ปธ.บอร์ด รฟม.แจงแผนพัฒนาเชิงพาณิชย์ พื้นที่รถไฟฟ้าสายสีม่วง บางใหญ่-บางซื่อ เล็งเปิดให้เอกชนรายเดียวประมูลแบบเหมารวม เพราะแต่ละสถานีมีจำนวนผู้โดยสารไม่เท่ากัน พร้อมแจงแหล่งรายได้หลัก ทั้งค่าโฆษณา ร้านค้า เอทีเอ็ม ภายในพื้นที่สถานีและลานจอดรถ
นายสุพจน์ ทรัพย์ล้อม ปลัดกระทรวงคมนาคม และประธานคณะกรรมการ (บอร์ด) การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เปิดเผยถึงแนวทางการพัฒนาเชิงพาณิชย์โครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงบางใหญ่-บางซื่อ โดยระบุว่า แผนการพัฒนาเชิงพาณิชย์ที่ได้มีการตั้งธงในเบื้องต้นนั้น อาจต้องมีการพิจารณาให้เอกชนรายเดียวเข้ามาประมูลสายนี้ทั้งหมด เนื่องจากแต่ละสถานีมีจำนวนผู้โดยสารที่มาใช้บริการมากน้อยไม่เท่ากัน ทำให้ต้องมีการประกวดราคาทั้งหมดทีเดียว
สำหรับรายได้จากการเปิดให้เอกชนเข้ามาประมูลใช้พื้นที่ของรถไฟฟ้าสายสีม่วงนั้น จะเข้ามายัง รฟม.ทั้งหมด เพราะว่าการบริการจัดการเดินรถและติดตั้งระบบอาณัติสัญญาณใช้รูปแบบ Public Private Partnership( PPP-Gross Cost) โดยภาครัฐลงทุนงานโยธาทั้งหมดและเอกชนลงทุนระบบรถไฟฟ้าและขบวนรถไฟฟ้า รวมทั้งบริการการเดินรถและซ่อมบำรุง โดยรัฐจัดเก็บรายได้ (ค่าโดยสาร-เชิงพาณิชย์) และรัฐจ่ายคืนเอกชนในลักษณะค่าจ้างบริหารการเดินรถและซ่อมบำรุง
“ตามสถานีมีพื้นที่ว่างในเชิงพาณิชย์อยู่แล้ว โดยเฉพาะในชั้นคอนคอร์ดที่จะทำซึ่งจะเหมือนกับรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนทั่วไปจากพื้นดินก็จะมีชั้นคอนคอร์ดที่จะเช็คอินน์เข้าไป ซึ่งจุดนั้นจะมีพื้นที่ว่างที่จะทำในเชิงพาณิชย์ได้”
ส่วนการคัดเลือกผู้บริหารจัดการเดินรถและติดตั้งระบบอาณัติสัญญาณตามแนวทาง PPP-Gross Cost คาดว่าจะสามารถคัดเลือกได้เสร็จในอีก 3-4 เดือนข้างหน้า และจะใช้เวลาจัดหาขบวนรถรวมทั้งดำเนินการติดตั้งระบบอีกประมาณ 2 ปี
นายรณชิต แย้มสอาด รองผู้ว่าการ (ฝ่ายปฏิบัติการ) รักษาการแทน ผู้ว่าการ รฟม.กล่าวว่า โครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วงจะมีการจัดเก็บรายได้แบ่งเป็น 2 ส่วน คือ รายได้จากค่าโดยสารและรายได้จากการพัฒนาเชิงพาณิชย์ เนื่องจาก รฟม.ได้ดำเนินการตามขั้นตอน พ.ร.บ.ว่าด้วยการให้เอกชนร่วมงานและดำเนินการในกิจการของรัฐ พ.ศ.2535 (พ.ร.บ.ร่วมทุน)
ทั้งนี้ รายได้ที่มาจากการพัฒนาเชิงพาณิชย์ จะมาจากการโฆษณาต่างๆ ร้านค้า ตู้เอทีเอ็ม ฯลฯ บนพื้นที่สถานี รวมทั้งพื้นที่บริเวณลานจอดรถอีก 4 แห่ง ประกอบด้วย 1.ศูนย์ซ่อมบำรุงคลองบางไผ่ 2.สถานีแยกนนทบุรี 3.สถานีสามแยกบางใหญ่ และ 4.สถานีท่าอิฐ โดยในเบื้องต้นการพัฒนาในเชิงพาณิชย์นั้น รฟม.จะเตรียมความพร้อมในส่วนของสถานที่ในเขตพื้นที่สถานีและลาดนจอดรถ เพื่อพัฒนาให้เกิดรายได้
โดยก่อนหน้านี้ นายโสภณ ซารัมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ได้ลงพื้นที่ตรวจสอบความคืบหน้าโครงการก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงบางใหญ่-บางซื่อ เมื่อวันที่ 11 มกราคม 2554 ปรากฏว่า งานก่อสร้างล่าสุดมีความคืบหน้าไปกว่า 20% เร็วกว่าแผน 1-2% และได้รับการยืนยันจากรับมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ว่า จะสามารถก่อสร้างได้แล้วเสร็จตามแผนและเปิดใช้บริการได้ในปี 2557