“สนพ.” พร้อมรับฟังความเห็นจากทุกส่วนเพื่อเสนอแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าปรับปรุงใหม่ต่อระดับนโยบาย ชี้หากรับตามแผนลดนิวเคลียร์และถ่านหินลงประชาชนต้องทำใจพึ่งก๊าซฯ เพิ่มขึ้นจะมีผลต่อค่าไฟฟ้าที่สูงขึ้นในอนาคต
นายสุเทพ เหลี่ยมศิริเจริญ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) เปิดเผยว่า วันที่ 5 มิถุนายนนี้ สนพ.เตรียมเปิดรับฟังความเห็นแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ. 2553-2573 หรือ PDP 2010 ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 3 ก่อนที่จะนำผลของความเห็นต่างๆ ประมวลในการนำเสนอให้ระดับนโยบายตัดสินใจ โดยยอมรับว่าผลพวงจากแผ่นดินไหวที่ญี่ปุ่นและการยอมรับจากประชาชนยังไม่มากพอทำให้ต้องลดการผลิตไฟฟ้าส่วนของนิวเคลียร์และถ่านหินลงมา และส่งผลให้ต้องพึ่งพาโรงไฟฟ้าที่ใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิงและพลังงานทดแทนเพิ่มขึ้น
“ก็ขึ้นอยู่กับประชาชนจะเลือกแนวทางใดเพราะได้ลดนิวเคลียร์และถ่านหินลงแล้ว ซึ่งข้อเท็จจริงก๊าซธรรมชาติมีราคาสูงเพราะอนาคตต้องนำเข้าในรูปของก๊าซธรรมชาติเหลวหรือแอลเอ็นจีมากขึ้น ขณะเดียวกัน การเพิ่มสัดส่วนพลังงานทดแทนก็ต้องยอมรับว่ามีต้นทุนค่าไฟที่สูงทำให้แนวโน้มค่าไฟฟ้าในอนาคตจะแพงขึ้นไปด้วย” นายสุเทพกล่าว
ทั้งนี้ ตามแผนพีดีพีที่ปรับปรุงใหม่ได้นำแผนอนุรักษ์พลังงานที่จะลดการใช้พลังงาน 25% และแผนการส่งเสริมพลังงานให้ได้ 25% ภายใน 10 ปีมาใส่ในแผนนี้แล้ว แต่การใช้ไฟฟ้าในช่วง 20 ปี หรือสิ้นสุดในแผนปี 2573 ยังคงเพิ่มขึ้นตามการประเมินอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ที่คาดว่าเศรษฐกิจจะขยายตัวเฉลี่ย 4.2% ต่อปี โดยส่วนหนึ่งมาจากนำนโยบายการก่อสร้างรถไฟฟ้า 12 เส้นทาง และประเมินการใช้รถไฟฟ้าส่วนบุคคลจะเป็นที่นิยมเพิ่มมากขึ้นมารวมไว้ในแผนแล้ว
นายสุเทพกล่าวว่า แผนพีดีพีที่ปรับปรุงใหม่จะมีการเปิดประมูลซื้อไฟฟ้าจากภาคเอกชนรายใหญ่ (IPP) 5,400 เมกะวัตต์ โดยจะเปิดเมื่อไหร่ หรือเชื้อเพลิงอะไรขึ้นอยู่กับนโยบายรัฐบาล โดยนิวเคลียร์ได้ลดสัดส่วนลงจาก 4 โรงเหลือ 2 โรง (2,000 เมกะวัตต์) ถ่านหินจาก 9 โรงเหลือ 4 โรง (4,400 เมกวะวัตต์) เป็นต้น