xs
xsm
sm
md
lg

หอการค้าฯ มั่นใจส่งออก Q2 ยังขยายตัวดี ยันบาทหลุด 30 ไม่กระทบ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


หอการค้าฯ มั่นใจส่งออกไตรมาส 2 ยังขยายตัวดี ยันบาทแข็งหลุด 30 บาท/ดอลลาร์ ไม่ส่งผลกระทบ เพราะค่าเงินแข็งเหมือนกันทั้งภูมิภาค แต่ห่วงน้ำมัน-ภัยธรรมชาติเป็นตัวฉุด

นายอัทธ์ พิศาลวานิช ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า ดัชนีชี้นำการส่งออกของศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เดือนกุมภาพันธ์ 2554 อยู่ที่ระดับ 101.30 เพิ่มขึ้น 0.16 จากเดือนมกราคม 2554 ซึ่งสะท้อนว่า แนวโน้มการส่งออกของไทยไตรมาส 2 ปีนี้ ยังคงขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.40-5.60 เมื่อเทียบกับไตรมาสแรก และคาดว่าจะมีมูลค่า 54,587.00-56,721.00 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ แต่หากเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนจะชะลอตัวลง

อย่างไรก็ตาม การขยายตัวยังอยู่ในเกณฑ์ดี โดยคาดว่า ในปีนี้การส่งออกของไทยจะขยายตัว ร้อยละ 12.40-16.50 หรือคิดเป็นมูลค่าการส่งออกทั้งหมด 219,475.00-227,632.00 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ลดลงจากปี 2553 ที่ขยายตัวร้อยละ 28.10

โดยปัจจัยบวกที่มีผลต่อการส่งออกในไตรมาส 2 ได้แก่ การผลิตของโลกยังขยายตัวได้ดี แม้จะเกิดภัยพิบัติในญี่ปุ่น ซึ่งมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกไม่มากนัก โดยคาดว่าจะกระทบต่อการส่งออกของไทยในระยะสั้น โดยมองว่า มีผลกระทบต่ออุตสาหกรรมยานยนต์ ยางพารา และอิเล็กทรอนิกส์ ส่วนอุตสาหกรรมอาหาร เกษตร และสินค้าอุปโภคบริโภค ญี่ปุ่นมีความต้องการเพิ่มขึ้น เพราะพื้นที่การเกษตรของญี่ปุ่นได้รับความเสียหายอย่างหนัก แต่ไทยจะต้องเจอการแข่งขัน จาก จีน สหรัฐอเมริกา และ เนเธอร์แลนด์

ส่วนปัจจัยลบที่กระทบการส่งออก คือ ราคาน้ำมันที่สูงขึ้นกระทบต่อการผลิต และการขนส่ง โดยประเมินว่า ราคาน้ำมันเฉลี่ยอยู่ที่ 100-120 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล โดยบางช่วงอาจสูงถึง 150 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล จากปัญหาความไม่สงบในตะวันออกกลางและแอฟริกาเหนือ ในขณะที่ความต้องการใช้น้ำมันยังอยู่ในระดับสูง แต่ยังต้องติดตามสถานการณ์ดังกล่าว เพราะเริ่มมีผลต่อการส่งออกของไทยในช่วง 2 เดือนแรกของปีนี้ โดยการส่งออกไปลิเบียลดลงร้อยละ 22.70 อียิปต์ลดลงร้อยละ 17.30

นอกจากนี้ ยังต้องติดตามปัญหาภัยธรรมชาติที่เกิดขึ้นบ่อยครั้ง โดยเหตุการณ์น้ำท่วมภาคใต้กระทบการส่งออกไทยไตรมาส 2 ในกลุ่มยางพารา และกุ้ง โดยการส่งออกยางพาราจำนวน 7,896.00 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และส่งออกกุ้ง 1,690.00 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในปี 2553

ส่วนการแข็งค่าของเงินบาทที่อาจทะลุ 30 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ ยังไม่ถือเป็นปัจจัยเสี่ยงของการส่งออกในช่วงนี้ เพราะถือเป็นการแข็งค่าทั้งภูมิภาค จึงไม่กระทบกับความสามารถในการแข่งขัน เห็นได้จากการส่งออกที่ยังขยายตัวได้ดี
กำลังโหลดความคิดเห็น