“นิด้า” แนะรัฐปรับยุทธศาสตร์การค้าการลงทุน หนุนภาคเอกชนเป็นหัวหอก ลดภาระลงทุนภาครัฐ สกัดหนี้สาธารณะพุ่ง พร้อมกระตุ้นการบริโภคภายในประเทศ เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจ เร่งขยายตลาดส่งออกไปยังจีน อินเดีย และแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ พร้อมหนุนรัฐลดภาษีนิติบุคคล ดึงนักลงทุนไทย-ต่างชาติ ชี้ ทิศทาง ศก.ครึ่งปีหลัง ไม่น่ากังวลเงเงินเฟ้อ เพราะราคาน้ำมันปรับตัวลดลง คาด ธปท.ขึ้นดอกเบี้ย 0.25%
นายมนตรี โสคติยานุรักษ์ ผู้อำนวยการหลักสูตรรัฐประศาสนศาสตรมหาบัณฑิต (MPA) คณะรัฐประศาสนศาสตร์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (NIDA) เปิดเผยว่า ท่ามกลางภาวะชะลอตัวลงของเศรษฐกิจโลก ซึ่งเป็นผลพวงจากวิกฤติเศรษฐกิจสหรัฐฯ และวิกฤติหนี้ในยุโรป ดังนั้น การขับเคลื่อนนโยบายเศรษฐกิจของรัฐบาลใหม่ภายใต้การนำของนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี จึงต้องปรับยุทธศาสตร์ด้านการค้าการลงทุนให้เหมาะกับสถานการณ์เศรษฐกิจโลกในปัจจุบัน โดยมองว่า ภาครัฐควรผลักดันให้ภาคเอกชนและภาคประชาชนเป็นหัวหอกขับเคลื่อนเศรษฐกิจแทนภาครัฐ เนื่องจากมีความกังวลว่า การก่อหนี้ของภาครัฐจะทำให้หนี้สาธารณะของไทยปรับตัวสูงขึ้น จนส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยในอนาคตได้
ทั้งนี้ จะเห็นว่า ในส่วนของนโยบายเพิ่มรายได้ให้กับภาคประชาชนและภาคเอกชน โดยการเพิ่มอัตราค่าแรงขั้นต่ำ การเพิ่มเงินเดือนปริญญาตรี 15,000 บาท และการจำนำพืชผลทางเกษตร เป็นนโยบายที่ทำให้ประชาชนมีรายได้ในการจับจ่ายใช้สอยเพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นจังหวะที่เหมาะสมที่นโยบายดังกล่าวจะเป็นแรงกระตุ้นการบริโภคภายในประเทศเพิ่มขึ้น ขณะที่ภาคเอกชนที่ใช้มาตรการลดภาษีนิติบุคคลลงเหลือ 23% ภายในปี 2555 และเหลือ 20% ภายในปี 2556 จะช่วยดึงการลงทุนจากภาคเอกชนไทยและชาวต่างชาติให้เพิ่มขึ้นด้วย ซึ่งจะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจไทยมากกว่า
“ตอนนี้หลายฝ่ายกังวลเรื่องการก่อหนี้ของภาครัฐ โดยเกรงว่า จะส่งผลต่อหนี้สาธารณะของไทยให้ปรับตัวสูงขึ้น จนกระทบต่อเสถียรภาพทางเศรษฐกิจไทยในอนาคต ดังนั้น รัฐบาลควรใช้โอกาสนี้ผลักดันภาคเอกชนและภาคประชาชนให้เป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจแทนการลงทุนจากภาครัฐ โดยรูปแบบอาจให้สัมปทานภาคเอกชนเป็นผู้ดำเนินการลงทุนก่อสร้างแทนภาครัฐ ซึ่งส่งผลดีต่อฐานะทางการคลังที่มีงบประมาณลงทุนที่จำกัด และส่งผลต่อเสถียรภาพทางเศรษฐกิจไทยได้เหมาะสมกับสถานการณ์เศรษฐกิจโลกในปัจจุบันมากกว่า”
ขณะที่นโยบายการค้าระหว่างประเทศนั้น รัฐบาลต้องปรับยุทธศาสตร์การส่งออก แล้วหันมาเน้นขยายตลาดส่งออกไปยังประเทศจีน อินเดียและประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่มีอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่ดีให้มากขึ้น ซึ่งประเทศเหล่านี้เป็นตลาดใหญ่ที่มีประชากรรวมกันกว่า 3,000 ล้านคน หรือคิดเป็น 50% ประชากรของโลก แทนการส่งออกไปยังสหรัฐอเมริกาและประเทศในยุโรปที่กำลังประสบปัญหาทางด้านเศรษฐกิจ โดยดูแลเสถียรภาพของค่าเงินบาทให้เหมาะสมต่อการส่งออก ตลอดจนลดอุปสรรคการค้า และเพิ่มขีดความสามารถการส่งออกของภาคเอกชนไทยให้ดียิ่งขึ้น
สำหรับตัวเลขอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยในปีนี้ น่าจะอยู่ในราว 4% ซึ่งถือเป็นอัตราที่เหมาะสมและไม่กระทบต่อกรอบอัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน ที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กำหนดไว้ที่ 0.5-3.0% มากนัก โดยเชื่อว่า ในช่วงครึ่งปีหลัง สถานการณ์เงินเฟ้อจะลดความรุนแรงลง หลังจากราคาน้ำมันปรับตัวลดลงจากภาวะเศรษฐกิจโลกที่อยู่ในภาวะชะลอตัว ส่งผลให้ต้นทุนด้านพลังงานซึ่งเป็นต้นทุนสำคัญของการผลิตลดลงตามไปด้วย อย่างไรก็ตาม หากสถานการณ์เงินเฟ้อยังมีความรุนแรงในครึ่งปีหลัง ก็เชื่อว่า ธปท.พร้อมที่จะใช้กลไกนโยบายทางการเงินเพื่อดูแลเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ โดยอาจพิจารณาปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีก 0.25% เพื่อดูแลอัตราเงินเฟ้อไม่ให้สูงมากเกินไป