xs
xsm
sm
md
lg

รถร่วมฯ ขสมก.ยื่น “คมนาคม” ทบทวนค่าโดยสาร ขีดเส้นขอขึ้น 15 พ.ค.ด้วย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

จากเเฟ้มภาพ
รถร่วมฯ ขสมก.บุก “คมนาคม” 27 เมษายนนี้ จี้ “จารุพงศ์-ชัชชาติ” ทบทวนปรับค่าโดยสารขอขึ้น 16 พฤษภาคมพร้อมรถสาธารณะอื่น ยันได้รับผลกระทบต้นทุนก๊าซ NGV แถมถูกค่าแรงซ้ำอีก เผยไม่ชัดเจนพร้อมใจหยุดวิ่งแน่

นายวิทยา เปรมจิตร์ นายกสมาคมพัฒนารถร่วมบริการเอกชนหรือรถร่วมบริการองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) เปิดเผยว่า ในวันที่ 27 เมษายนนี้ผู้ประกอบการรถร่วมฯ ขสมก.ทั้ง 3 สมาคม คือ สมาคมพัฒนารถร่วมบริการเอกชน, สมาคมผู้ประกอบการรถโดยสารประจำทาง และสมาคมรถมินิบัส จะเข้าพบนายจารุพงศ์ เรืองสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม และนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เพื่อยื่นหนังสือขอให้กระทรวงคมนาคมทบทวนการพิจารณาปรับค่าโดยสารโดยขอปรับขึ้น 1 บาทในวันที่ 15 พฤษภาคมนี้พร้อมกับรถโดยสารสาธารณะอื่นๆ ซึ่งขณะนี้ผู้ประกอบการไม่ได้มีต้นทุนเพิ่มเพียงค่าก๊าซ NGV ที่ปรับขึ้นเท่านั้น แต่มีต้นทุนเพิ่มจากการปรับค่าแรงเป็น 300 บาท ค่าอะไหล่ ค่าซ่อมบำรุงรถใช้ก๊าซ NGV ที่สูงกว่ารถดีเซล  

“หากไม่มีความชัดเจนผู้ประกอบการจะหยุดเดินรถในวันที่ 16 พฤษภาคมนี้แน่นอน เพราะแบกรับต้นทุนต่อไปไม่ไหว ซึ่งผู้ประกอบการขอปรับขึ้นอีก 2 บาท และกระทรวงรับปากว่าวันที่ 25 เมษายนนี้จะจบ แต่เมื่อยังไม่สามารถให้ปรับขึ้นตามที่ขอไปได้ ก็น่าจะให้ปรับ 1 บาทก่อนเพื่อลดผลกระทบที่เกิดขึ้น โดยจำนวนรถร่วมฯ มีประมาณ 5,000 คัน”นายวิทยากล่าว

นางภัทรวดี กล่อมจรูญ นายกสมาคมผู้ประกอบการรถโดยสารประจำทาง  กล่าวว่า ผู้ประกอบการเดือดร้อนมากเพราะแม้รัฐจะช่วยอุ้มราคาก๊าซ NGV ที่ 8.50 บาทต่อกิโลกรัมให้แล้วแต่ก็ไม่ได้ราคาดังกล่าวตลอด เนื่องจากมีปัญหาจำนวนปั๊มมีน้อย เครื่องขัดข้องหัวจ่ายไม่สามารถเติมในราคา 8.50 บาทต่อกิโลกรัมได้ ก็ต้องเติมในราคาปกติคือ 10.50 บาทต่อกิโลกรัม ส่วนค่าแรง 300 บาททำให้มีต้นทุนเพิ่มอีก 40% นอกจากนี้ ค่าอะไหล่ น้ำมันเครื่อง ที่ปรับขึ้นตามราคาน้ำมันดีเซลด้วย การที่รัฐเอาต้นทุนการให้บริการของเอกชนไปผูกกับรถโดยสารขององค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) ถือเป็นเรื่องไม่ถูกต้อง เพราะ ขสมก.ได้รับการอุดหนุนจากภาครัฐ แต่เอกชนไม่ได้รับซึ่งรัฐควรให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการด้วยเพราะเป็นการส่งเสริมให้ใช้รถสาธารณะมากขึ้นเพื่อลดการใช้รถส่วนตัว

นายฉัตรชัย ภู่อารีย์ ประธานชมรมผู้ประกอบการรถโดยสารประจำทางหมวด 4 เอกชนกรุงเทพฯ (รถสองแถว)กล่าวว่า  ได้ขอปรับค่าโดยสารขึ้นเป็น 8 บาท แต่เมื่อมติคณะกรรมการขนส่งทางบกกลางปรับขึ้นเป็น 7 บาท จากปัจจุบัน 5.50 บาทก็พอรับได้  เพื่อไม่ให้กระทบต่อประชาชนผู้ใช้บริการมากเกินไป ส่วนกรณีที่ให้ปรับเพิ่มราคาในช่วง 22.00-05.00 น. เป็น 9 บาท ถือว่าเป็นอัตราที่น้อยมากเมื่อเปรียบเทียบกับจำนวนผู้ใช้บริการที่มีอยู่น้อยประมาณ 3-4 คนต่อเที่ยว และต้องวิ่งในระยะทางไกล แต่ก็ถือเป็นเรื่องดีที่กำหนดให้เป็นมาตรฐาน เพราะปัจจุบันไม่มีมาตรฐานการจัดเก็บค่าโดยสารในช่วงดังกล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น