ร่าง พ.ร.บ.งบ 55 วาระ 2-3 เข้าสภา 4 ม.ค.นี้ “คมนาคม” รับเพิ่ม 7.5 พันล้าน “กองทัพ” ได้เพิ่ม 1.4 พันล้าน “แรงงาน” โดนตัดสูงสุด 1 หมื่นล้าน
มีรายงานข่าวว่า นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานสภาผู้แทนราษฎร นัดประชุมสมาชิกสภาฯ สมัยนิติบัญญัติ เป็นพิเศษ เพื่อพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2555 (พ.ร.บ.งบฯ) จำนวน 2,380,000 ล้านบาท ในวาระ 2 และ วาระ 3 ภายหลังจากที่คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณา ร่าง พ.ร.บ.งบฯ 2555 แล้วเสร็จ
ทั้งนี้ มีรายละเอียดที่น่าสนใจ คือ มีหน่วยงานที่ถูกพิจารณาปรับเพิ่มงบประมาณสูงสุด คือ งบประมาณของกระทรวงคมนาคม ได้รับการปรับเพิ่มงบประมาณ เป็น 88,852 ล้านบาท จากเดิมที่เสนอขอ 81,310 ล้านบาท ถือว่าถูกพิจารณาเพิ่มงบฯ ประมาณ 7,542 ล้านบาท
รองลงมาได้แก่ กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ปรับงบฯ เพิ่มเป็น 10,264 ล้านบาท จากเดิมที่เสนอขอ 6,754 ล้านบาท ถือว่าถูกพิจารณาเพิ่มงบฯ ประมาณ 3,510 ล้านบาท, กระทรวงศึกษาธิการ ปรับเพิ่มงบฯ เป็น 420,490 ล้านบาท จากเดิมที่เสนอขอ 418,616 ล้านบาท ถือว่าถูกพิจารณาเพิ่มงบฯ ประมาณ 1,874 ล้านบาท, งบกลางในการควบคุมของกระทรวงการคลังและสำนักงบประมาณ ได้ปรับเพิ่มเป็น 422,211 ล้านบาท จากเดิมที่เสนอขอ 420,601 ล้านบาท ถือว่าถูกพิจารณาเพิ่มงบฯ ประมาณ 1,610 ล้านบาท
กระทรวงกลาโหมและหน่วยงานในกำกับ ได้รับการปรับเพิ่มงบฯ เป็น 168,887 ล้านบาท จากเดิมที่เสนอขอ 167,446 ล้านบาท ถือว่าถูกพิจารณาเพิ่มงบฯ ประมาณ 1,441 ล้านบาท โดยงบประมาณในส่วนของแผนงานเสริมสร้างระบบป้องกันประเทศของทุกเหล่าทัพจะได้รับงบประมาณเพิ่มขึ้นเฉลี่ยกว่า 100 ล้านบาท
กระทรวงมหาดไทยและหน่วยงานในกำกับ ปรับเพิ่มเป็น 285,254 ล้านบาท จากเดิมที่เสนอขอ 283,875 ล้านบาท ถือว่าถูกพิจารณาเพิ่มงบฯ ประมาณ 1,379 ล้านบาท โดยเป็นการปรับเพิ่มในส่วนของกรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น และกรมที่ดิน
กระทรวงการคลังและหน่วยงานในกำกับ ได้รับการปรับเพิ่มงบฯ เป็น 191,415 ล้านบาท จากเดิมที่เสนอขอ 190,981 ล้านบาท ถือว่าถูกพิจารณาเพิ่มงบฯ ประมาณ 474 ล้านบาท รวมถึง หน่วยงานของรัฐสภา ปรับเพิ่มงบฯ เป็น 6,257 ล้านบาท จากเดิมที่เสนอขอ 5,829 ล้านบาท ถือว่าถูกพิจารณาเพิ่มงบฯ ประมาณ 428 ล้านบาท
สำหรับหน่วยงานที่ถูกพิจารณาปรับลด สูงสุด ได้แก่ กระทรวงแรงงาน ปรับลดงบฯ เป็น 16,316 ล้านบาทจากเดิมที่เสนอขอ 27,265 ล้านบาท ถือว่าถูกพิจารณาลดงบฯ ประมาณ 10,949 ล้านบาท
รองลงมาได้แก่ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ปรับลดงบฯ เป็น 76,721 ล้านบาท จากเดิมที่เสนอขอ 77,993 ล้านบาท ถือว่าถูกพิจารณาลดงบฯ ประมาณ 1,272 ล้านบาท ส่วนงานที่ถูกปรับลดที่สำคัญ คือ แผนงานส่งเสริมการบริหาจัดการน้ำอย่างบูรณาการของสำนักปลัด ลดลงเป็น 1,281 ล้านบาท จากเดิมที่เสนอขอ 1,363 ล้านบาท, กรมชลประทาน ปรับลดงบฯ เป็น 42,919 ล้านบาท จากเดิมที่เสนอขอ 43,297 ล้านบาท
กระทรวงสาธารณสุข ปรับลดงบฯ เป็น 91,996 ล้านบาท จากเดิมที่เสนอขอ 93,056 ล้านบาท ถือว่าถูกพิจารณาลดงบฯ ประมาณ 1,060 ล้านบาท, กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ปรับเพิ่มงบฯ เป็น 25,584 ล้านบาท จากเดิมที่เสนอขอ 24,611 ล้านบาท ถือว่าถูกพิจารณาลดงบฯ ประมาณ 973 ล้านบาท, กระทรวงอุตสาหกรรม ปรับลดงบฯ เป็น 5,737 ล้านบาท จากเดิมที่เสนอขอ 6,297 ล้านบาท ถือว่าถูกพิจารณาลดงบฯ ประมาณ 560 ล้านบาท
กระทรวงยุติธรรม ปรับลดงบฯ เป็น 17,946 ล้านบาท จากเดิมที่เสนอขอ 18,204 ล้านบาท ถือว่าถูกพิจารณาลดงบฯ ประมาณ 258 ล้านบาท, กระทรวงวัฒนธรรม ปรับลดงบฯ เป็น 5,467 ล้านบาท จากเดิมที่เสนอขอ 5,690 ล้านบาท ถือว่าถูกพิจารณาลดงบฯ ประมาณ 223 ล้านบาท
กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ปรับลดงบฯ เป็น 8,052 ล้านบาท จากเดิมที่เสนอขอ 8,222 ล้านบาท ถือว่าถูกพิจารณาลดงบฯ ประมาณ 170 ล้านบาท, กระทรวงการต่างประเทศ ปรับลดงบฯ เป็น 7,598 ล้านบาท จากเดิมที่เสนอขอ 7,733 ล้านบาท ถือว่าถูกพิจารณาลดงบฯ ประมาณ 135 ล้านบาท
นอกจากนั้นแล้ว ในส่วนของงบประมาณรายจ่ายในส่วนของสำนักนายกรัฐมนตรีและหน่วยงานในกำกับ ถูกปรับลดงบฯ เป็น 22,123 ล้านบาท จากเดิมที่เสนอขอ 22,485 ล้านบาท โดยมีรายละเอียดที่น่าสนใจ คือ ส่วนของแผนงานส่งเสริมการกรจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ปรับลดงบฯ เป็น 126 ล้านบาท จากเดิมที่เสนอขอ 526 ล้านบาท ถือว่าเป็นส่วนของแผนงาน 1 ใน 4 แผนงานที่ถูกปรับลดงบฯ มากที่สุด
กรมประชาสัมพันธ์ ปรับลดเป็น 1,565 ล้านบาท จากที่เสนอขอ 1,608 ล้านบาท , สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ปรับลดเป็น 499 ล้านบาท จากเดิมที่เสนอขอ 513 ล้านบาทในส่วนของงบประมาณรายจ่ายที่ใช้ในกองทุนและเงินทุนหมุนเวียน กรรมาธิการฯ ได้ตัดส่วนของกองทุนเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ที่เสนอของบจำนวน 270 ล้านบาท