หอการค้าฯ ห่วงขึ้นค่าแรง 300 บาท 1 เม.ย.นี้ เกิดการย้ายฐานผลิตครั้งใหญ่ หากเปิด AEC ในอีก 2 ปี ส่งออกไทยฮวบ “เอสเอ็มอี” อาจล้มละเนระนาด เพราะต้นทุนฉุดการแข่งขันได้ยาก
นายอัทธ์ พิศาลวานิช ผู้อำนวยการศูนย์การศึกษาการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยถึงผลวิเคราะห์ ประเมิน 2 ปี ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) พบว่า ช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ที่ AEC มีผลบังคับใช้ใน 6 ประเทศอาเซียนเริ่มต้นนั้น การส่งออกไทยไปยังอาเซียนลดลงร้อยละ 18.7 โดยการส่งออกไปยังอาเซียน หลังจาก AEC มีผลในปีแรก หรือปี 2553 มีมูลค่า 10,253 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ลดลงมาเหลือ 7,506 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในปี 2554
นอกจากนี้ ยังทำให้ความสามารถในการแข่งขันของไทยตกมาอยู่ในประเภทตกต่ำ จากเดิมที่อยู่ในประเภทไร้ทิศทาง เพราะต้นทุนการผลิตของไทยสูงขึ้น จากนโยบายการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาท ขณะที่ประเทศบรูไน มีการส่งออกไปยังอาเซียนเพิ่มขึ้นมากที่สุด ถึงร้อยละ 46.9 รองลงมา คือ กัมพูชา ที่มีการส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 27.6
นายอัทธ์ ยังคาดว่า อุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม จะย้ายฐานการผลิตจากไทยไปยังกัมพูชาและพม่า เช่นเดียวกับอุตสาหกรรมอาหารทะเลแปรรูป ที่จะย้ายฐานการผลิตไปยังพม่า และอินโดนีเซีย มากขึ้น เพราะมีวัตถุดิบจำนวนมาก และค่าแรงต่ำกว่าไทย
ขณะเดียวกัน อุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้า ผัก ผลไม้ ผลิตภัณฑ์เครื่องหนัง เครื่องดื่ม และยาสูบ ยังสามารถส่งออกได้ดี แต่อินโดนีเซียก็กำลังขยายส่วนแบ่งการตลาดมาใกล้ไทยแล้ว
ทั้งนี้ มีความเป็นห่วงว่าเอสเอ็มอีจะแข่งขันได้ยากขึ้น เมื่อเปิดเป็น AEC เต็มรูปแบบในปี 2558 เพราะการแข่งขันจะสูงขึ้น จะต้องบริหารจัดการต้นทุนให้ดี กระจายฐานการผลิตไปยังต่างประเทศ และพัฒนาคุณภาพสินค้า รวมทั้งร่วมกันจัดตั้งศูนย์กระจายสินค้าไปยังอินโดนีเซีย และพม่า รวมถึงการร่วมลงทุนกับบริษัทในต่างประเทศด้วย