xs
xsm
sm
md
lg

12ยักษ์เอกชนจับมือตั้งกองทุน “พลังน้ำใจไทย” ระดม100ล.ซับน้ำท่วม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

กลุ่มทุนเอกชน 12 บริษัท รวมกันตั้ง โครงการ “พลังน้ำใจไทย” หวังระดมทุนก้อนแรก 100 ล้านบาท ช่วยฟื้นฟูเหยื่อน้ำท่วมใหญ่

นายฐาปน สิริวัฒนภักดี กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ได้ร่วมมือกับภาคเอกชนจำนวนรวม 12 องค์กร เพื่อจัดตั้งโครงการฟื้นฟูประเทศ ภายใต้โครงการ “พลังน้ำใจไทย / POWER OF THAI) ซึ่งประกอบด้วย 1. ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) 2. บริษัท จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ จำกัด (มหาชน) 3. บริษัท กลุ่มเซ็นทรัล จำกัด 4. บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด(มหาชน) ในเครือเจริญโภคภัณฑ์ 5. บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) 6. บริษัท ไทยยูเนี่ยน โฟรเซ่น โปรดักส์ จำกัด (มหาชน) 7. บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) 8. กลุ่มมิตรผล 9. บริษัท เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ กรุ้ป จำกัด (มหาชน) 10. บริษัท เมืองไทยประกันชีวิต จำกัด 11. บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) 12. บริษัท ไอ.ซี.ซี. อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) ในเครือสหพัฒน์

อย่างไรก็ตามยังคงเปิดรับให้บริษัทอื่นๆ เข้ามาร่วมเป็นภาคีของโครงการด้วย ซึ่งโครงการนี้เริ่มแล้ว และตั้งเป้าหมายสรุปผลการระดมทุนถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2555 โดยจะมีตัวแทนจากทุกหน่วยเข้ามาดูแลบริหารจัดการกองทุนนี้

ทั้งนี้ความร่วมมือดังกล่าวจะมี 2 แนวทางคือ 1.การระดมทุน ซึ่งมีได้ 2 รูปแบบคือ 1.1 Seeding Fund คือทุนเริ่มแรกจะมีการจัดหามาจากแต่ละองค์กรเพื่อสามารถนำมาเป็นทุนในการระดมทุนในกิจกรรมอื่นต่อไป เบื้องต้นมองว่าจะทำริสต์แบนด์ (Wristband) จำนวน 1 ล้านชิ้น ออกจำหน่ายราคา ชิ้นละ 100 บาท รวมเป็นเงิน 100 ล้านบาท โดยไม่หักค่าใช้จ่าย และ 1.2 การระดมทุนโดยการออกผลิตภัณฑ์พิเศษสำหรับโครงการ “พลังน้ำใจไทย” โดยแต่ละองค์กรจะไปจัดกิจกรรมหรือสินค้าเพื่อจำหน่ายด้วยสัญลักษณ์ “พลังน้ำใจไทย” โดยนำรายได้ส่วนหนึ่งหรือทั้งหมดเข้าร่วมในกองทุนนี้ รวมถึงการระดมทุนในรูปแบบอื่นต่อไป

แนวทางที่ 2. Share Synergy คือนอกจากการระดมทุนแล้วยังมีการฟื้นฟูประเทศภายหลังน้ำลด คือการร่วมมือในกิจกรรมช่วยเหลือผู้ประสบภัยในบางองค์กรที่ดำเนินการอยู่ ให้เติมเต็มในกิจกรรมการช่วยเหลือ เช่นบางรายเก่งด้านโลจิสติกส์ บางรายเก่งด้านการจัดบันเทิง บางรายเก่งด้านการสื่อสาร เป็นต้น

ในเบื้องต้นนี้กลุ่มภาคีมองไปที่เรื่องของการศึกษาก่อนเพราะเป็นพื้นฐานของการพัฒนาประเทศ เพราะมีโรงเรียนจำนวนมากที่ได้รับผลกระทบจากภัยน้ำท่วมใหญ่ครั้งนี้ จากที่ภาครัฐประมาณการ 2 ,000 กว่าแห่ง โดยคาดว่าต้องใช้งบฟื้นฟูระหว่าง 600-1,000 ล้านบาท ซึ่งบางครั้งการรองบประมาณจากภาครัฐก็อาจจะช้าไป

นายฐาปนกล่าวต่อว่า อุทกภัยร้ายแรงแบบนี้เราไม่เคยเจอกันมาก่อน แต่ครั้งนี้ทำให้ทุกคนต้องปรับตัว และต้องฟื้นให้เร็วที่สุด ซึ่งคาดว่าในปีหน้าการขยายตัวทางเศรษฐกิจก็น่าจะยังมีอยู่ เพราะต้องมีการฟื้นฟู มีการปลูกสร้างและซ่อมแซมอาคารบ้านเรือนต่างๆที่ได้รับความเสียหาย แต่อยู่ที่ว่าจะฟื้นช้าหรือเร็วเท่านั้น

ประสบการณ์ครั้งนี้ทุกธุรกิจต้องตั้งหลัก ต้องมีวิธีการบริหารจัดการที่ดี ทำให้เราเรียนรู้ว่า การฟป้องกันภัยพิบัติ ต้องมีการกระจายความเสี่ยง เช่นต้องสร้างแหล่งผลิตหลายที่ไม่ใช่อยู่ในที่เดียวกันหมด การทำประกันวินาศภัยที่รัดกุม

นายสุทธิธรรม จิราธิวัฒน์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท กลุ่มเซ็นทรัล กล่าวว่า ช่วงหลังน้ำลดลงบริษัทฯจะดำเนินการขั้นตอนสุดท้ายคือ ฟื้นฟู ด้วยการมุ่งเน้นพัฒนาอาชีพตามหลักเศรษฐกิจพอเพียง ฟื้นฟูคุณภาพชีวิต ที่อยู่อาศัย อุปกรณ์เครื่องใช้ภายในบ้าน โรงเรียน และวัด เพื่อให้การดำเนินงานเป็นไปอย่างมีรุปธรรมชัดเจน ทั้งสอนอาชีพจากพนักงานจิตอาสาที่เชี่ยวชาญในด้านต่างๆ ของบริษัทในเครือให้ผู้ประสบภัยในศูนย์อพยพฯ เพื่อเตรียมความพร้อมผู้ประสบอุทกภัยในการกลับไปประกอบอาชีพหลังน้ำลด
กำลังโหลดความคิดเห็น