xs
xsm
sm
md
lg

“โต้ง” มั่นใจ “จีดีพี” ปีหน้าโตกระฉูด 7% ตามที่เจ้าสัว “ซีพี” ประเมินไว้

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

กิตติรัตน์ ณ ระนอง
“กิตติรัตน์” มั่นใจ “จีดีพี” ปีหน้าโตกระฉูด 7% ตามที่เจ้าสัว “ซีพี” ประเมินไว้ พร้อมเร่งเดินหน้านโยบาย ศก.ควบคู่มาตรการฟื้นฟูประเทศ คาดหลังน้ำลดอุปสงค์แรงงานฝีมือจำนวนมากถึงขั้นต้องอิมพอร์ตจากต่างประเทศ ยันความเสียหายทั้งหมดในปีนี้ จะถูกชดเชยในปีหน้าได้ทั้งหมด

นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวถึงกรณีหลายหน่วยงานออกมาแสดงความเป็นห่วงผลกระทบอุทกภัยต่อเศรษฐกิจไทย โดยเชื่อมั่นว่า เศรษฐกิจไทยในปี 2555 จะยังเติบโตมากและอาจขยายตัวได้ถึง 7% อย่างที่นายธนินท์ เจียรวนนท์ ประธานเครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี) ได้ประเมินไว้

จากความกังวลที่หลายฝ่ายเกรงว่าโรงงานต่างๆ ต้องปิดชั่วคราว อาจทำให้มีแรงงานจำนวนมากต้องตกงานนั้น แต่เมื่อน้ำลดแล้วเชื่อว่าความต้องการแรงงานจะสูงมาก ทั้งการกลับเข้าไปตามสายงานปกติ และแรงงานที่เข้าไปซ่อมแซมโครงสร้างพื้นฐานใหม่ๆ และทำให้ความต้องการด้านวิศวะ หรือช่างเทคนิคจากต่างประเทศมีจำนวนมาก ซึ่งจะมีการผ่อนผันให้สามารถจ้างงานจากต่างประเทศได้

“คิดว่า เศรษฐกิจที่ขาดหายไปในปีนี้ จะถูกชดเชยในปีหน้าได้เกือบทั้งหมด ทั้งในส่วนที่ต้องไปซ่อมและสร้างส่วนที่เสียหาย สำหรับการวางนโยบายของรัฐบาลในการฟื้นฟูเศรษฐกิจปีหน้านั้น ยังคงเดินตามแนวนโยบายที่รัฐบาลได้หาเสียงไว้ ทั้งเรื่องค่าจ้างขั้นต่ำ, การปรับราคาสินค้าเกษตร ควบคู่ไปกับการฟื้นฟูประเทศ ที่จะทำให้เกิดกิจกรรมทางด้านเศรษฐกิจจนทำให้เกิดการจ้างงาน”

สำหรับกิจกรรมทางด้านเศรษฐกิจนั้น นายกิตติรัตน์ กล่าวว่า จะมีการประเมินและหามาตรการจากคณะกรรมการทั้ง 2 ชุด คือ คณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อการฟื้นฟูและสร้างอนาคตประเทศ (กยอ.) และ คณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อวางระบบการบริหารจัดการน้ำ (กยน.) โดยอาจจำเป็นต้องสร้างระบบสาธารณูปโภค เช่น การสร้างเขื่อนปากแม่น้ำ, การทำแก้มลิงทั้งขนาดกลาง หรือขนาดเล็ก ซึ่งคณะกรรมการทั้ง 2 ชุดจะพิจารณาความจำเป็นที่เหมาะสมต่อไป

ส่วนวงเงินงบประมาณที่จะใช้ในการฟื้นฟูนั้น วันนี้ยังไม่มีการหารือในที่ประชุม แต่เชื่อว่าต้องใช้เม็ดเงินนับแสนล้านบาทตามที่เคยประเมินไว้ อย่างไรก็ดี ในระยะสั้น กยน.ต้องหามาตรการป้องกันปัญหาอุทกภัยก่อนที่ฤดูฝนปีหน้าจะมาถึง ขณะที่ระยะยาวจำเป็นต้องว่าจ้างที่ปรึกษาจากต่างประเทศเพื่อเข้ามามีส่วนร่วมวางกลยุทธ์ ซึ่งส่วนตัวแล้วเห็นว่าไจก้ามีความเหมาะสม เพราะได้เข้ามามีส่วนช่วยตั้งแต่เริ่มแรก
กำลังโหลดความคิดเห็น