กองบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ASTVผู้จัดการรายวันและผู้จัดการออนไลน์ มีโอกาสสัมภาษณ์พิเศษ สุภัค ศิวะรักษ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานเจ้าหน้าที่บริหารธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย (CIMBT) เพื่อติดตามความคืบหน้าและความพร้อมในการรับมือประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (ASEAN Economic Community : AEC)
CIMBT พร้อมสำหรับการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนในปี 2558 แค่ไหน?
ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนถือเป็นเป้าหมายหลักของซีไอเอ็มบีกรุ๊ปอยู่แล้ว เราลงทุนวางระบบไอทีให้เป็นระบบเดียวกันทุกสาขาในอาเซียน โดยเริ่มใช้เป็นทางการที่ซีไอเอ็มบีไทยเป็นแห่งแรกในเดือนมีนาคมนี้ หลังจากนั้นจะไปที่มาเลเซีย
ระบบไอทีที่พูดถึงคือ One Platform (วัน แพลทฟอร์ม) แนวคิด One Platform มี 2 ความหมาย ลำดับแรกหมายถึง ระบบ Core Banking ระบบไอทีที่จะต้องเชื่อมโยงถึงกันหมด อันนี้เป็นความหมายด้านแคบ ส่วนอีกเรื่องเป็นของภาพลักษณ์ แนวคิด One Platform ต้องการให้ซีไอเอ็มบีเป็นธนาคารภูมิภาค ในมุมมองของลูกค้าไม่ว่าจะเป็นรายย่อยหรือรายใหญ่ เมื่อมาใช้บริการซีไอเอ็มบีไม่ว่าจะเป็นสาขาในประเทศไหนก็จะเป็น One Platform ไม่ใช่แต่ละประเทศมี Platform ของตัวเอง ทั้งในแง่ Look & Feel อันนี้เป็นความหมายที่กว้าง
ยกตัวอย่างรายใหญ่ ถ้าบริษัทในไทยต้องการไปทำธุรกิจในอินโดนีเซีย ไม่ว่าจะเข้าไปทำธุรกรรมที่ซีไอเอ็มบีไทย แล้วจะข้ามไปใช้ที่ซีไอเอ็มบีอินโดนีเซียหรือประเทศอื่นๆ ก็ต้องได้รับอะไรๆ ในแบบเดียวกัน รวมทั้งหากกรณีขอสินเชื่อ ก็สามารถเลือกได้ว่าต้องการกู้เป็นสกุลบาทหรือสกุลรูเปียของอินโดนีเซีย
ในอีกมิติก็ยังมีเรื่องของตลาดทุน อาทิ การออกหุ้นกู้ หรือนำหุ้นไปจดทะเบียนข้ามประเทศในอาเซียน เมื่อปีที่แล้วที่เราทำก็คือเอาหุ้นของบริษัทศรีตรังจดทะเบียนในประเทศสิงคโปร์ หรือปีก่อนหน้าโน้นทางซีไอเอ็มบี กรุ๊ปก็ดูแลการออกพันธบัตรอิสลามให้กับ ปตท.ในโครงการท่อส่งก๊าซธรรมชาติ ซึ่งขนส่งก๊าซธรรมชาติในเขตพื้นที่พัฒนาร่วมไทย-มาเลเซีย
หรือจะเป็นในด้านของการโอนเงินข้ามประเทศ เทรดไฟแนนซ์ ที่จะครอบคลุมและคล่องตัวมากขึ้น ส่วนนี้ก็เริ่มทำไปบ้างแล้ว อันนี้กรณีของรายใหญ่และธุรกิจ
ช่วยขยายความในส่วนลูกค้ารายย่อยกับ One Platform เพิ่มเติมสักหน่อย
มาถึงส่วนรายย่อย One Platform สำหรับรายย่อยจะเห็นอะไรบ้าง เรื่องของโปรดักส์ อันนี้บอกได้เลยว่า คงจะไม่เหมือนกันทุกประเทศ เพราะวิถีการใช้ชีวิตหรือสภาพการกินอยู่แตกต่างกัน แต่สิ่งที่เราทำให้เหมือนกันได้ จะเป็นลูกค้าที่ขึ้นมาอีกระดับหนึ่ง เป็นระดับ prefer เป็นรายย่อยที่รายได้ขึ้นมาระดับหนึ่ง แล้วรสนิยม การใช้ชีวิตมันจะกลับเข้ามาคล้ายๆ กัน อย่างเริ่มมีออกไปเที่ยวต่างประเทศ ตรงนี้ คนที่ถือบัตรเอทีเอ็มของซีไอเอ็มบีไปกดตู้เอทีเอ็มของซีไอเอ็มบีในประเทศไหนก็ได้ โดยที่ไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียม แล้วก็ได้เรตอัตราแลกเปลี่ยนที่ดีพอสมควร อันนี้เป็นส่วนของรายย่อยที่เราทำเป็นอย่างแรก แล้วก็มีความหมายมาก เคยมีลูกค้าส่งลูกไปเรียนที่สิงคโปร์มาเปิดบัญชีที่นี่ แล้วเอาบัตรเอทีเอ็มไปลูกกดที่โน่น ก็ชอบว่าสะดวกไม่ต้องโอนไปมา
คู่แข่งหรือธนาคารไหนบ้างมีศักยภาพใกล้เคียงกับซีไอเอ็มบีM
ถ้าเทียบกันเครือข่ายและสาขา ตอนนี้ที่เห็นก็มี 2 ธนาคาร อย่างธนาคารกรุงเทพมีสาขา อินโดนีเซีย มาเลเซีย สิงคโปร์ แล้วก็ธนาคารยูโอบีก็มีสาขาที่อินโดนีเซีย กับมาเลเซีย แต่ถ้าเทียบจำนวนสาขาแล้ว เรามีมากสุด 1,200 กว่าสาขา มากที่สุดและกระจายที่สุด คือไม่ใช่มีแต่ตามเมืองหลวง แต่มีกระจายไปในท้องถิ่นด้วย อย่าง ถ้าบริษัทในไทยไปทำเหมือง ทำสวนยางในแถบเกาะบอร์เนียว เราก็มีสาขาที่จะรองรับอยู่ที่นั่น จึงถือว่าซีไอเอ็มบีเป็นแบงก์อาเซียนในแบบที่รู้จริง เพราะในแต่ละสาขาของแต่ละประเทศ เราก็ใช้พนักงานซึ่งเป็นคนของท้องถิ่นนั้น เขาก็จะมีความรู้หมดในท้องที่นั้นๆ ไม่ว่าจะเป็นสินค้า หรือบุคคลในธุรกิจต่างๆ
อย่างยูโอบีแม้จะมีมาร์เก็ตแคป-สินทรัพย์อยู่ในท็อป 3 ส่วนซีไอเอ็มบีอยู่ในท็อป 4 แต่ยูโอบีส่วนมากจะเอียงไปทางสิงคโปร์มากกว่า
โครงสร้างของซีไอเอ็มบีขณะนี้ สัดส่วนรายได้จะมาจากตลาดมาเลย์ 50-60% อินโดฯ 30-40% ไทย-สิงคโปร์น้อยหน่อยประมาณคนละ 2-3% ฉะนั้นถ้าจะมองว่าใครแบงก์ไหนเป็นอาเซียนแบงก์ ก็จะต้องดูที่เครือข่ายว่ามีทั่วไหม ปริมาณธุรกิจรายได้แผ่ไปทั่วหรือเปล่า
ทั้งนี้ ปัจจุบัน ซีไอเอ็มบีกรุ๊ปมีเครือข่ายอยู่ที่ ประเทศไทย มีสาขาที่กัมพูชา มาเลเซีย สิงคโปร์ อินโดนีเซีย บริษัทร่วมลงทุนธุรกิจหลักทรัพย์ในเวียดนาม มีสำนักงานตัวแทนที่ประเทศบรูไน ประเทศพม่าซึ่งก้าวต่อไปก็คงต้องเรื่องการยกระดับ และอยู่ระหว่างเจรจาทำธุรกิจการเงินในประเทศฟิลิปปินส์ ส่วนประเทศลาวอยู่ระหว่างการพิจารณาเนื่องจากปริมาณธุรกิจยังมีไม่มากนัก
ประเทศไหนอีกบ้างในอาเซียนที่ซีไอเอ็มบีเห็นว่าโดดเด่นน่าสนใจ?
ขนาดของอินโดนีเซียน่าสนใจ อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจอยู่ในเกณฑ์ดี มีศักยภาพ แข็งแกร่ง ทรัพยากรยังสมบูรณ์ การเมืองนิ่ง รายได้ของประชากรมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ดูอย่างตอนนี้ยอดขายรถแซงประเทศไทยไปแล้ว ก็จะเห็นโอกาสที่ขยายธุรกิจได้มากขึ้น ขณะที่ทางรัฐบาลอินโดฯเองเล็งเห็นว่าข้อจำกัดของเขาเป็นเรื่องสาธารณูปโภค ก็เริ่มลงทุนด้านทางด่วน รถไฟ อีกอย่างที่เป็นตัวชี้วัดที่ดี ก็คือบริษัทเครดิตเรทติงปรับเพิ่มอันดับเครดิตให้ ตลาดหุ้นก็มีค่าพีอีที่ดีกว่าบ้านเรามาก เพราะมองว่าแนวโน้มดี
ตอนนี้ที่อินโดฯเราก็อยู่ในอันดับท็อป 6 หรือ 7 มีสาขา 600 กว่าสาขามากว่าสาขาที่มาเลย์ เพราะพื้นที่มากกว่ามาก ดังนั้น ในแง่ยุทธศาสตร์แล้วที่อินโดฯ ก็นับว่าเป็นองค์ประกอบที่สำคัญ
สำหรับประเทศไทยจากที่เคยคุยกันไว้ เมื่อดูขนาดจีดีพีแล้ว ก็เป็นอันดับ 2 ในอาเซียน ใหญ่กว่าของมาเลย์ ถือว่าเป็นตลาดที่ใหญ่มาก ที่ซีไอเอ็มบีมาลงที่นี่ ทางกรุ๊ปก็อยากเห็นว่าใน 3-5 ปี สัดส่วนกำไรเพิ่มขึ้นเป็น 14-15% อันนี้ให้น้ำหนักตามเศรษฐกิจ
ที่กำลังมาแรงอีกเป็น พม่า ผมว่าต่อไปพม่าจะมีผลกระทบกับไทยมาก แนวโน้มเกิดขึ้นอยู่แล้วว่าเขาจะเข้ามาอยู่ในระบบโลก ทางอเมริกาก็คงเร่งสนับสนุน ลดแซงก์ชั่น เพื่อให้เป็นตัวคานกับจีน แล้วทรัพยากรบ้านเขาก็ยังสมบูรณ์มาก ทำให้หลายประเทศสนใจเข้าไปลงทุน
ผลกระทบกับไทยในระยะสั้น ก็ค่าแรงงานขึ้นแน่ ไม่ต้องรอรัฐบาลปรับ 300 บาท เพราะแรงงานพม่าที่เคยเข้ามาทำงานในไทย ก็จะกลับบ้าน อุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานก็จะกระทบ แล้วก็เป็นแรงงานที่ได้รับการฝึกแล้ว ผมว่าอีกหน่อยพม่าก็ตั้งเขตพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษหากต่างชาติเข้ามาลงทุนมากๆ แล้วก็ด้านการท่องเที่ยว เพราะทรัพยากร โบราณสถาน สถานที่ท่องเที่ยวยังสมบูรณ์ ซึ่งเรื่องพวกนี้ภายใน 4-5 ปีข้างหน้าก็เห็นแล้ว เราก็ต้องเตรียมพร้อมที่จะรับและบรรเทาผลกระทบด้วย
ทางกรุ๊ปตั้งเป้าให้ซีไอเอ็มบีไทยเป็นศูนย์กลางของการสร้างเครือข่ายในอาเซียนหรือเปล่า?
ก็มีโอกาสที่จะเป็นไปได้ เรามีจุดแข็งที่ธุรกิจวาณิชธนกิจ แล้วพอมี AEC เข้ามา ไม่ว่าจะเป็นการลงทุนข้ามชาติ การระดมทุนข้ามชาติก็จะเพิ่มขึ้น ทำให้เราโอกาสในการทำเข้าไปทำธุรกิจวาณิชธนกิจอีกมาก สิ่งที่ต้องทำก็คือเราต้องเชื่อมโยงกับเครือข่ายที่เรามีและใช้ประโยชน์ให้ได้มากที่สุด
ปีนี้ซีไอเอ็มบีไทยมีแผนสินเชื่อหรือเป้าหมายรายได้อย่างไรบ้าง?
ก็ตั้งเป้าสินเชื่อโต 30% ดูเหมือนจะสูง แต่ฐานเรายังเล็กยอดคงค้างแค่ 1.2 แสนล้านบาทเอง เท่าที่ดูก็อยากโตจากสินเชื่อรายใหญ่กับเอสเอ็มอี จากเงินกองทุนของแบงก์ตอนนี้ปล่อยได้ 4,000 กว่าราย ตีว่าพันล้านหนึ่งต่อราย ต้องปล่อยรายใหญ่ 2 หมื่นล้านบาท ก็หาลูกค้า 20 ราย รายละ 1 พันล้าน นับปริมาณชิ้นมันไม่เยอะนัก ก็พอไปได้
อย่างปีที่แล้วสินเชื่อโต 27% คิดเป็นประมาณ 2 หมื่นล้าน ก็ถือว่าพอไปได้ ที่สำคัญคือเราขยายได้อย่างมีเสถียรภาพ รักษาผลตอบแทน กับรักษาความเสี่ยงได้
ด้านรายได้ค่าธรรมเนียมตั้งเป้าโต 40-50% ก็อาจจะดูส่งอีก แต่เราจะเน้นทางวาณิชธนกิจ ซึ่งก็มีดีลเข้ามาเรื่อยๆ สัปดาห์ที่แล้วก็มีไทยแอร์เอเชีย แล้วก็ระหว่างเจรจาอีก ด้านการลงทุนข้ามชาติ ปีนี้น่าจะเห็นได้มากขึ้นทั้งในส่วนของอินโดฯ มาเลย์ ตอนนี้ก็มีบริษัทที่มาเลย์ 3-4 แห่งคุยกับเราที่จะมาลงทุนที่เรา แล้วทางฝั่งเราก็เห็นความสนใจที่จะไปลงทุนต่างประเทศเหมือนกัน
ตั้งแต่ครึ่งปีหลังของปีที่แล้ว ก็เริ่มเห็นอะไรมากขึ้น มีคนเข้าสอบถามเราเรื่องอะไรอะไรมากขึ้น ผมว่าเป็นการเตรียมตัวเรื่องของเออีซีมากกว่า
เรื่องน้ำท่วม ก็ประเมินว่าจากไตรมาส 4 ปีก่อนที่เศรษฐกิจติดลบ ไตรมาสแรกปีนี้ภาคเอกชนต้องมีการลงทุน ซ่อมแซม อะไรต่างๆ ด้านรัฐบาลเองก็มีโครงการต่างๆออกมา เศรษฐกิจน่าจะกลับมาในกลางปีนี้ คิดว่าน้ำท่วมน่าจะเป็นเรื่องเฉพาะกาล
ก็คิดว่ารัฐบาลคงจะตั้งใจอย่างจริงจังในการแก้ปัญหานี้ ผมคิดว่าหลายเรื่องยังไม่มีข้อสรุป ต้องรอดู รัฐบาลพูดหลายครั้งว่าตระหนักถึงความสำคัญในเรื่องนี้ ก็หวังว่าคงจะตั้งอกตั้งใจเต็มที่ในการแก้ปัญหานี้
ดูเหมือนเน้นสินเชื่อโรงไฟฟ้า?
ก็ไม่ได้ปล่อยเยอะมาก ทางซีไอเอ็มบีไทยได้มีโครงการร่วมมือทางกระทรวงพลังงานมาเป็น 10 ปีแล้วในเรื่องการสนับสนุนโครงการพลังงานทดแทน ก็มียอดปล่อยกู้รวมๆ ประมาณ 2-3 พันล้านบาท วงเงินไม่สูงนัก 200-300 ล้านบาท ซึ่งในส่วนของกระทรวงพลังงานเองในบางโครงการก็เป็นมีกองทุนสนับสนุนอยู่ แล้วก็ให้แบงก์เอกชนปล่อยเสริมก็จะได้ดอกเบี้ยต่ำ
มีความเห็นเรื่องค่าต๋งนำส่งกองทุนเพื่อการฟื้นฟูอย่างไร?
ก็ไม่มีอะไร ถ้าโดนเพิ่มกันทั้งระบบ มันไม่ได้มีผลเรื่องการแข่งขัน ก็คิดว่าในแง่ของพระราชกำหนด จะบอกว่าคืออะไรที่ระดมเงินจากประชาชนก็ต้องเสียค่าธรรมเนียม แบงก์ชาติก็คงจะมีไหวพริบพอว่า ถ้าเก็บตรงนี้เลี่ยงไปออกหุ้นกู้เหรอ ถ้าจะเก็บก็ต้องหาทางเก็บอยู่ดี
ทีนี้โดยหลักการในเมื่อเราเป็นแบงก์ไทย เรื่องหนี้กองทุนฟื้นฟูเป็นเรื่องระดับชาติ จะให้แบงก์ช่วยจ่าย เรายินดีช่วย แต่สิ่งที่แบงก์พาณิชย์เป็นห่วงตอนนี้คือ เก็บแต่แบงก์พาณิชย์ แต่ไม่เก็บแบงก์รัฐเฉพาะกิจ การที่แบงก์จะแข่งกับแบงก์รัฐลำบาก ถ้าแข่งลำบาก เงินฝากจะไหลเอกชนไปอยู่แบงก์รัฐ แล้วเงินที่กะเก็บค่าธรรมเนียมอันนี้อาจจะไม่พอก็ได้ แล้วปัจจุบันแบงก์รัฐหลายแห่งก็ทำธุรกิจพาณิชย์เต็มรูปแบบ กลายเป็นว่าระบบเอียงไปทางแบงก์รัฐมากขึ้น ยังมีการพูดแซวๆ กันเลยว่า ทำอย่างนี้ไปเรื่อยๆ อีกหน่อยแบงก์ชาติคงไม่มีแบงก์ที่จะคุมแล้ว เพราะเงินฝากและสินเชื่อระบบไปอยู่กับแบงก์รัฐ ซึ่งอยู่ภายใต้กระทรงการคลัง (หมายเหตุ : สัมภาษณ์ในวันที่ 8 ก.พ. 2555)
จะมีผลกระทบกับการออกตั๋วบีอีของแบงก์หรือไม่?
การออกหรือไม่ออกบีอี ถ้าเก็บเท่ากัน ก็อาจจะมีการปรับเปลี่ยนคุณสมบัตรบีอีไปบางส่วน อาจจะให้ความคล่องตัวมากกว่าเงินฝากก็ได้ แต่เรื่องผลตอบแทนบีอีต้องมีการปรับลงเพราะมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น
การออกบีอีของซีไอเอ็มบีไม่เอามาใช้ในเชิงหลีกเลี่ยง แต่บางทีลูกค้ารายใหญ่อยากได้ระยะเวลาเท่านี้ เท่านี้ ก็ดูให้ ถ้าเก็บค่าต๋งบีอี เราก็ต้องเอาค่าต๋งมาประกอบว่าเราจะให้ผลตอบแทนเท่าไหร่ จะโฟกัสที่ความต้องการลูกค้า เพราะบางครั้งลูกค้าไม่อยากมาฝาก 3 เดือน 6 เดือนอะไร ก็ต้องดูให้
มองเรื่องวิกฤติหนี้ยุโรป และผลกระทบต่อไทยอย่างไรบ้าง?
เรื่องของกรีซ ผมว่าในท้ายที่สุดก็น่าจะมีแนวทางที่ให้ทุกฝ่ายรับได้ มีบางคนบอกกรีซจะถอนตัวออกจากยูโร ถ้าทำอย่างนั้นความเสียหายมหาศาล คือเข้ายูโรมันง่ายกว่าออกจากยูโร ทั้งจะต้องพิมพ์แบงก์ใหม่ล่วงหน้า เวลาเตรียมการข่าวก็รั่ว แตกตื่น เศรษฐกิจพังอีกระลอก สถาบันการเงินของประเทศเยอรมัน ฝรั่งเศสที่ปล่อยกู้ให้ก็ไปด้วยไปทั้งแถบ เชื่อว่ายังไงๆ ก็ต้องยันให้อยู่ให้ได้
ตอนนี้ปัญหายุโรปคือ มองเฉพาะหน้าว่าจะกู้กรีซยังไง ยังไม่มีแผนกู้เศรษฐกิจยุโรป กรีซก็เลยยังเป็นยาขมอยู่ ถ้าเทียบอเมริกาการแก้ปัญหาจะเร็วกว่า ซับซ้อนน้อยกว่า เพราะมีรัฐบาลเดียว ตอนนี้สัดส่วนหนี้ส่วนบุคคลเทียบกับจีดีพีเริ่มลดลง เพราะรัฐบาลก็อัดฉีดเงิน เฟดก็กดดอกเบี้ยอยู่ ก็เริ่มดีขึ้น แต่ก็ยังมีความเสี่ยง ขณะที่ยุโรปตอนนี้มัวแต่โฟกัสแก้เฉพาะหนี้ ดับไฟ ลดน้ำหนัก ก็ต้องมาเถียงกันอีก
เรื่องของยุโรปเราก็ห่วง แต่ห่วงแบบเฝ้าระวัง ไม่ใช่ห่วงแบบกลัวไม่ขยายธุรกิจไม่ใช่ เราอยู่ในอาเซียนอยู่แล้ว จุดยืนของซีไอเอ็มบีตอนนี้มองว่าดุลอำนาจทางเศรษฐกิจจากอเมริกา ยุโรป จะมาที่อยู่เอเชีย แล้วภูมิต้านของภูมิภาครวมทั้งไทยด้วยแข็งแกร่ง ไม่ว่าเงินสำรองต่างประเทศ หนี้ที่มีลดลง มีทรัพยากรอุดมสมบูรณ์ ยิ่งเราอยู่ในสภาวะแข็งแกร่งอย่างนี้ ยิ่งอยากเห็นเออีซีเกิดขึ้น ถ้าเราร่วมมือกันได้ก็จะแข็งแกร่งขึ้น อยู่คนเดียวมันก็เหนื่อย
ขณะนี้ประเทศไทยมีการส่งออกไปยุโรป 15% ของจีดีพี แล้วในช่วงที่ผ่านมาก็ได้มีการกระจายตัวไปบ้างแล้วในประเทศแถบเอเชีย ซึ่งก็ถือว่ามีโครงสร้างการส่งออกที่กระจายตัวดี แต่แม้จะอย่างนั้น ก็หลีกเลี่ยงไม่ได้ที่ได้รับผลกระทบ เพราะการส่งออกมีสัดส่วนประมาณ 70% ของจีดีพี ก็คงสโลว์ดาวน์ลงมาบ้าง ขณะที่ทางฟากรัฐก็พยายามดำเนินนโยบายที่อัดฉีดการบริโภค แล้วก็การลงทุน คือพยายามให้การลงทุนมันขึ้น ตอนนี้สัดส่วนบริโภค 40% ลงทุนสัก 20% รวมกันแล้วก็ยังน้อยกว่าการส่งออก ทำให้หลีกเลี่ยงไม่ได้ที่การส่งออกโดนกระทบแล้วจีดีพีไม่กระทบ ซึ่งปีนี้ก็คงจะโตได้สัก 4-5% ซึ่งก็นับว่าเป็นอัตราที่ดีในภูมิภาคนี้
ความเป็นไปได้ไหมที่ AECจะเกิดปัญหาแบบยูโรโซน?
ปัญหาที่เกิดขึ้นในยูโร ไม่ได้เกิดมาจากการเปิดการค้าเสรีระหว่างกัน แต่เกิดมาจากการใช้เงินสกุลเดียวกัน เงินเฟ้อ การควบคุมนโยบายการคลังไม่มีการประสานงานกัน โครงสร้างเศรษฐกิจไม่เหมือนกัน ขณะที่เออีซีทำเรื่องเปิดการค้าเสรี ซึ่งมันควรจะเกิดขึ้น เพราะคนมองว่าเราไม่มีสเกล ถ้ารวมกันประสานงานกันได้ ก็เป็นทางเลือกในการลงทุนได้ และช่วยทำให้บริษัทของเรามีศักยภาพในการแข่งขันด้วย