พณ.สั่งทูตพาณิชย์จับตาค้าชายแดน หลังไทยถอนตัวจากภาคีมรดกโลก ด้านผู้ค้าชายแดนเริ่มกังวล พร้อมเกาะติดสถานการณ์ใกล้ชิด พ่อค้าเขมรยกเลิกระบบเครดิตเปลี่ยนเป็นเงินสดแทน
นางพรทิวา นาคาศัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ รายงานต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ถึงสถานการณ์การค้าชายแดนล่าสุด ภายหลังไทยถอนตัวออกจากภาคีในอนุสัญญามรดกโลก โดยยืนยันว่า ขณะนี้ การค้าระหว่าง 2 ประเทศ ยังไม่ได้รับผลกระทบ และยังมีการเปิดด่านข้ามแดนตามปกติ
ทั้งนี้ รมว.พาณิชย์ ระบุว่า ตนเองได้กำชับทูตพาณิชย์ประจำกัมพูชา ให้ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด และจัดทำรายงานประเมินผลกระทบการค้า หากเกิดการปะทะระหว่างไทย-กัมพูชาขึ้น ซึ่งก่อนหน้า ที่มีเหตุปะทะต่อเนื่องในช่วง 2-3 เดือน สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ได้ประเมินผลกระทบการค้าใน จ.ศรีสะเกษ โดยคาดว่ามูลค่าการค้าลดลงกว่าร้อยละ 90 จาก 100 ล้านบาท เหลือเพียง 10 ล้านบาท
“หากมีการปะทะกันเกิดขึ้นตามแนวชายแดน ในพื้นที่บริเวณเขาพระวิหาร แม้เป็นจุดที่ไม่ได้มีการค้าขาย แต่ก็อาจกระทบด่านชายแดนจุดอื่นๆ หากเหตุการณ์ลุกลามถึงขั้นปิดด่าน รัฐบาลจึงต้องมีแผนรองรับ”
รมว.พาณิชย์ กล่าวเสริมว่า ความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจการค้าระหว่างไทย-กัมพูชา ยังไม่ได้มีผลกระทบใดๆ โดยรัฐบาลทั้ง 2 ประเทศพยายามแยกแยะระหว่างปัญหาชายแดนกับความสัมพันธ์ทางการค้า ไม่ได้นำมาเชื่อมโยงกันให้เป็นปัญหาแต่อย่างใด
รายงานข่าวเพิ่มเติมระบุว่า การค้าชายแดนและการท่องเที่ยวไทย-กัมพูชา ด้าน จ.จันทบุรี เปิดเผยว่า หลังจากตัวแทนรัฐบาลไทยได้ประกาศถอนตัวจากการเป็นคณะกรรมการมรดกโลกจากปัญหาการบริหารจัดการพื้นที่รอบบริเวณเขาพระวิหาร ทำให้ผู้ค้าชาวกัมพูชาต่างเริ่มรู้สึกกังวลต่อสถานการณ์หลังจากนี้ไป เพราะเกรงว่ากำลังทหารของทั้งไทยและกัมพูชาจะปะทะกัน และจะส่งผลมาถึงการยุติความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจระหว่างทั้งสองฝ่าย
สถานการณ์ในขณะนี้ทำให้ทางกลุ่มผู้ค้าชายแดนไทย-กัมพูชา โดยเฉพาะในส่วนของกัมพูชา ได้มีการติดตามความเคลื่อนไหวจากทางฝ่ายไทยอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ง่ายต่อการที่จะกำหนดแนวทางการจัดการ ขณะที่การทำการค้าระหว่างสองฝ่าย ในการนำเข้าสินค้าอุปโภค-บริโภค มีการปรับรูปแบบการค้าจากเดิม ที่ยอมซื้อขายผ่านระบบเครดิต เพราะมีความไว้วางใจระหว่างกัน เปลี่ยนมาเป็นการค้าในระบบเงินสด เพื่อให้ง่ายหากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งปิดพรมแดน จะได้เลี่ยงปัญหาภาระหนี้สินติดพัน
ด้านผู้ประกอบการของไทย ได้ให้ความมั่นใจกับคู่ค้า ว่า รัฐบาลไทยคงจะไม่ดำเนินการใดๆ ในเชิงที่จะเป็นการทำลายบรรยากาศทางการค้าระหว่างเอกชนของทั้งสองฝ่าย เนื่องจากฝ่ายไทยเองไม่ต้องการที่จะขยายความเสียหายให้เกิดขึ้นเป็นวงกว้าง