xs
xsm
sm
md
lg

ชงอัด 3 หมื่นล้าน “รถคันแรก” ดันยอดขาย 5 แสนคัน ไฟฟ้าฟรีเหลือ 65 หน่วย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


คาดใช้งบ 3 หมื่นล้าน ดันนโยบายรถคันแรก โดยคืนภาษีคันละ 1 แสนบาท คาดปลุกยอดขาย 5 แสนคัน เตรียมนำเข้า ครม.วันนี้ พร้อมเคาะเงื่อนไขผู้ซื้อ และสเปกรถยนต์ ส้มหล่นเครื่องยนต์ไม่เกิน 1,500 ซีซี และรถกระบะ แต่ถ้าเปลี่ยนมือภายใน 5 ปี มีสิทธิ์ถูกเรียกเงินคืน “เรกูเลเตอร์” เตรียมชงเคาะลดใช้ไฟฟ้าฟรีเหลือ 65 หน่วย ลดภาระรัฐเหลือ 300 ล้านบาทต่อเดือน เพราะเป็นคนจนตัวจริง พร้อมเสนอให้ใช้งบอุดหนุนเพื่อสนองนโยบาย หวั่นเอกชนฟ้องร้อง

รายงานข่าวจากทำเนียบรัฐบาล เปิดเผยว่า ในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 13 กันยายน 2554 นี้ จะมีการพิจารณาเรื่องการคืนเงินสำหรับรถยนต์คันแรก ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ พร้อมอนุมัติเงินงบประมาณ ประจำปี 2556 จำนวน 30,000 ล้านบาท เพื่อคืนเงินสำหรับรถยนต์คันแรกเท่ากับภาษีตามที่จ่ายจริง แต่ไม่เกินคันละ 1 แสนบาท รวมทั้งจัดสรรเงินงบประมาณปี 2555 อีก 100 ล้านบาท เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินการ

นอกจากนี้ ยังเตรียมอนุมัติเป็นหลักการให้อธิบดีกรมสรรพสามิต หรือผู้ที่อธิบดีมอบหมายมีอำนาจอนุมัติให้คืนเงินสำหรับรถยนต์คันแรกให้กับผู้ซื้อ รวมทั้งมอบหมายให้กรมการขนส่งทางบก กระทรวงคมนาคม ให้ความร่วมมือกับกรมสรรพสามิตในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการแสดงหลักฐานการครอบครองรถยนต์คันแรก การบันทึกข้อมูลห้ามจำหน่ายโอนรถยนต์ภายใน 5 ปี ตามมาตรการของรัฐบาล

สำหรับหลักเกณฑ์การคืนเงินสำหรับรถยนต์คันแรกที่สำคัญ ดังนี้คือ ต้องเป็น 1.เป็นรถยนต์คันแรกของผู้ซื้อที่ซื้อตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2554 จนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2555 2.เป็นรถยนต์ราคาขายปลีกไม่เกิน 1,000,000 บาทต่อคัน 3.เป็นรถยนต์นั่ง ขนาดความจุกระบอกสูบไม่เกิน 1,500 ลูกบาศก์เซนติเมตร รถยนต์กระบะ (Pick up) รถยนต์นั่งกึ่งบรรทุก (Double Cab)

4.เป็นรถยนต์ที่ผลิตขึ้นในประเทศ ไม่รวมถึงรถยนต์ที่ประกอบจากชิ้นส่วนนำเข้าใช้แล้วจากต่างประเทศ (รถยนต์จดประกอบ) 5.คืนเงินเท่ากับค่าภาษีตามที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 100,000 บาทต่อคัน 6.ผู้ซื้อต้องมีอายุ 21 ปีบริบูรณ์ขึ้นไป 7.ผู้ซื้อต้องครอบครองรถยนต์ไม่น้อยกว่า 5 และ 8. การคืนเงินจะคืนให้เมื่อครอบครองรถยนต์ 1 ปี ไปแล้ว (เริ่มจ่ายคืนให้ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2555 เป็นต้นไป)

ส่วนวิธีการดำเนินงานนั้นกำหนดให้ 1.ผู้ซื้อรถยนต์ดังกล่าวตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2554 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2555 ต้องยื่นคำขอคืนเงินกับกรมสรรพสามิตหรือสำนักงานสรรพสามิตพื้นที่ พร้อมเอกสารหลักฐาน ดังนี้ หนังสือยินยอมสละสิทธิ์การโอนภายใน 5 ปี สำเนาบัตรประชาชนและทะเบียนบ้านของผู้ซื้อ สำเนาหนังสือสัญญาเช่าซื้อ (ในกรณีเช่าซื้อ) 2.กรมสรรพสามิตหรือสำนักงานสรรพสามิตพื้นที่มีหนังสือถึงกรมการขนส่งทางบก หรือสำนักงานขนส่งจังหวัด เพื่อขอให้ตรวจสอบการครอบครองรถยนต์คันแรก และแจ้งการสละสิทธิ์การโอนภายใน 5 ปีของผู้ซื้อ

3.กรมการขนส่งทางบกหรือสำนักงานขนส่งจังหวัดตรวจสอบและบันทึก “ห้ามโอนภายใน 5 ปี” ลงในระบบคอมพิวเตอร์และในสมุดคู่มือการจดทะเบียน 4. กรมการขนส่งทางบกหรือสำนักงานขนส่งจังหวัด ส่งหนังสือรับรองการครอบครองรถยนต์คันแรก และสำเนาคู่มือการจดทะเบียนที่บันทึก “ห้ามโอนภายใน 5 ปี” ให้กรมสรรพสามิตหรือสำนักงานสรรพสามิตพื้นที่ และ 5. กรมสรรพสามิตหรือสำนักงานสรรพสามิตพื้นที่ตรวจสอบเอกสารหลักฐานต่างๆ และสั่งจ่ายเช็คให้แก่ผู้ซื้อตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2555 เป็นต้นไป

ด้านรายงานข่าวจากคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (เรกูเลเตอร์) เปิดเผยว่า ในวันที่ 16 กันยายน 2554 นี้ นายพิชัย นริพทะพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ได้เรียกเรกูเลเตอร์มาหารือเกี่ยวกับโครงสร้างค่าไฟฟ้าใหม่ โดยเฉพาะนโยบายใช้ไฟฟ้าฟรีไม่เกิน 90 หน่วย ซึ่งเรกูเลเตอร์จะเสนอทางเลือกให้รัฐบาลพิจารณา 3 แนวทาง คือ การปรับลดการใช้ ไฟฟ้าฟรีเหลือ 45 หน่วย หรืออาจเป็น 65 หน่วย และคงเดิมที่ 90 หน่วย

โดยเบื้องต้นคาดว่า จะเสนอให้รัฐบาลเลือกแนวทางใช้ไฟฟ้าฟรี ไม่เกิน 65 หน่วย เพราะจากฐานข้อมูลรายได้ของสำนักงานคณะกรรมการ พัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) และสำนักงาน สถิติแห่งชาติที่สำรวจระดับความยากจนระบุว่า ผู้มีรายได้น้อยไม่เกิน 5,000 บาทต่อครัวเรือน มีการใช้ไฟฟ้าไม่เกิน 65 หน่วย

นอกจากนี้ อาจจะเสนอให้ใช้งบประมาณในการอุดหนุนนโยบาย ดังกล่าว 4 แนวทาง ได้แก่ 1.คิดรวมในค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ (เอฟที) เพื่อให้ทุกภาคส่วนช่วยกันรับภาระ 2.ให้ภาคอุตสาหกรรมรับภาระเหมือนเดิม 3.ให้การไฟฟ้าทั้ง 3 หน่วยงานทั้งการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) รับภาระ และ 4.เสนอให้ของบประมาณแผ่นดินมาใช้ดำเนินการ เพราะถือเป็นนโยบายของภาครัฐที่จะดูแลผู้ด้อยโอกาส จึงไม่ควรผลักภาระดังกล่าวให้ผู้อื่น เพราะอาจถูกฟ้องร้องได้

สำหรับงบประมาณที่คาดว่าจะใช้ในการอุดหนุนใช้ไฟฟ้าฟรีไม่เกิน 65 หน่วย จะอยู่ที่ 300 ล้านบาทต่อเดือน หรือราว 3,000 ล้านบาทต่อปี จากเดิมใช้ไฟฟ้าไม่เกิน 90 หน่วย ใช้งบประมาณราว 12,000 ล้านบาทต่อปี และมีผู้ได้รับประโยชน์ราว 7.9 ล้านครัวเรือน

ทั้งนี้ การทบทวนนโยบายช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยโดยลดการใช้ ไฟฟ้าฟรีเหลือ 65 หน่วย ไม่ใช่กังวลจะถูกฟ้องร้อง เรื่องนี้เรกูเลเตอร์ ก็ได้คัดค้านแต่แรกแล้ว แต่เพราะเป็น นโยบายรัฐบาลจึงต้องดำเนินการตาม ขณะที่การลดให้ใช้ไฟฟรีเหลือ 65 หน่วย ถือเป็นทางเลือกที่ดีที่สุด เพราะเรกูเลเตอร์มีหน้าที่ดูแลผู้ที่มีรายได้น้อยและด้อยโอกาส ขณะที่การใช้ไฟฟ้าฟรีไม่เกิน 90 หน่วยนั้น จะกระตุ้นให้คนใช้ไฟฟ้า มากขึ้น และกลุ่มนี้ก็ไม่ใช่คนด้อยโอกาสจริงๆ และหากคนกลุ่มนี้มีรายได้เพิ่มก็จะส่งผลต่อการใช้ไฟฟ้าก้าวกระโดด เป็น 2 เท่า หรือ ระดับ 120 หน่วย

โดยในช่วงเดือนกรกฎาคม 2554 ที่ผ่านมา มีการเก็บเงินจากประเภทกิจการขนาดเล็กไปจนถึงขนาดใหญ่ กิจการเฉพาะอย่าง และส่วนราชการได้ ที่มีการใช้ไฟฟ้าในปริมาณ 8,853 ล้านหน่วย เพื่อนำไปอุดหนุนค่าไฟฟ้าให้กับผู้ใช้ไฟฟ้าไม่เกิน 90 หน่วยต่อเดือนได้ 1,062 ล้านบาท ต่อเดือน ปัจจุบันมีผู้ได้รับประโยชน์ จากนโยบายนี้ราว 7.949 ล้านราย อยู่ในเขตความรับผิดชอบของกฟน.ราว 2.8 แสนราย และ กฟภ.ราว 7.669 ล้านราย

ส่วนการที่กลุ่มผู้ประกอบการอุตสาหกรรมจะทำการฟ้อง กกพ.นั้น ถือเป็นสิทธิ์ของภาคอุตสาหกรรมที่จะดำเนินการ โดย กกพ.เองได้ดำเนินงานตามมติคณะรัฐมนตรีชุดที่แล้ว หากไม่ดำเนินการ จะถือว่าเป็นการละเว้นปฏิบัติหน้าที่ได้

นายดิเรก ลาวัณย์ศิริ ประธานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (เรกูเลเตอร์) กล่าวว่า เรกูเลเตอร์จะเสนอ 3 แนวทางให้ รมว.พลังงานพิจารณา คือลดการใช้ไฟฟ้าฟรีเหลือ 90 หน่วย ซึ่งเป็นผู้มีรายได้ราว 10,000 บาทต่อครัวเรือน ลดเหลือ 65 หน่วย สำหรับผู้มีรายได้ราว 5,000 บาทต่อครัวเรือน และลดเหลือ 45 หน่วย สำหรับผู้มีรายได้ 3,000 บาทต่อครัวเรือน

“หาก รมว.พลังงาน เลือกให้ลดใช้ไฟฟ้าฟรีเหลือ 65 หน่วย จะช่วยลดภาระชดเชยค่าไฟฟ้าได้ 30% ซึ่งถ้ารัฐบาลเลือกแล้ว ก็จะมีการเสนอในที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) พิจารณาเห็นชอบต่อไป” นายดิเรก กล่าวสรุป
กำลังโหลดความคิดเห็น