“สุกำพล” เดินหน้าแก้ปัญหาโรงแรมสุวรรณภูมิ สั่งถกด่วน 3 หน่วยงาน เร่งแก้ปัญหาขาดทุน เล็งทบทวนสัญญาจ้าง “ยูเอช กรุ๊ป” พร้อมปรับแนวทางสร้างรายได้ใหม่ “ชัจจ์” สั่ง ร.ฟ.ท.สรุปขนาดรางรถไฟความเร็วสูงใน 1 เดือน
พล.อ.อ.สุกำพล สุวรรทัต รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า ขณะนี้ได้สั่งการให้บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท.บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) และธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็น 3 ผู้ถือหุ้นบริษัทโรงแรมท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ และผู้บริหารโรงแรมโนโวเทลสุวรรณภูมิ ประชุมร่วมกัน เพื่อแก้ปัญหาการขาดทุนของโรงแรมโดยเร็วที่สุด
“ผมจะเร่งแก้ปัญหาขาดทุนของโรงแรมโนโวเทลสุวรรณภูมิให้เร็วที่สุด ช้าไม่ได้ ถือเป็นนโยบายของรัฐบาลที่ต้องแก้ปัญหาขาดทุนของรัฐวิสาหกิจ เท่าที่ทราบเบื้องต้นพบว่าการแก้ปัญหาใช้เงินไม่มาก แต่จะทำอย่างไรผู้ถือหุ้นจะต้องไปพิจารณา รวมทั้งดูว่าการขาดทุนเกิดจากอะไร ทำไมโรงแรมอมารี ดอนเมือง จึงมีกำไร”
ส่วนปัญหาการว่าจ้างกลุ่มกิจการร่วมค้า ยูนิเวอร์แซล ฮอสพิแทลลิที หรือ ยูเอช กรุ๊ป ผู้รับจ้างบริหารโรงแรมในอัตราสูง จะปรับเปลี่ยนสัญญาว่าจ้างหรือไม่นั้น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมระบุว่า มีแนวทางอยู่ในใจแล้ว ซึ่งเบื้องต้นพบว่า การแก้ปัญหานั้นใช้เงินไม่มาก โดยต้องดูว่าการขาดทุนเกิดจากอะไร ทำไมโรงแรม อมารี ดอนเมืองจึงมีกำไร
ด้าน นายสุพจน์ ทรัพย์ล้อม ปลัดกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า จะต้องพิจารณารายละเอียดสัญญาว่าจ้างบริหารโรงแรมที่ผ่านมา ว่า อาจไม่เหมาะสม หรืออาจมีการทบทวนสัญญา เพราะเดิมไม่มีการประกันรายได้ขั้นต่ำ ขณะที่ต้องไปทบทวนค่าบริการห้องพักที่สูงกว่าโรงแรมทั่วไป ทำให้ไม่สามารถแข่งขันได้ รวมทั้งหาแนวทางบริหารงานและการสร้างรายได้เชิงพาณิชย์ เช่นแบ่งพื้นที่เป็นสำนักงานของสายการบิน เพื่อลดความแออัดจากสนามบินสุวรรณภูมิ พร้อมมอบหมาย ทอท.ให้พิจารณาคัดเลือกตัวแทนเข้าไปเป็นกรรมการในบริษัทโรงแรมท่าอากาศยานสุวรรรภูมิ รวมทั้งต้องจัดหานักการตลาดหรือนักบริหารมืออาชีพเข้าไปร่วมบริหารงาน เพื่อสร้างรายได้เพิ่มขึ้น
ขณะที่ พล.ต.ท.ชัจจ์ กุลดิลก รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวภายหลังประชุมร่วมผู้บริหารการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) และสำนักนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) เพื่อกำหนดกรอบการพัฒนารถไฟความเร็วสูง ถึงการก่อสร้างรางที่จะใช้ในระบบรถไฟความเร็วสูง ซึ่งจะใช้รางขนาด 1.435 เมตร (สแตนดาร์ดเกจ) หรือขนาดรางรถไฟ ที่ปัจจุบัน ร.ฟ.ท.ใช้ขนาด 1 เมตร
โดยหลังจากนี้ 1 เดือน ให้ ร.ฟ.ท.กลับไปสรุปแนวทางและรายงานกระทรวงคมนาคม ว่า การก่อสร้างทางเทคนิคในขนาดราง 1.435 เมตร จะสามารถใช้ประโยชน์ในการรองรับ ทั้งขนส่งผู้โดยสารและขนส่งสินค้าได้หรือไม่ เนื่องจากกระทรวงคมนาคมพิจารณา ว่า ในอนาคต การขนส่งสินค้าจะเชื่อมโยงระหว่างไทยกับจีน โดยจีนนำสินค้ามาลงท่าเรือแหลมฉบัง จะทำให้ระบบโลจิสติกส์ของประเทศมีประสิทธิภาพมากขึ้น แต่ทั้งนี้ ต้องรอความชัดเจนจาก ร.ฟ.ท.
ส่วนการใช้งบประมาณนั้น รัฐบาลชุดที่ผ่านมากำหนดกรอบพัฒนารถไฟรางคู่ และปรับปรุงรางทั่วประเทศ ประมาณ 176,000 ล้านบาท ถือว่าสูงเกินไป หากปรับลดวงเงินได้ 3-4 หมื่นล้านบาท จะเป็นที่น่าพอใจ