xs
xsm
sm
md
lg

“ยรรยง” ท้าชนทุกฝ่ายตรวจสอบเงินเฟ้อ ยืนยันไม่ได้ตกแต่งตัวเลข

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

“ยรรยง”ยืนยันไม่ได้ตกแต่งตัวเลขเงินเฟ้อ ท้าชนทุกฝ่าย ทั้งหน่วยงานและฝ่ายค้านให้เข้ามาตรวจสอบ ส่วนดัชนีเชื่อมั่นผู้บริโภค เม.ย.เพิ่มเป็น 24.3 เหตุขึ้นค่าแรง 300 ใช้จ่ายสงกรานต์ช่วยหนุน
นายยรรยง พวงราช ปลัดกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยถึงการเรียกร้องให้กระทรวงพาณิชย์ชี้แจงตัวเลขเงินเฟ้อเดือนเม.ย.2555 ที่ปรับลดลงเหลือ 2.47% โดยลดลงจากเดือนมี.ค.2555 ที่อยู่สูงถึง 3.45% หรือลดลงเกือบ 1% ว่า ไม่มีทางที่จะตกแต่งตัวเลขเงินเฟ้อได้ เพราะถ้าตกแต่งก็ต้องตกแต่งไปตลอด เพื่อให้ตัวเลขสอดคล้องกัน และในทางเทคนิคเป็นไปไม่ได้
ทั้งนี้ ยืนยันว่า รายการสินค้าที่กระทรวงพาณิชย์ไปสำรวจมาเพื่อจัดทำเงินเฟ้อนั้น เชื่อถือได้ เพราะทำมานานถึง 50 ปีแล้ว หน่วยงานรัฐหลายหน่วยงาน ทั้งธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) สำนักงานคณะกรรมการสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และกระทรวงการคลัง ก็ได้นำข้อมูลไปใช้ หน่วยงานเหล่านี้ก็เป็นผู้ตรวจสอบซ้ำอีกทีด้วย
“ขอท้าว่า หากหน่วยงานไหน หรือแม้กระทั่งฝ่ายค้าน ถ้าเห็นว่าข้อมูลเงินเฟ้อของกระทรวงพาณิชย์ไม่ถูกต้อง หรือบิดเบือน ก็ให้หาข้อมูลมาเปรียบเทียบกัน และยืนยันว่า ราคาสินค้าในเดือนเม.ย.ปีนี้ เมื่อเทียบกับเม.ย.ปีที่แล้ว ที่เป็นอีกรัฐบาลหนึ่ง ราคาตอนนี้ถูกกว่าอย่างเห็นได้ชัด ทั้งเนื้อสัตว์ ไข่ไก่ และผัก”นายยรรยงกล่าว
ส่วนกรณีที่มีหลายฝ่ายตั้งคำถาม ทำไมรมว.พาณิชย์ ถึงไม่มาชี้แจงเงินเฟ้อด้วยตัวเอง เพราะรมว.พาณิชย์จะรู้ตัวเลขเงินเฟ้อหลังจากที่มีการแถลงข่าวไปแล้ว เพื่อป้องกันการแทรกแซงจากการเมือง เนื่องจากในอดีตเคยมีความพยายามจะแทรกแซงเงินเฟ้อเพื่อหวังผลในทางการเมืองมาแล้ว แต่ปัจจุบันทำไม่ได้
นายยรรยงกล่าวอีกว่า จากการสำรวจประชาชน 3,244 ตัวอย่างทั่วประเทศ เกี่ยวกับความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนเม.ย. 2555 พบว่าดัชนีความเชื่อมั่นโดยรวมเท่ากับ 24.3 เพิ่มขึ้นจากเดือนมี.ค.ที่ 23.0 ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นในปัจจุบันเท่ากับ 15.6 เพิ่มขึ้นจาก 14.4 และดัชนีความเชื่อมั่นในอนาคตเท่ากับ 30.0 เพิ่มขึ้นจาก 28.8
ปัจจัยที่ส่งผลให้ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคปรับตัวสูงขึ้น เป็นผลมาจากการปรับขึ้นค่าแรงงานขั้นต่ำ 300 บาท/วัน ใน 7 จังหวัด ที่มีผลตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย. ที่ผ่านมา รวมทั้งการจับจ่ายใช้สอยในช่วงเทศกาลสงกรานต์ ซึ่งมีวันหยุดยาว ทำให้มีเงินสะพัดเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจมากขึ้น อีกทั้งคณะกรรมการนโยบายและมาตรการช่วยเหลือเกษตรกร (คชก.) อนุมัติงบประมาณ 2,000 ล้านบาท เพื่อแก้ไขปัญหาสินค้าเกษตรตกต่ำ และภาคอุตสาหกรรมสามารถกลับมาผลิตสินค้าได้ใกล้เคียงกับระดับก่อนที่เกิดเหตุการณ์น้ำท่วมได้เกือบทุกหมวด ส่งผลให้การจ้างงานในภาคอุตสาหกรรมขยายตัวเพิ่มขึ้น
ขณะที่ปัจจัยลบในเดือนเม.ย. คือ ราคาสินค้าปรับตัวสูงขึ้น และหลายพื้นที่ประสบภัยแล้ง ฝนทิ้งช่วง และทุกภาคในหลายพื้นที่ 50 จังหวัด สภาพอากาศร้อนจัด ทำให้ผลผลิตภาคการเกษตรเสียหาย ออกสู่ตลาดได้น้อยลง รายได้ของเกษตรกรจึงลดลง แต่เมื่อเทียบกับปัจจัยบวกที่มีมากกว่า ทำให้ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคจึงกระเตื้องขึ้นมา
กำลังโหลดความคิดเห็น