xs
xsm
sm
md
lg

ข้อเสนอร่วมทุนเดินรถสีม่วงมีปัญหา BMCL ส่อวืดเหตุเสนอแผนไม่ตรง TOR

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เผยข้อเสนอเดินรถไฟฟ้าสีม่วง BMCL ส่อปัญหาเหตุไม่ตรงกับ TOR กำหนด กรรมการมาตรา 13 พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ เสียงแตกหลังพบหัวข้อแผนบริหารความเสี่ยงไม่ชัด ขณะที่วงในระบุ TOR เขียนไม่เคลียร์ อาจต้องโหวตเพื่อหาข้อสรุป

แหล่งข่าวจากกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า การพิจารณาข้อเสนอด้านการลงทุนและผลตอบแทน (ข้อเสนอด้านการเงินการลงทุน) สัญญาที่ 4 การคัดเลือกเอกชนเข้าร่วมงานหรือดำเนินการในกิจการของรัฐ สัมปทานการลงทุน การจัดหาระบบรถไฟฟ้า การให้บริการการเดินรถไฟฟ้าและซ่อมบำรุงรักษา โครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงบางใหญ่-บางซื่อ (สถานีคลองบางไผ่-สถานีเตาปูน) ระยะทาง 23 กิโลเมตร รวม 16 สถานี ในรูปแบบ PPP Gross Cost ซึ่งบริษัท รถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BMCL เสนอราคาต่ำสุดที่ 93,475 ล้านบาทนั้น ขณะนี้ยังไม่ได้ข้อสรุป เนื่องจากมีประเด็นที่อาจะทำให้ข้อเสนอของ BMCL ไม่ครบตามเงื่อนไขที่ระบุไว้ใน TOR เนื่องจาก TOR กำหนดให้เสนอหัวข้อแผนการบริหารความเสี่ยง ในขณะที่ BMCL ระบุเพียงว่ามีแผนบริหารความเสี่ยงและใส่รวมไว้ในหัวข้ออื่นไม่ได้แยกหัวข้อออกมา

โดยกรณีดังกล่าวได้ส่งผลให้คณะกรรมการมาตรา 13 ตามพ.ร.บ.ว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมงานหรือดำเนินการในกิจการของรัฐ พ.ศ.2535 หรือ พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ 35 ที่มี นายชัยสิทธิ์ คุรุรัตน์ รองผู้ว่าการ (ฝ่ายวิศวกรรมและก่อสร้าง) การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) มีความเห็นแตกเป็น 2 ฝ่าย ทำให้ยังไม่สามารถพิจารณาข้อเสนอทางการเงินต่อไปได้
 
สาเหตุที่ทำให้คณะกรรมการมาตรา 13 มีความเห็นแตกต่างเนื่องจาก แม้ BMCL จะไม่มีรายละเอียดแผนบริหารความเสี่ยง แต่ก็มีการเขียนไว้ในข้อเสนอ ขณะที่พบว่าใน TOR เขียนหัวข้อดังกล่าวไว้ไม่ชัดเจน จึงต้องตีความว่าที่ BMCL เสนอมานั้นเป็นไปตาม TOR หรือไม่ อย่างไรก็ตาม มีการตั้งข้อสังเกตุว่า TOR ดังกล่าว กรรมการมาตรา 13 เป็นผู้เห็นชอบก่อนที่จะประกาศเชิญชวนเอกชน อย่างไรก็ตาม เป็นหน้าที่ของบริษัทที่ปรึกษาที่จะต้องให้ความกระจ่างในเรื่องดังกล่าวด้วย

ทั้งนี้ คณะกรรมการมาตรา 13 ฯ มีจำนวน 12 คน หากต้องโหวตจะต้องได้เสียง 2 ใน 3 หรือ 8 ใน 12 คน ซึ่งกลุ่มที่เห็นว่าข้อเสนอของ BMCL อาจไม่ตรงกับ TOR คือ กรรมการที่เป็นตัวแทนจากหน่วยงานราชการ เช่น สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.), สำนักงบประมาณ, กระทรวงการคลัง, กฤษฎีกา และอัยการสูงสุด
กำลังโหลดความคิดเห็น