xs
xsm
sm
md
lg

กฟผ.เผยระบายน้ำในหน้าแล้งได้ตามแผน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


กฟผ.บริหารจัดการน้ำในเขื่อนทุกแห่งของ กฟผ.ได้ตามเป้าหมาย หลังระบายน้ำเพื่อพื้นที่เพาะปลูกพืชฤดูแล้งสิ้นสุดเมื่อ 30 เมษายน 55 ที่ผ่านมา โดยช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมามีฝนหนักถึงหนักมากหลายพื้นที่ โดยเฉพาะภาคเหนือ ส่งผลให้มีปริมาณน้ำไหลเข้าเขื่อนภูมิพล-สิริกิติ์เพิ่มขึ้น พร้อมเผยมีความพร้อมเต็มที่เพื่อรับสถานการณ์น้ำช่วงฤดูฝนที่จะมาถึง

นายกิตติ ตันเจริญ ผู้ช่วยผู้ว่าการโรงไฟฟ้าพลังน้ำ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เปิดเผยว่า สถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำ กฟผ. ปัจจุบัน (9 พฤษภาคม 2555 เวลา 24.00 น.) มีปริมาณน้ำในอ่างฯ กฟผ. ทั้งหมดร้อยละ 57 ของความจุ หรือ 35,285 ล้าน ลบ.ม. มากกว่าปีที่แล้วในช่วงเวลาเดียวกันร้อยละ 4 หรือ 1,386 ล้าน ลบ.ม.โดยอ่างเก็บน้ำในภาคเหนือ (เขื่อนภูมิพล และเขื่อนสิริกิติ์) มีปริมาณน้ำในอ่างฯ ร้อยละ 49 หรือ 11,290 ล้าน ลบ.ม.มากกว่าปีที่แล้วร้อยละ 3 หรือ 287 ล้าน ลบ.ม. อ่างเก็บน้ำในภาคตะวันตก (เขื่อนศรีนครินทร์ เขื่อนท่าทุ่งนา และเขื่อนวชิราลงกรณ์) มีปริมาณน้ำในอ่างฯ ร้อยละ 65 หรือ 17,320 ล้าน ลบ.ม. มากกว่าปีที่แล้วร้อยละ 10 หรือ 1,519 ล้าน ลบ.ม. อ่างเก็บน้ำในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (เขื่อนอุบลรัตน์ เขื่อนสิรินธร เขื่อนน้ำพุง เขื่อนจุฬาภรณ์ และเขื่อนห้วยกุ่ม)มีปริมาณน้ำในอ่างฯ ร้อยละ 42 หรือ 1,973 ล้าน ลบ.ม. น้อยกว่าปีที่แล้วร้อยละ 8 หรือ -168 ล้าน ลบ.ม. และอ่างเก็บน้ำในภาคใต้ (เขื่อนรัชชประภา และเขื่อนบางลาง) มีปริมาณน้ำในอ่างฯ ร้อยละ 67 หรือ 4,719 ล้าน ลบ.ม. น้อยกว่าปีที่แล้วร้อยละ 5 หรือ -252 ล้าน ลบ.ม.

ผู้ช่วยผู้ว่าการโรงไฟฟ้าพลังน้ำกล่าวต่อไปว่า เขื่อน กฟผ.เกือบทุกแห่งได้สิ้นสุดการระบายน้ำเพื่อพื้นที่เพาะปลูกพืชฤดูแล้งแล้วเมื่อวันที่ 30 เมษายน 2555 ที่ผ่านมา คงเหลือแต่เขื่อนศรีนครินทร์และเขื่อนวชิราลงกรณ์ที่ยังคงระบายน้ำเพื่อโครงการชลประทานแม่กลองใหญ่ ซึ่งจะสิ้นสุดในเดือนมิถุนายน 2555 โดยเขื่อน กฟผ.ทุกแห่งสามารถระบายน้ำได้ตามเป้าหมาย สำหรับอ่างเก็บน้ำเขื่อนภูมิพล และเขื่อนสิริกิติ์ระบายน้ำในช่วงฤดูแล้ง (ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2554 จนถึงสิ้นสุดเมษายน 2555) ไปทั้งสิ้น 7,679 ล้าน ลบ.ม. และ 5,598 ล้าน ลบ.ม. ตามลำดับ รวมปริมาณน้ำที่ระบายจากเขื่อนทั้งสอง 13,276 ล้าน ลบ.ม. นับว่าเป็นการระบายน้ำมากที่สุดเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านๆ มา ทั้งนี้ เนื่องจากช่วงต้นฤดูแล้งเขื่อนทั้งสองมีปริมาณน้ำต้นทุนที่สูงมาก คณะทำงานวางแผนเพื่อการเพาะปลูกพืชฤดูแล้ง และคณะอนุกรรมการติดตามและวิเคราะห์แนวโน้มสถานการณ์น้ำ จึงวางแผนการใช้น้ำจากเขื่อนทั้งสองเพื่อประโยชน์ด้านต่างๆ อย่างเต็มที่

ปัจจุบัน (9 พฤษภาคม 2555 เวลา 24.00 น.) เขื่อนภูมิพลมีปริมาตรน้ำร้อยละ 48 หรือ 6,462 ล้าน ลบ.ม.เป็นปริมาณน้ำใช้งานได้ 2,662 ล้าน ลบ.ม. มีช่องว่างรับน้ำได้อีก 7,000 ล้าน ลบ.ม. โดยช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาลมตะวันตกเฉียงใต้กำลังแรงพัดปกคลุมภาคใต้และอ่าวไทย และมีหย่อมความกดอากาศต่ำบริเวณอ่าวมะตะบันที่เคลื่อนเข้าปกคลุมด้านตะวันตกของประเทศไทย ทำให้ประเทศไทยมีฝนเพิ่มขึ้นกับมีฝนหนักถึงหนักมากหลายพื้นที่ โดยเฉพาะที่ภาคเหนือ ส่งผลให้มีปริมาณน้ำไหลเข้าเขื่อนภูมิพลเพิ่มขึ้นตั้งแต่วันที่ 6 พฤษภาคมเป็นต้นมา คิดเป็นปริมาณน้ำไหลเข้าเขื่อนเฉลี่ยวันละ 30 ล้าน ลบ.ม.

ขณะที่มีการระบายน้ำวันละ 40-50 ล้าน ลบ.ม. เพื่อการใช้น้ำในกิจกรรมต่างๆ เขื่อนสิริกิติ์มีปริมาตรน้ำร้อยละ 51 หรือ 4,828 ล้าน ลบ.ม. มีปริมาณน้ำใช้งานได้ 1,978 ล้าน ลบ.ม. มีช่องว่างรับน้ำได้อีก 4,682 ล้าน ลบ.ม. เขื่อนสิริกิติ์มีปริมาณน้ำไหลเข้าเขื่อนเพิ่มขึ้นตั้งแต่วันที่ 6 พฤษภาคมเช่นเดียวกัน คิดเป็นปริมาณน้ำไหลเข้าเขื่อนเฉลี่ยวันละ 25 ล้าน ลบ.ม. ขณะที่มีการระบายน้ำวันละ 25-30 ล้าน ลบ.ม. เพื่อการใช้น้ำในกิจกรรมต่างๆ รวมปริมาณน้ำใช้งานได้ของทั้งสองเขื่อน ณ ปัจจุบัน 4,640 ล้าน ลบ.ม. ซึ่งเพียงพอที่จะระบายเพื่อการทำนาปีในลุ่มน้ำเจ้าพระยาที่มีความต้องการใช้น้ำจากเขื่อนทั้งสองในช่วงเดือนพฤษภาคมถึงเดือนสิงหาคม 2555 ราว 3,700 ล้าน ลบ.ม. และมีช่องว่างสำหรับรับน้ำในฤดูฝนรวมกัน 11,862 ล้าน ลบ.ม.

นายกิตติกล่าวถึงความพร้อมในการรับสถานการณ์น้ำช่วงฤดูฝนที่กำลังจะมาถึงว่า ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้มีการเตรียมความพร้อมในส่วนที่รับผิดชอบเป็นอย่างดี โดยเมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม 2555 ที่ผ่านมา คณะอนุกรรมการติดตามและวิเคราะห์แนวโน้มสถานการณ์น้ำได้ประชุมเพื่อสรุปผลการดำเนินงานช่วงฤดูแล้ง พร้อมทั้งวางแผนการระบายน้ำจากเขื่อนภูมิพล และเขื่อนสิริกิติ์ในช่วงฤดูฝน ให้สอดคล้องกับแนวโน้มสภาพอากาศ และความต้องการใช้น้ำเพื่อการทำนาปีในลุ่มน้ำเจ้าพระยา ซึ่งจะเกิดประโยชน์ต่อเกษตรกรโดยตรง ในขณะเดียวกันจะทำให้เขื่อนทั้งสองมีช่องว่างสำหรับรับน้ำในช่วงน้ำหลากมากขึ้นด้วย

ผู้ช่วยผู้ว่าการโรงไฟฟ้าพลังน้ำกล่าวเพิ่มเติมว่า การบริหารจัดการน้ำในลุ่มน้ำเจ้าพระยา ซึ่งมีเขื่อนขนาดใหญ่ของ กฟผ. 2 แห่ง และเขื่อนของกรมชลประทาน 4 แห่ง มีการบริหารจัดการอย่างรอบคอบตั้งแต่การวางแผนการระบายน้ำช่วงฤดูแล้ง เพื่อให้มีความพร้อมรับสถานการณ์น้ำช่วงฤดูฝน จึงมั่นใจว่าการบริหารจัดการน้ำเขื่อนภูมิพลและเขื่อนสิริกิติ์ช่วงฤดูฝนปี 2555 นี้จะเป็นไปอย่างมีประสิทฺธิภาพและเกิดประโยชน์สูงสุดในด้านการป้องกันและบรรเทาอุทกภัยและการป้องกันภัยแล้งอย่างสมดุล พร้อมกันนี้ กฟผ.จะติดตามและเฝ้าระวังสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด โดยจะมีการประชุมร่วมกับคณะอนุกรรมการติดตามและวิเคราะห์แนวโน้มสถานการณ์น้ำในช่วงฤดูฝนนี้ทุกสัปดาห์

ทั้งนี้ จากการติดตามสถานการณ์ภัยแล้งที่ประกาศโดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย มีพื้นที่ประสบภัยแล้งใน 51 จังหวัด แบ่งเป็นภาคเหนือ 17 จังหวัด ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 19 จังหวัด ภาคกลาง 7 จังหวัด ภาคตะวันออก 7 จังหวัด และภาคใต้ 1 จังหวัด สำหรับพื้นที่บริเวณรอบเขตเขื่อนของ กฟผ.ที่ประสบภัยแล้งนั้น กฟผ.ได้จัดเตรียมรถบรรทุกน้ำไว้คอยให้บริการประชาชนเพื่อการอุปโภค-บริโภคเช่นทุกปีที่ผ่านมา โดยตั้งแต่เดือนมกราคมถึงเดือนเมษายน 2555 ให้บริการน้ำเพื่อการอุปโภค-บริโภคไปแล้วกว่า 20 ล้านลิตร
กำลังโหลดความคิดเห็น