xs
xsm
sm
md
lg

ศูนย์วิจัยกสิกรฯ คาดเลือกตั้ง 54 เพิ่มเม็ดเงินธุรกิจสิ่งพิมพ์กว่า 1 พันล้าน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ศูนย์วิจัยกสิกรฯ มองเลือกตั้ง 54 เพิ่มเม็ดเงินธุรกิจสิ่งพิมพ์กว่า 1 พันล้านบาท โดยเป็นผลจาก ส.ส.บัญชีรายชื่อเพิ่มขึ้น และการเปลี่ยนวิธีการคำนวณจำนวน ส.ส.บัญชีรายชื่อ ขณะที่สื่อทีวี-วิทยุ ถูกเข้มงวดจาก กกต.

บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด เผยรายงานแนวโน้มธุรกิจที่สดใสช่วงเลือกตั้ง โดยคาดว่าการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ในปี 2554 จะช่วยเพิ่มเม็ดเงินเข้าสู่ธุรกิจสิ่งพิมพ์ประมาณ 1,060 ล้านบาทเพิ่มขึ้นจากการเลือกตั้งครั้งก่อนในปี 2550 โดยคำสั่งซื้อสิ่งพิมพ์เฉพาะเพื่อการหาเสียง อาทิเช่น แผ่นป้ายโฆษณา โปสเตอร์ แผ่นพับ เป็นต้น เริ่มทยอยเข้าสู่โรงพิมพ์อย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ช่วงกลางเดือนพฤษภาคม 2554 ที่ผ่านมา หลังจากที่มีการกำหนดวันเลือกตั้ง และวันประกาศรับสมัคร ส.ส.อย่างชัดเจน

โดยสื่อสิ่งพิมพ์ยังได้รับความนิยมในการโฆษณาหาเสียงจากผู้สมัครรับเลือกตั้ง และพรรคการเมืองต่างๆ ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากจำนวน ส.ส.บัญชีรายชื่อที่เพิ่มขึ้น จากเดิมจำนวน 80 คน เพิ่มเป็น 125 คนในปี 2554 ซึ่งจูงใจให้พรรคการเมืองส่งผู้สมัคร ส.ส.บัญชีรายชื่อจำนวนมากถึง 40 พรรค (เพิ่มขึ้นจากปี 2550 ที่มีผู้สมัครจำนวน 31 พรรค)

นอกจากนี้ การเปลี่ยนวิธีการคำนวณจำนวน ส.ส.บัญชีรายชื่อ โดยทุกคะแนนเสียงที่ผู้มีสิทธิเลือกตั้งลงคะแนนให้แก่พรรค จะถูกนำมาคำนวณเป็นจำนวนที่นั่งในสภา หมายความว่า ทุกคะแนนเสียงในทุกพื้นที่เขตเลือกตั้งทั่วประเทศ ย่อมมีผลต่อจำนวน ส.ส.บัญชีรายชื่อที่พรรคจะได้รับ ดังนั้น จึงส่งผลให้รูปแบบการหาเสียงของพรรคการเมือง เปลี่ยนเป็นการกระจายการประชาสัมพันธ์หาเสียงในพื้นที่วงกว้างมากขึ้น จากเดิมที่เน้นการหาเสียงในเขต/พื้นที่ที่แต่ละพรรค หรือผู้สมัครมีฐานเสียง

ในขณะที่การหาเสียงผ่านสื่อวิทยุและโทรทัศน์ยังคงเผชิญกับข้อจำกัดจากระเบียบคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ซึ่งระบุห้ามไม่ให้ผู้สมัคร พรรคการเมืองหรือผู้ที่มีสิทธิเลือกตั้ง ซื้อหรือเช่าเวลา/รายการสถานีเพื่อโฆษณาหาเสียงทั้งทางตรงและทางอ้อม และกำหนดให้การโฆษณาหาเสียงผ่านทางสื่อวิทยุและโทรทัศน์สามารถทำได้ ภายใต้รูปแบบและการจัดสรรเวลาในการออกอากาศของ กกต.และผู้บริหารสถานีวิทยุและโทรทัศน์

นอกจากนี้ ข้อจำกัดที่เข้มงวดดังกล่าว เป็นแรงหนุนให้ผู้สมัครและพรรคการเมือง ให้ความสำคัญกับการหาเสียงผ่านทางสื่อสิ่งพิมพ์มากขึ้น ถึงแม้ว่าสื่อสิ่งพิมพ์บางประเภท เช่น แผ่นป้ายโฆษณา และแผ่นโปสเตอร์ จะมีข้อจำกัดในเรื่องของขนาดและจำนวนแผ่นที่อนุญาตให้ใช้ในการหาเสียง แต่นับว่าเป็นข้อจำกัดที่มีความเข้มงวดน้อยกว่าการโฆษณาผ่านทางสื่อวิทยุและโทรทัศน์
กำลังโหลดความคิดเห็น