xs
xsm
sm
md
lg

ศูนย์พยากรณ์ ศก.หอการค้าฯ มั่นใจ “จีดีพี” ปีนี้ โตร้อยละ 4-5 สินค้าเกษตรหนุน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ศูนย์พยากรณ์ ศก.หอการค้าฯ เตรียมปรับประมาณการ ศก.ใหม่ เม.ย.นี้ หลังเผชิญผลกระทบจากต่างประเทศ มั่นใจ “จีดีพี” ปีนี้โตได้ร้อยละ 4-5 เพราะมีแรงหนุนจากภาคเกษตรฯ ชี้ ภัยพิบัติญี่ปุ่น กระทบไทยเพียงร้อยละ 0.1-0.2

นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า ผลกระทบจากเหตุการณ์แผ่นดินไหวและสึนามิ ในญี่ปุ่น ต่อเศรษฐกิจไทย พบว่า มีผลกระทบเล็กน้อยเพียงร้อยละ 0.1-0.2 ของอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไทย โดยเศรษฐกิจไทยทั้งปียังขยายตัวร้อยละ 4-5 หลังจากที่ประเมินเศรษฐกิจญี่ปุ่นเสียหาย 180,000-300,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ มีผลกระทบต่อจีดีพีญี่ปุ่น ร้อยละ 3.5-6 ทำให้เศรษฐกิจญี่ปุ่นในปีนี้ขยายตัวร้อยละ 1-1.3

โดยผลกระทบต่อการส่งออกนั้น เดิมคาดว่าอยู่ที่ 22,300-23,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือโตร้อยละ 9-12 แต่ผลกระทบที่เกิดขึ้นทำให้มูลค่าส่งออกไปญี่ปุ่นลดลงเหลือ 22,000-22,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือโตร้อยละ 8-10 ทำให้สูญรายได้ 8,000-15,000 ล้านบาท ส่วนผลกระทบด้านท่องเที่ยวนั้น นักท่องเที่ยวญี่ปุ่นมาไทยลดลงจากเป้าหมาย 1.04 ล้านคน สร้างรายได้ 41,000ล้านบาท ลดลงมาอยู่ที่ 990,000 คน เหลือรายได้ 39,000 ล้านบาท หรือสูญรายได้ 3,000-5,000 ล้านบาท

อย่างไรก็ตาม แม้จะมีปัจจัยลบเข้ามากระทบ แต่จีดีพีเศรษฐกิจในไตรมาสที่ 1 ปี 2554 ขยายตัวอยู่ที่ร้อยละ 2.4 สถานการณ์ทางด้านการบริโภค การส่งออก และการลงทุนนั้น ยังคงมีการปรับตัวดีขึ้น ส่งผลให้อัตราการขยายตัวของภาคกลางขยายตัวมากที่สุดร้อยละ 3.1 กรุงเทพฯ และปริมณฑล ขยายตัวร้อยละ 2.2 ภาคใต้ขยายตัวร้อยละ 2.1 ภาคตะวันออกเฉียงเหนือขยายตัวร้อยละ 1.9 และภาคเหนือ ขยายตัวร้อยละ 1.8

โดยเศรษฐกิจในทุกภูมิภาคไม่มีสัญญาณการชะลอตัว หรือทรุดลงจนน่าเป็นห่วง แม้ราคาน้ำมันจะปรับสูงขึ้นจากปัญหาความรุนแรงในลิเบีย และมีเหตุการณ์แผ่นดินไหวและสึนามิในญี่ปุ่น เนื่องจากราคาสินเกษตรยังสูง เศรษฐกิจโลกฟื้นตัวดี ทำให้การส่งออกและการท่องเที่ยวของไทยขยายตัวได้ดี บวกกับใกล้การเลือกตั้ง ซึ่งคาดว่าจะมีเงินสะพัด 40,000-50,000 ล้านบาท

โดยแนวโน้มในไตรมาสที่ 2 การขยายตัวของเศรษฐกิจจะดีขึ้น คาดว่าขยายตัวร้อยละ 4.4 และครึ่งปีหลังจะเติบโตมากขึ้นที่ร้อยละ 5-6 และทั้งปีโตร้อยละ 4-5 ซึ่งถือเป็นปีที่ภาวะเศรษฐกิจไทยเริ่มมีสัญญาณปรับตัวเข้าสู่ภาวะปกติ อย่างไรก็ตาม ทางศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจจะมีการปรับประมาณการเศรษฐกิจในปีนี้ใหม่ ในเดือนเมษายน 2554 นี้

นายธนวรรธน์ กล่าวด้วยว่า จากการสำรวจความคิดเห็นของนักธุรกิจในภาคต่างๆ พบว่า ปัจจัยลบที่มีผลกระทบต่อเศรษฐกิจทุกภูมิภาคมากที่สุด คือ ราคาน้ำมันดีเซลที่มีแนวโน้มปรับขึ้น รองลงมาคือ การปรับขึ้นของราคาเบนซิน ระดับราคาสินค้าที่สูงขึ้น และภัยธรรมชาติ ส่วนสิ่งที่อยากให้รัฐบาลแก้ไขมากที่สุด คือ การดูแลราคาสินค้าอุปโภค บริโภค อย่าให้แพงเกินไป ดูแลราคาสินค้าเกษตรอย่าให้ผันผวน และดูแลราคาน้ำมัน
กำลังโหลดความคิดเห็น