้บริโภคและพาร์ตเนอร์หรือไม่?
จีเอ็มเอ็ม แซท เสนอทางออกให้ทรูด้วยรูปแบบการให้เช่ากล่อง แม้จะรู้ว่าทรูทำใจรับยาก แต่ในสถานการณ์ที่ไม่มีทางเลือก จึงเป็นข้อเสนอเดียวที่จะทำให้จีเอ็มเอ็ม แซทไม่ทำผิดสัญญากับพาร์ตเนอร์ และสามารถเดินธุรกิจกับทรูได้โดยไม่ต้องขอคำตอบจากยูฟ่า และสถานการณ์ก็บานปลายเมื่อทรูต้องตอบคำถามสมาชิกที่ไม่สามารถรับชมฟุตบอลยูโรผ่านแพลตฟอร์มของทรูได้จริงๆ ตามข่าวความขัดแย้งที่เกิดขึ้นตลอดสัปดาห์สุดท้ายก่อนการแข่งขัน จนถึงขั้นมีแถลงการณ์ขออภัยผู้ชมและแสดงความผิดหวังต่อการจำกัดสิทธิ์ของจีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ ผ่านทุกช่องทางของทุกสื่อที่ทรูมี เป็นการบิดเบือนข้อเท็จจริงต่อสังคมที่ทำให้จีเอ็มเอ็มจะต้องเป็นผู้รับผิดชอบในปัญหา
ทั้งที่ก่อนหน้านั้น ในวันศุกร์ที่ 8 มิถุนายนมีการเจรจาของผู้บริหารระดับสูงสุดของทั้งสองฝ่าย เพื่อพยายามหาทางออกให้กับความขัดแย้งครั้งนี้ ซึ่งผู้บริหารของจีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ ก็ตอบรับในการที่จะพยายามเจรจากับยูฟ่าอีกครั้ง แม้ว่าจะสามารถปฏิเสธด้วยความชอบธรรมก็ตามที โดยไม่มีเรื่องเงินหรือการแลกเปลี่ยนใดๆ เป็นเงื่อนไขในการเจรจา แต่เพื่อเป็นการยืนยันในไมตรีที่มีให้ทรูในฐานะคู่ค้า ทั้งๆ ที่รู้ว่าจะมีกระแสสังคมกดดันกลับมาที่จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่อย่างแน่นอน
จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ยืนยันจะใช้ความพยายามอย่างถึงที่สุด บนพื้นฐานที่ไม่กระทบต่อสิทธิประโยชน์ที่เหนือกว่าของพันธมิตร คู่ค้า และผู้บริโภคกล่องจีเอ็มเอ็ม แซท เพื่อลดความขัดแย้งครั้งนี้ โดยได้ส่งเรื่องให้ยูฟ่าแล้วตั้งแต่วันที่ 8 มิถุนายน
อย่างไรก็ตาม ในเวลานี้ทรูต้องยอมรับสถานการณ์ “จอดำ” ไม่มีกำหนด ซึ่งเป็นสถานการณ์ที่ทรูได้เลือกเองตั้งแต่ต้น จนกว่าจะได้คำตอบจากยูฟ่าในสัปดาห์นี้ และไม่ว่าผลสรุปจะออกมาเป็นเช่นใด จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่หวังเป็นอย่างยิ่งว่าทรูจะทำความเข้าใจกับสมาชิกอย่างตรงไปตรงมา และให้ความเคารพในเรื่องการบริหารลิขสิทธิ์ด้วยข้อเท็จจริง”