xs
xsm
sm
md
lg

ส่งออก ชี้ นโยบายบาทแข็งรับได้ แต่ค่าเงินต้องนิ่ง-กำหนดกรอบให้ชัด

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


สภาผู้ส่งออก ชี้ นโยบายบาทแข็ง-ค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาท เอื้อกลุ่มทุนนอกขนาดใหญ่ แต่ส่งผลกระทบผู้ส่งออก อาหาร-เอสเอ็มอี พร้อมระบุ ค่าเงินบาทแข็งพอรับมือได้ แต่ต้อกำหนดกรอบให้ชัดและค่าเงินต้องนิ่ง

นายไพบูลย์ พลสุวรรณา ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย กล่าวถึงนโยบายด้านเศรษฐกิจของรัฐบาลใหม่ ซึ่งได้ประกาศนโยบายเงินบาทแข็งค่า และเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำเป็นวันละ 300 บาทนั้น ภาคเอกชนส่งออกเห็นว่า อาจส่งผลกระทบต่อผู้ส่งออกสินค้ากลุ่มที่ใช้วัตถุดิบในประเทศเป็นหลักมากโดยเฉพาะกลุ่มอาหาร ประมง ปศุสัตว์ และเกษตร เฟอร์นิเจอร์ รองเท้า รวมถึงกลุ่มสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม

ขณะที่กลุ่มทุนต่างชาติที่เข้ามาลงทุนในไทยส่วนใหญ่นำเข้าวัตถุดิบ หรือชิ้นส่วนสำเร็จรูปจากต่างประเทศ และใช้แรงงานในประเทศน้อย กลุ่มทุนต่างชาติเหล่านี้ จะไม่ได้รับกระทบแต่กลับได้ประโยชน์ และขณะนี้สินค้ากลุ่มทุนต่างชาติกลายเป็นสินค้าส่งออกหลักและมียอดส่งออกอันดับต้นๆ ของประเทศไปแล้ว อาทิ กลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ กลุ่มรถยนต์ เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม สภาผู้ส่งออกเห็นว่า นโยบายเงินบาทแข็งค่ายังพอปรับตัวรับมือได้ หากรัฐบาลประกาศกำหนดกรอบการแข็งค่าเงินบาทให้ชัดเจนว่าในช่วงระยะเวลาหนึ่ง เงินบาทจะแข็งค่าขึ้นไปได้สูงสุดเท่าใด เช่น รัฐบาลอาจกำหนดว่าเงินบาทจะแข็งค่าขึ้นได้กี่เปอร์เซ็นในรอบ 12 เดือนหรือ 1 ปี เหมือนกับประเทศที่พัฒนาแล้วทำอยู่ ซึ่งที่ผ่านมาประเทศสิงคโปร์ หรือสาธารณรัฐประชาชนจีน กำหนดชัดเจนว่า เงินจะแข็งค่าขึ้นไม่เกินร้อยละ 5 ภายในรอบ 1 ปี

ฉะนั้น หากรัฐบาลไทยทำในลักษณะนี้ได้ ก็จะช่วยผู้ส่งออกได้มากเพราะมีข้อมูลชัดเจน จึงสามารถกำหนดอัตราแลกเปลี่ยนที่ใช้คำนวณราคาสินค้าเพื่อนำไปตกลงกับผู้ซื้อในต่างประเทศได้อย่างชัดเจนตามกรอบค่าเงินที่รัฐบาลไทยกำหนดไว้ แต่ถ้าหากรัฐบาลไทยไม่มีการกำหนดกรอบการแข็งค่าของเงินบาทเอาไว้อย่างชัดเจน ผู้ส่งออกก็ไม่สามารถคำนวณราคาขายสินค้าที่จะชัดเจนได้เช่นกัน

ทั้งนี้ หากราคาขายสินค้าของไทยสูงเกินกว่าคู่แข่ง ผู้ซื้อในต่างประเทศก็จะเริ่มหันไปพิจารณาซื้อสินค้าจากคู่แข่งแทน แม้คุณภาพสินค้าต่ำกว่าไทยก็ตาม และเมื่อบวกกับค่าแรงขั้นต่ำที่จะเพิ่มขึ้นเป็นวันละ 300 บาทด้วยแล้ว เชื่อว่า ผู้ประกอบการไทยโดยเฉพาะวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) จะเดือดร้อนจากต้นทุนที่เพิ่มขึ้น และอาจเห็นบางกลุ่มประกาศหยุดกิจการชั่วคราวก็เป็นได้ เพราะช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ผู้ประกอบการขาดทุนเพื่อรักษาลูกค้าการจะได้กำไรเป็นเรื่องที่ทำได้ยากมาก

“ที่ผ่านมา ผู้ส่งออกไทยกำหนดราคาขายสินค้าโดยคิดอัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทอยู่ที่ 30 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ใช้อัตรานี้ เนื่องจากค่าเงินบาทค่อนข้างนิ่งในช่วง 5-6 เดือนที่ผ่านมา ฉะนั้นหากค่าเงินบาทเปลี่ยนแปลงผันผวนมากผู้ประกอบการไทยกลุ่มที่ใช้วัตถุดิบในประเทศมาก รวมถึงอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานเข้มข้น จะได้รับผลกระทบทั้งจากปัญหาเงินบาทแข็งค่าบวกกับต้นทุนที่เพิ่มขึ้นจากการเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำ”

นายไพบูลย์ กล่าวว่า นโยบายเงินบาทแข็งค่า หากมองภาพรวม จะพบว่า มีทั้งส่วนที่ส่งผลกระทบและได้ประโยชน์ โดยที่ได้ประโยชน์ คือ ช่วยให้การนำเข้าน้ำมันมีราคาถูกลงก็จริง แต่จริงเพียงส่วนเดียว อีกปัจจัยที่สำคัญ คือ ราคาน้ำมันขึ้นกับราคาตลาดโลก หากราคาตลาดโลกแพงราคาก็จะแพงตามไปด้วย
กำลังโหลดความคิดเห็น