กรมโรงงานอุตสาหกรรมเตรียมนำรูปแบบของการพัฒนาอุตสาหกรรมเชิงนิเวศเมืองโอซากา ประเทศญี่ปุ่น หรือ The Osaka Eco-Town Plan มาใช้กับไทย “เมติ” พร้อมสนับสนุนส่งผู้เชี่ยวชาญจัดทำแผนแม่บทนำร่อง เล็งจังหวัดที่มีปัญหาสิ่งแวดล้อมสูงเช่น “สมุทรปราการ” ขณะที่ญี่ปุ่นแนะไทยต้องใช้กฎหมายเคร่งครัดควบคู่ส่งเสริมการเกิดโรงงานรีไซเคิลของเอกชน
นายอาทิตย์ วุฒิคะโร อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) รักษาการรองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆ นี้ได้นำคณะเจ้าหน้าที่จาก กรอ.เดินทางไปญี่ปุ่นในการหารือเพื่อขยายความร่วมมือการพัฒนาอุตสาหกรรมเชิงนิเวศในไทยกับนาย NAGAO MASAHIKO อธิบดีสำนักงานเศรษฐกิจการค้าและอุตสาหกรรม แคว้นคันไซ กระทรวงเศรษฐกิจการค้าและอุตสาหกรรมแห่งประเทศญี่ปุ่น (เมติ) และนาย ORIYAMA MAISUTOSHI ผู้อำนวยการกองความร่วมมือด้านเทคนิควิชาการเพื่อขอสนับสนุนผู้เชี่ยวชาญมาจัดทำแผนปฏิบัติการนำร่องพัฒนาอุตสาหกรรมเชิงนิเวศในพื้นที่ซึ่งมีปัญหาสิ่งแวดล้อมสูง เช่น จ.สมุทรปราการ จ.สมุทรสาคร ฯลฯ
“แผนแม่บทนี้จะนำมาปรับใช้กรณีเดียวกับที่ญี่ปุ่นเคยประสบปัญหามลภาวะมาแล้วในเมืองโอซากา จนรัฐบาลนำไปสู่การวางแผนด้วยการจัดทำ The Osaka Eco-Town Plan ขึ้น เราจึงมองแนวทางนี้ที่จะนำมาปรับใช้กับไทย เช่น สมุทรปราการอีโคทาวน์แพลน ที่ขณะนี้มีสภาพแวดล้อมที่เป็นปัญหาเช่นเดียวกับครั้งหนึ่งที่เกิดแก่โอซากา เพื่อที่จะเป็นพื้นที่นำร่องสำหรับจังหวัดอื่นๆ ต่อไป โดยแผนแม่บทจะครอบคลุม 5 มิติ คือ ด้านกายภาพ สิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจ สังคม และการบริหารจัดการ ซึ่งจะประกอบด้วยแผนปฏิบัติระยะสั้น กลาง และยาวที่ชัดเจน โดยทางเมติได้ตอบรับข้อเสนอดังกล่าวแล้วหลังจากนั้นจะมาหารือในรายละเอียดร่วมกัน” นายอาทิตย์กล่าว
นอกจากนี้ยังได้หารือถึงแผนขยายความร่วมมือในการพัฒนาศูนย์บริหารการจัดการของเสียระยะที่ 2 ณ นิคมอุตสาหกรรมอมตะนคร จังหวัดชลบุรี โดยอธิบดี NAGAO MASAHIKO จะเดินทางมาลงนามบันทึกความร่วมมือกับกรมโรงงานอุตสาหกรรม การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) และนิคมอุตสาหกรรมอมตะนคร ประมาณวันที่ 6 หรือ 7 มิถุนายน 2555
นายมาซาโตชิ ทานากะ ประธานบริษัทรีมาเทค (Rematec) ซึ่งเป็นบริษัทกำจัดกากอุตสาหกรรม รีไซเคิลแบบครบวงจรภายใต้แผน The Osaka Eco-Town Plan กล่าวว่า ปี 2002 เกิดปัญหาการกำจัดขยะอุตสาหกรรมที่ไม่เป็นไปตามกฎหมายกำหนดจำนวนมาก จึงส่งผลให้ประชาชนญี่ปุ่นต่อต้านการเกิดโรงงานกำจัดขยะ ขณะเดียวกันพื้นที่ฝังกลบที่เมืองซาไกเต็ม รัฐบาลกลางจึงกำหนดแผนแม่บทเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศขึ้น และเริ่มที่โอซากาด้วยการเปิดรับสมัครโรงงานรีไซเคิลนำร่องที่เป็นเทคโนโลยีชั้นสูงให้เอกชนเข้ามาแข่ง ซึ่งที่สุดรับคัดเลือก 13 รายจากที่เสนอ 32 ราย และพิจารณาเหลือ 7 รายนำร่องเป็นโครงการสาธิตโดยเน้นเทคโนโลยีทันสมัย รองรับเอสเอ็มอีจำนวนมากในราคาที่เป็นธรรมและตอบโจทย์ภาวะโลกร้อน โดยโรงงานทยอยเสร็จในปี 2005
“ขณะนี้มีโรงงานรีไซเคิลกว่า 4,000 แห่งในโอซากา และประชาชนลดการต่อต้านเพราะรัฐและเอกชนต้องแสดงความจริงใจในการดูแลสิ่งแวดล้อมให้เห็น และแน่นอนว่ากฎระเบียบต้องเข้มงวดด้วย เมื่อไม่มีการทิ้งขยะ และนำกลับมาใช้มากสุดท้ายประชาชนก็จะรับได้ ซึ่งการกำจัดขยะในไทยนั้นไทยไม่มีโรงถลุงเหล็กก็ควรใช้โรงปูนซีเมนต์ที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด” นายมาซาโตชิกล่าว