“พาณิชย์” ปลื้มสินค้า 5 รายการยอมหั่นราคา เล็งคิวต่อไป น้ำมันปาล์ม นม น้ำตาลทราย เครื่องดื่ม เนื้อสัตว์ เตรียมปรับลง ขณะที่ผู้ผลิตแฉ สาเหตุที่สินค้าปรับราคาลงไม่ได้ เกิดจากภาคขนส่งผลักภาระให้ เพราะมีต้นทุนจ่ายส่วย เจอด่านรีดไถ
นายภูมิ สาระผล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยผลการประชุมร่วมกับผู้ประกอบการสินค้าประมาณ 200 ราย เมื่อวันที่ 5 กันยายน 2554 ซึ่งมีผลตอบรับที่น่าพอใจ โดยผู้ประกอบการยินดีให้ความร่วมมือกับกระทรวงพาณิชย์ในการปรับลดราคาสินค้า เบื้องต้นมี 5 รายการ ได้แก่ ปูน กระเบื้อง ปุ๋ย เครื่องปั๊มน้ำ และแป้งสาลี ลดราคาตั้งแต่ 0.55-13.88% เพื่อให้การช่วยเหลือประชาชนตามนโยบายรัฐบาลที่ต้องการลดรายจ่ายในส่วนการซื้อหาสินค้า หลังจากที่ได้ดูแลในเรื่องราคาน้ำมันไปแล้ว
นายภูมิ กล่าวถึงแผนในระยะต่อไป เตรียมเข้าไปดูแลสินค้าในกลุ่มอื่นๆ หากต้นทุนปรับลดลง ก็จะขอความร่วมมือให้ปรับลดราคา โดยสินค้าที่จะมีการติดตามสถานการณ์และคาดว่าจะมีการปรับลดราคาได้ เช่น น้ำมันพืช เครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ นมและผลิตภัณฑ์ และน้ำตาล โดยกรมการค้าภายในจะเชิญให้ผู้ที่เกี่ยวข้องมาหารือเพื่อประเมินสถานการณ์ต้นทุนอีกครั้ง
นายภูมิ กล่าวว่า ผลจากการปรับลดราคาน้ำมันดีเซล ส่วนใหญ่ทำให้ต้นทุนการขนส่งลดลง โดยมีสัดส่วน 30-35% ของค่าขนส่ง ซึ่งได้ส่งผลในเรื่องของการปรับลดค่าโดยสารไปแล้ว แต่ในส่วนที่เป็นต้นทุนต่อสินค้า มีสัดส่วนแค่ 1-3% ของราคาสินค้า และขึ้นอยู่กับประเภทสินค้า ซึ่งผลการศึกษาพบว่า มีสินค้าเพียง 73 รายการ ที่มีต้นทุนลดลงจากราคาน้ำมันที่ลดลง และลดลงเป็นหลักบาทและเศษสตางค์เท่านั้น
ด้าน นายยรรยง พวงราช ปลัดกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า ในส่วนของกระทรวงพาณิชย์ จะมีการติดตามสินค้าในกลุ่มอื่นๆ เพื่อขอความร่วมมือในการปรับลดราคาต่อไป ซึ่งกำลังจับตาในกลุ่มเนื้อสัตว์ที่มีแนวโน้มที่จะปรับลดราคาลงได้อีก
รายงานข่าวเพิ่มเติมระบุว่า ในการประชุมหารือครั้งนี้ ผู้ประกอบการได้ชี้แจงเหตุผลที่ไม่สามารถปรับลดราคาสินค้าลงมาได้ หลังจากที่ต้นทุนภาคการขนส่งปรับลดลงจากราคาน้ำมันดีเซลที่ลดลง โดยระบุว่า เป็นเพราะผู้ประกอบการขนส่งได้ผลักภาระการขนส่งสินค้าบางส่วนมาให้ หลังจากที่ผู้ประกอบการขนส่งต้องจ่ายค่าส่วยรถบรรทุกให้กับเจ้าหน้าที่ตำรวจ โดยยังคงต้องจ่ายเป็นรายเดือนแลกกับสติกเกอร์มาติดไว้หน้ารถ เพื่อป้องกันการถูกจับกุม ทำให้ไม่สามารถปรับลดราคาสินค้าจากต้นทุนน้ำมันที่ทำให้การขนส่งลดลงได้
นอกจากนี้ ยังพบว่า มีการจ่ายให้ด่านต่างๆ ซึ่งมีการตั้งจุดตรวจถี่มากในช่วงนี้ ซึ่งมีไม่น้อยที่ต้องจ่ายเพื่ออำนวยความสะดวก และยังพบว่า การตั้งด่านที่มีการออกใบสั่งเป็นต้นทุนแฝงที่สร้างภาระให้กับผู้ประกอบการ และเพิ่มภาระค่าครองชีพของประชาชน เพราะต้องการความสะดวก แลกกับการไม่ต้องโดนใบสั่ง เพราะหากมีการตรวจจับเอาผิดอย่างจริงจัง ก็คงผิดกฎหมายแทบทุกคัน