xs
xsm
sm
md
lg

“ทีดีอาร์ไอ” ชี้ต้นตอปัญหาอุปทานแรงงานส่วนเกิน โตไม่สอดรับภาคการผลิตและบริการ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


“ทีดีอาร์ไอ” ชี้ต้นตอปัญหา “แรงงาน” ไม่สอดรับภาคการผลิต-บริการ เผยผลสำรวจ ประชาชนมุ่งเรียนต่อ “ป.ตรี-ปวส.” หวังได้ค่าตอบแทนเพิ่ม และอนาคตที่มั่นคงกว่า แต่กลับมีแรงงานส่วนเกินจำนวนกว่า 1 แสนราย เพราะมีการขยาย ม.เอกชน และการปรับสถานะ วค. เป็น ม.ราชภัฏ

นายยงยุทธ แฉล้มวงษ์ ผู้อำนวยการวิจัยด้านการพัฒนาแรงงาน สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวถึงการศึกษาการเปลี่ยนแปลงของตลาดแรงงาน (ความต้องการกำลังคน) และนโยบายการศึกษา โดยพบว่าผู้จบการศึกษาระดับอาชีวศึกษาและอุดมศึกษาในอนาคต ต้องมีสมรรถนะหรือคุณภาพสูงเท่านั้นจึงจะเอาตัวรอดได้

ทั้งนี้ ผลการศึกษายังพบว่าตลาดแรงงานของไทยโดยเฉพาะด้านอุปสงค์มีความผันผวนเหมือนเศรษฐกิจ ทั้งนี้ หลังจากปี 2533 เป็นต้นมาภาคอุตสาหกรรมได้ปรับเปลี่ยนมาเป็นการผลิตแบบกึ่งเทคโนโลยีมากขึ้น เช่น กลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วน อุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งมีการเติบโตอย่างรวดเร็ว ประกอบกับรัฐบาลมีนโยบายขยายโอกาสทางการศึกษาให้เรียนฟรีจาก 9 ปี เป็น 12 ปี ทำให้มีผู้เข้าเรียนระดับมัธยมศึกษาตอนปลายมากขึ้น และกลายเป็นกำลังแรงงานให้ภาคการผลิตและบริการได้ขยายตัวถึงร้อยละ 8 ต่อปี

นายยงยุทธกล่าวว่า ความจริงควรจะมีผู้จบการศึกษาระดับกลางสายสามัญและสายอาชีพเข้าสู่ตลาดแรงงานมากกว่านี้ แต่ผู้เรียนทั้งสองกลุ่มกลับมุ่งเรียนต่อปริญญาตรี และประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) โดยคิดว่าจะได้ค่าตอบแทนและอนาคตที่สดใส มั่นคงกว่า แต่สภาพเป็นจริงอุปสงค์ของตลาดแรงงานภาคการผลิตและบริการยังไม่สามารถขยายตัวได้ทันการเพิ่มขึ้นของผู้จบการศึกษาทั้ง 2 กลุ่มนี้ได้

“ถึงแม้ในปี 2553 การขยายตัวของภาคการผลิตและบริการสามารถจ้างงาน 2 กลุ่มนี้เพิ่มขึ้นสัดส่วนถึงร้อยละ 9.9 และ 5.7 ตามลำดับ ผลตามมาคือ เกิดการว่างงานทั้งในระดับ ปวส. และปริญญาตรี กระจายอยู่ทั่วประเทศ”

นอกจากนี้ ปัญหาที่สะสมจากการใช้นโยบายการขยายสถานศึกษาในระดับอุดมศึกษา ทั้งของภาคเอกชน และยกระดับวิทยาลัยครูเป็นมหาวิทยาลัยราชภัฏกระจายอยู่ทั่วประเทศ ทำให้มีผู้จบการศึกษาออกมาจำนวนมาก เกิดปัญหาการว่างงานในระดับปริญญาตรีรวมกันมากกว่า 100,000 คน ทำให้ดับฝันของผู้เรียน ปวส. และโดยเฉพาะปริญญาตรีไปจำนวนมาก

อย่างไรก็ดี หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการศึกษาตระหนักเรื่องนี้ดี จึงได้พยายามปรับทิศทางนโยบายการศึกษาใหม่ โดยกำหนดให้แผนการปฏิรูปการศึกษารอบ 2 (2552-2561) เน้นพัฒนาสมรรถนะหรือคุณภาพของผู้เรียนอย่างเร่งด่วน โดยเน้นในเรื่องการพัฒนาคุณภาพครู คุณภาพสถานศึกษา และแหล่งเรียนรู้ รวมทั้งการบริหารจัดการทางการศึกษาให้มีความรับผิดชอบต่อผู้จบการศึกษามากขึ้น โดยหวังว่าทุกฝ่ายจะช่วยกันทำให้ผู้จบสายอาชีพและอุดมศึกษามีงานทำได้มากขึ้น จนลดปัญหาการว่างงานในหมู่ผู้มีการศึกษาสูงได้ในช่วงการปฏิรูปการศึกษารอบสองนี้
กำลังโหลดความคิดเห็น