xs
xsm
sm
md
lg

“วัน” นำแม่ค้าบางแคร้องย้ายสถานีรถไฟฟ้า

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ผู้ค้าตลาดบางแคเรียกร้องรฟม.ย้ายจุดก่อสร้างสถานีรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินช่วงหัวลำโพง-บางแค
วันนี้ (24 เม.ย.) เวลาประมาณ 10.30 น. นายวัน อยู่บำรุง ที่ปรึกษารัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ได้นำกลุ่มผู้ค้าตลาดบางแคประมาณ 50 คนเข้าพบ นายประภัสร์ จงสงวน ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงคมนาคม เพื่อร้องเรียนให้การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ย้ายที่ตั้งสถานีรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินช่วงหัวลำโพง-บางแค บริเวณหน้าตลาดบางแค โดยนายชอุ่ม ฤทธิ์สำอาง ตัวแทนผู้ค้าตลาดบางแค กล่าวว่า การที่ รฟม.กำหนดจุดตั้งสถานีดังกล่าวทำให้ผู้ค้าตลาดบางแคบริเวณจุดผ่อนผันกว่า 700 รายได้รับความเดือดร้อนอย่างมาก จึงต้องการให้ย้ายมาก จากการที่ รฟม.กำหนดจุดตั้งสถานีไปอยู่บริเวณหน้าห้างเทสโก้โลตัสซึ่งมีพื้นที่ว่างและอยู่ห่างไปอีกเล็กน้อย โดยเมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2555 ผู้ค้าได้เคยยื่นหนังสือร้องเรียนนายจารุพงศ์ เรืองสุวรรณ รมว.คมนาคมแล้ว

อนึ่ง ผู้ค้าเชื่อว่าการที่กำหนดสถานีในจุดดังกล่าวมีผลประโยชน์แอบแฝงเนื่องจากมีกลุ่มนายทุนและนักการเมืองกำลังร่วมกันพัฒนาคอนโดมิเนียมและทำตลาดบนพื้นที่ 9 ไร่เศษที่อยู่ฝั่งตรงข้ามตลาดบางแคจึงต้องการให้มีสถานีรถไฟฟ้าอยู่ใกล้ๆ ซึ่งผู้ค้าเกรงว่านอกจากจะได้รับความเดือดร้อนระหว่างการก่อสร้าง 3 ปีจากไม่มีที่ขายของแล้ว หลังจากรถไฟฟ้าก่อสร้างเสร็จจะมีการยุบตลาดจนไม่มีที่ทำกินต่อไปในที่สุด

“ข้อสงสัยคือ สถานีตรงตลาดบางแคอยู่ห่างจากอีกสถานีเพียง 800 เมตร หรือแค่ 2 ป้ายรถเมล์เท่านั้น และอีกไม่ไกลก็คือโลตัส ซึ่งต้องการให้สถานีไปตั้งด้านหน้าทำไมไม่ไปสร้างตรงนั้น อยู่ตรงนี้ผู้ค้าเดือดร้อนจำนวนมาก”

ด้านนายประภัสร์ จงสงวน ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า จะประสานกับ รฟม.เพื่อให้ผู้ค้าได้เข้าไปหารือข้อเท็จจริงและปัญหาที่เกิดขึ้นภายในสัปดาห์หน้า และเชื่อว่าจะได้ข้อยุติ เพราะการก่อสร้างโครงการของหน่วยงานรัฐจะต้องให้ประชาชนได้รับผลกระทบน้อยที่สุด ส่วนสถานีหากมีปัญหาสามารถปรับแบบใหม่ได้ โดยแนวรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินจะใช้พื้นที่ส่วนใหญ่บนเกาะกลางถนน ใช้พื้นที่ฟุตปาธเป็นทางขึ้นลงสถานีเท่านั้น และแต่ละสถานีจะห่างกันประมาณ 800 เมตร-1 กิโลเมตร โดยในระหว่างก่อสร้างจะต้องช่วยหาพื้นที่ค้าขายทดแทนด้วย ส่วนกรณีการยุบตลาดนั้นเป็นเรื่องของเขตและกรุงเทพมหานคร (กทม.) ไม่เกี่ยวกับ รฟม.

อย่างไรก็ตาม การก่อสร้างรถไฟฟ้าที่ผ่านมาจะมีทั้งคนที่ได้ประโยชน์และเสียประโยชน์ ดังนั้นต้องฟังความเห็นของทุกฝ่าย โดยเฉพาะช่วงก่อสร้างสามารถพูดคุยกันได้เพื่อลดผลกระทบ เช่น การหาพื้นที่ค้าขายให้ผู้ค้าไม่ให้เดือดร้อน นอกจากนี้ ยังต้องมีการเข้มงวดกับผู้รับเหมาในการติดตั้งป้ายสัญญาณเตือนต่างๆ เพื่อความปลอดภัยในการใช้รถใช้ถนนในพื้นที่ก่อสร้างอีกด้วย
กำลังโหลดความคิดเห็น