xs
xsm
sm
md
lg

สสปน.สังปรับแผนรับมือผลกระทบสึนามิ-กระชับโรดโชว์เร็วขึ้น

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สสปน.เตรียมรับมือ ผลกระทบจากภัยพิบัติ ญี่ปุ่น และน้ำท่วมภาคใต้ สั่งทบทวนแผนกระชับโรดโชว์เร็วขึ้นฟื้นภาคใต้ทันที่ที่น้ำลด ฟากทิก้า หวั่น ไทยสูญตลาดญี่ปุ่น 6 พันล้านบาทปีนี้

นาย อรรคพล สรสุชาติ ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ(องค์การมหาชน) หรือ สสปน. เปิดเผยว่า ผลกระทบจากภัยธรรมชาติที่เกิดขึ้นในญี่ปุ่น และในประเทศไทย มีผลกระทบต่อตลาดไมซ์แน่นอน แต่ยังประเมินความเสียหายไม่ได้ แต่เฝ้าติดตามอย่างใกล้ชิด เพื่อเตรียมหาแนวทางรับมือ โดยแบ่งการทำงานได้ใน 2 แนวทาง โดยตลาดต่างประเทศ ผลจากการรั่วไหลของสารกัมมันตรังสีในประเทศญี่ปุ่น และความเสียหายจากสึนามิ ทำให้กรุ๊ปสัมมนาจากญี่ปุ่นยกเลิกการเดินทางมาประเทศไทยบ้างแล้ว เช่น กรุ๊ปอินเซนทีฟ ของผู้บริหารระดับสูง บริษัท คูโบต้า ก็ยกเลิกเดินทางแล้ว ซึ่งปีก่อนตลาดไมซ์จากญี่ปุ่นมาประเทศไทยราว 4 หมื่นคน ซึ่ง สสปน. คงต้องมองตลาดทดแทน เข้ามาเสริม เช่น อินโดนีเซีย เวียดนาม อินเดีย และ จีน

ด้านตลาดในประเทศ ผลจากอุทกภัยในภาคใต้ กระทบตลาดโดเมสติกไมซ์ เช่น น้ำท่วมที่ สุราษฎร์ธานี ซึ่งเป็นเดสติเนชั่นของกลุ่ม คอปอเรทและกรุ๊ปสัมมนาหน่วยงานราชการ และ น้ำท่วม กระบี่ ภูเก็ต เกาะสมุย ซึ่งเป็นพรีเมียมเดสติเนชั่น รองรับตลาดต่างประเทศ ก็ต้องชะลอตัวไปด้วย ล่าสุด มอบหมายให้ ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ของสสปน. รวมถึงฝ่ายโดเมสติกไมซ์ เร่งสำรวจและประเมินสถานการณ์ โดยปรับแผนเท่าที่จะทำได้ เพื่อให้ธุรกิจนี้ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในแต่ละพื้นที่ได้อย่ารวดเร็วที่สุด

นายจิรุตต์ อิศรางกูร ณ อยุธยา ผู้อำนวยการฝ่ายบริหารรัฐกิจวิสาหกิจ ดูแลโดเมสติกไมซ์ กล่าวว่า ได้ปรับกำหนดการโรดโชว์ในพื้นที่ภาคใต้ จ.สุราษฎร์ธานี เกาะสมุย ให้เร็วขึ้น จากเดิมที่กำหนดว่า ในเดือนมิ.ย.ศกนี้ โดยจะนำผู้ประกอบการ บริษัท ห้างร้าน ที่เป็นสมาชิกของ สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สมาคมการจัดการงานบุคคลแห่งประเทศไทย และบริษัทที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย จัดเป็นแฟมทริป ลงพื้นที่ เยี่ยมชมสถานที่ พบผู้ประกอบการเพื่อชมสินค้าท่องเที่ยวและบริการในท้องถิ่น เร่งแผนโรดโชว์ให้เร็วขึ้นก็เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจในแต่ละพื้นที่ ขณะที่สสปน. อาจต้องเพิ่มอินเซ็นทีฟแก่บริษัทที่เข้าไปจัดงานในพื้นที่ประสบภัย จากเดิม

นายสุเมธ สุทัศน์ ณ อยุธยา นายกสมาคมส่งเสริมการประชุมนานาชาติ(ไทย) หรือ ทิก้า กล่าวว่า ผลจากภัยธรรมชาติที่เกิดขึ้น ทั้งในญี่ปุ่น และในประเทศไทย จะกระทบต่อธุรกิจจัดประชุมสัมมนาของไทย เพราะในระยะยาว 6-12 เดือน จากนี้ เมื่อญี่ปุ่นเคลียร์ปัญหาที่เกิดขึ้นได้จบสิ้น เชื่อว่า บริษัทญี่ปุ่นที่ไปลงทุนในประเทศต่างๆ จะมุ่งไปจัดประชุมสัมมนาที่ญี่ปุ่น ซึ่งเป็นประเทศแม่ ขณะที่บริษัทที่ตั้งในญี่ปุ่นเองก็เดินทางจัดประชุมภายในประเทศเพื่อช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจ

สำหรับประเทศไทย กรุ๊ปประชุมสัมมนาที่เดินทางมาจากญี่ปุ่น คิดเป็น 25% ของตลาดประชุมสัมมนารวมคิดเป็นมูลค่าราว 6 พันล้านบาท ซึ่งมีความเป็นไปได้ที่ตลาดกลุ่มนี้จะหายไป โดยปัจจุบันรายได้จากการประชุม สัมนาและท่องเที่ยวเพื่อเป็นรางวัลนี้คิดเป็น 40% ของมูลค่าไมซ์รวม 5 หมื่นล้านบาท จากนักเดินทาง 7.2 แสนคน
กำลังโหลดความคิดเห็น