ประธาน ส.อ.ท.ชี้อุตฯ ของขวัญ-ของชำร่วย หดตัว 20% ยอมรับพิษอุทกภัยทำคนไทยหมดอารมณ์ชอป เพราะต้องเก็บเงินไว้ซ่อมแซมบ้านเรือนหลังน้ำลด คาดเทศกาล คริสต์มาส-ปีใหม่ งานกร่อย แต่มั่นใจคนไทยจะดิ้นรนซื้อของขวัญให้กันจนได้
นายจิรบูลย์ วิทยสิงห์ ประธานกิตติมศักดิ์ สมาคมของขวัญและของชำร่วย และกรรมการสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยถึงแนวโน้มการซื้อของขวัญในช่วงปีใหม่นี้ โดยประเมินว่า ยอดขายน่าจะลดลงประมาณ 20% เนื่องจากคนไทยประสบภัยน้ำท่วมทำให้หมดอารมณ์ซื้อของขวัญ
ขณะเดียวกัน พฤติกรรมการซื้อของขวัญเปลี่ยนไปจากเดิมที่เริ่มซื้อกันตั้งแต่เดือนตุลาคม ก็ล่าช้า มาเป็นพฤศจิกายนและธันวาคมแทน สำหรับกระแสการ ซื้อของขวัญในช่วงวันคริสต์มาส และปีใหม่ 2555 คาดว่า จะเป็นข้าวของเครื่องใช้และที่กำลังอินเทรนด์ขณะนี้คือสินค้าต้อนรับฤดูหนาวต่างๆ
“แต่ถึงแม้น้ำท่วมจะกระทบความรู้สึกคนไทยให้หมดอารมณ์ชอปของขวัญ และผู้บริโภคยังต้องเก็บเงินไว้ซ่อมแซมบ้านเรือนหลังน้ำลดอีก ยิ่งทำให้การตัดสินใจซื้อของขวัญปีนี้ต้องรอบคอบไม่ซื้อของฟุ่มเฟือยเน้นซื้อของมีประโยชน์ใช้สอยได้เป็นหลัก แต่เชื่อว่าในหนึ่งปีจะมีเทศกาลมอบของขวัญให้กันเพียงปีละครั้ง คนก็จะดิ้นรนซื้อของขวัญจนได้ เพราะดูจากที่เราผ่านเหตุการณ์ ทั้งเสื้อแดง เสื้อเหลือง วิกฤตเศรษฐกิจต่างๆ คนก็ยังซื้อของขวัญ เพราะเป็นวัฒนธรรมแค่ปรับพฤติกรรมซื้อช้าลง ซึ่งตอนนี้ก็เริ่มเห็นออเดอร์สั่งซื้อกันแล้ว”
นอกจากนี้ น้ำท่วมยังส่งผลกระทบต่อการผลิตอุตสาหกรรมสินค้าไลฟ์สไตล์ที่ประกอบด้วยของขวัญและของชำร่วย ของแต่งบ้านต่างๆ เป็นต้น ที่มีอยู่ราว 3,000 ราย มีแรงงานในระบบราว 3.8 แสน ไม่สามารถผลิตสินค้าได้เนื่องจากอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่อง (ซัปพลายเชน) ไม่สามารถป้อนวัตถุดิบให้ได้ หรือแม้จะมีการผลิตสินค้าแล้วก็ขาดแคลนกล่องบรรจุภัณฑ์กระดาษ เพราะโรงงานถูกน้ำท่วมไปแล้ว จากสถานการณ์ดังกล่าวได้ส่งผลกระทบต่อสภาพคล่องของผู้ประกอบการ ที่ส่วนใหญ่เป็นผู้ผลิตขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) หากรัฐบาลไม่มีการช่วยเหลือโดยเฉพาะเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำคาดว่าจะทำให้มีการปิดกิจการล้มตายจำนวนมาก
นอกจากนี้ อุตสาหกรรมของขวัญของชำร่วยและสินค้าไลฟ์สไตล์ที่เป็นตลาดส่งออกยังได้รับผลกระทบจากคำสั่งซื้อ (ออเดอร์) ในต่างประเทศซึ่งติดลบ 1% โดยเฉพาะสหรัฐฯ ที่เป็นตลาดใหญ่สัดส่วน 28% ตามด้วยญี่ปุ่นประมาณ 15% มีเพียงตลาดในสหภาพยุโรป (อียู) ที่มีออเดอร์ขยายตัวสูงถึง 30% ตลาด ดังกล่าวมีการส่งออกราว 15% โดยทั้งปีคาดว่าการ ส่งออกสินค้าไลฟ์สไตล์ ของขวัญของชำร่วยจะมีมูลค่าราว 95,000 ล้านบาท เติบโตเพียง 5% เท่านั้นต่ำกว่าเป้าที่ตั้งไว้ 8% ส่วนตลาดในประเทศมีมูลค่าราว 40,000 ล้านบาท
“การส่งออกสินค้าไลฟ์สไตล์และของชำร่วย 3 ไตรมาส เติบโต 5% โดยมีตลาดยุโรปที่ช่วยพยุงยอดไว้ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะหนีจากการสั่งซื้อสินค้าจากจีนที่ไม่มีคุณภาพ ขณะที่ตลาดอาเซียนบวก 3 และอาเซียนบวก 6 ก็ขยายตัวดี แต่สิ่งที่น่าเป็นห่วง คือ ผู้ผลิตต้องส่งออกสินค้าล่าช้าจนต้องถูกปรับ เพราะจากน้ำท่วม กระทบต่อซัปพลายเชนที่เป็นผู้ผลิตในประเทศถึง 70% เมื่อเรามีกำไรก็เอามาจ่ายค่าปรับแทน ซึ่งที่คาดการณ์ส่งออกไตรมาส 4 ราว 20,000 ล้าน แต่รายได้กลับหายไป 1,000 ล้านบาท ทำให้ผู้ผลิตบางรายต้องไปจ้างให้เวียดนาม อินเดียผลิตแทน เพื่อรักษาฐานลูกค้าไว้”
ทั้งนี้ จากแนวโน้มอุตสาหกรรมของขวัญ ที่ขยายตัวต่อเนื่อง ส.อ.ท.จะจัดตั้งกลุ่มอุตสาหกรรมผู้ผลิตของขวัญขึ้น โดยคาดว่า ภายใน 2-3 เดือน จึงจะดำเนินการเรียบร้อย ซึ่งจะมาทำหน้าที่ผลักดันอุตสาหกรรมให้ขยายตัวในภูมิภาคอาเซียนและหามาตรการ ที่ไม่ใช่ภาษีเพื่อป้องกันสินค้าจีนมาตีตลาด ต่อไป