หอการค้าฯ เผยดัชนีส่งออกเดือน พ.ค.ต่ำสุดในรอบ 8 เดือน พร้อมประเมิน ศก.โลก ราคาน้ำมัน ฉุดส่งออกครึ่งหลังชะลอตัว ขณะที่อุตสาหกรรมที่ต้องใช้แรงงาน อาจเจอผลกระทบ 2 เด้ง
นายอัทธ์ พิศาลวานิช ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยตัวเลขดัชนีนำการส่งออกในเดือนพฤษภาคม 2554 อยู่ที่ระดับ 100.52 ต่ำที่สุดในรอบ 8 เดือน ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2553 ที่ผ่านมา ส่งผลให้การส่งออกไตรมาสที่ 3 และไตรมาส 4 ในปีนี้ มีแนวโน้มชะลอตัวลง โดยคาดว่า ไตรมาสที่ 3 การส่งออกขยายตัวร้อยละ 14.7 ชะลอตัวจากไตรมาสที่ 2 ส่วนครึ่งปีหลัง คาดว่า การส่งออกจะมีมูลค่ากว่า 112,037 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือขยายตัวประมาณร้อยละ 9.5 ชะลอตัวลงจากครึ่งปีแรก ขยายตัวที่ร้อยละ 21.5
ปัจจัยสำคัญที่กระทบการส่งออกไตรมาสที่ 3 ได้แก่ การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะภาคการผลิตอุตสาหกรรมกลุ่มประเทศที่มีรายได้สูง และทิศทางราคาน้ำมันดิบ ที่ปรับขึ้นในช่วงครึ่งปีหลัง จะส่งผลต่อต้นทุนการผลิต การส่งออกของผู้ส่งออกไทย นอกจากนี้ ทิศทางค่าแรงสูงขึ้น จะกระทบต่อภาคส่งออกที่พึ่งพาแรงงานเป็นหลัก โดยเฉพาะสิ่งทอ ทำให้ไทยอาจเสียส่วนแบ่งตลาดให้กับเวียดนาม จีน อินเดีย และ บังกลาเทศ
ส่วนปัจจัยบวก ได้แก่ ราคาสินค้าเกษตรปรับขึ้น ส่งผลดีต่อการส่งออกสินค้ากลุ่มอาหารและเกษตร และทิศทางการขยายตัวของเศรษฐกิจในประเทศแถบเอเชีย ที่ขยายตัวขึ้นมาก
นอกจากนี้ หากรัฐบาลใหม่ปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำวันละ 300 บาท รวมถึงการขึ้นเงินเดือนระดับปริญญาตรีเป็น 15,000 บาท จะกระทบต้นทุนภาคแรงงานให้เพิ่มขึ้นร้อยละ 28 และทำให้ต้นทุนการผลิตรวมเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.88 จึงขอให้พิจารณาปรับแบบค่อยเป็นค่อยไป และควรปรับให้กับกลุ่มแรงงานที่มีประสิทธิภาพ เช่น กลุ่มเครื่องใช้ไฟฟ้า สิ่งทอ และอาหารก่อน