รัฐบาลกำหนดยุทธศาสตร์เชิงรุกสินค้าเกษตร "กอร์ปศักดิ์" ลั่นเกษตรกรต้องขายพืชผลได้ราคาดี ยันชัด รัฐบาลจะไม่ขายสินค้าในสต๊อกตัดราคาเกษตรกรเหมือนรัฐบาลที่ผ่านมา ต้นเหตุสำคัญให้พ่อค้าไม่ยอมรับซื้อจากเกษตรกร
นายกอร์ปศักดิ์ สภาวสุ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวปาฐกถาพิเศษหัวข้อ “นโยบายรัฐในการพัฒนาชาวนาและข้าวไทย” โดยกล่าวถึงการค้าข้าวในตลาดโลกปัจจุบัน พบว่ามียอดรวมประมาณ 30 ล้านตันต่อปี โดยไทยส่งออกข้าวปีละ 8-10 ล้านตัน เท่ากับการบริโภคในประเทศ ไทยจึงครองส่วนแบ่งตลาด 1 ใน 3
นายกอร์ปศักดิ์ กล่าวว่า เมื่อรัฐบาลสร้างความมั่นคงในรายได้ให้กับเกษตรกรในโครงการประกันรายได้แล้ว รัฐบาลมียุทธศาสตร์ต่อเนื่องคือ จะให้เกษตรกรขายผลผลิตทางการเกษตรได้ โดยรัฐบาลจะไม่ขายราคาถูกกว่าเกษตรกรเหมือนรัฐบาลที่ผ่านมา เพราะจะทำให้เอกชนไม่ซื้อจากเกษตรกร
"ล่าสุด รัฐบาลจีนได้เจรจาขอซื้อข้าวโพดจำนวนมากแบบรัฐต่อรัฐในราคาต่ำกว่าเกษตรกร แต่รัฐบาลไม่อนุมัติการขายให้จีน โดยจะขายในราคาที่เกษตรกรขายแบบไม่ต้องประมูล เพราะหากขายต่ำกว่าจะไม่มีการซื้อข้าวโพดจากเกษตรกร"
นอกจากนี้ การที่รัฐไม่ขายต่ำกว่าเกษตรกร ทำให้มีการแย่งซื้อผลิตผล และเพื่อปรับปรุงคุณภาพสินค้าของไทยไม่ให้เหมือนกับคู่แข่งในตลาดโลก รัฐบาลจะสนับสนุนให้ปลูกพันธุ์ข้าวเฉพาะที่เห็นว่าเหมาะสมและแข่งขันได้เท่านั้น เห็นได้จากรัฐบาลช่วยเหลือประกันรายได้ข้าวไวแสง ซึ่งจะประกันรายได้เฉพาะปีนี้ แต่จะไม่สนับสนุนให้ปลูกอีกต่อไป เนื่องจากไม่ได้ราคา
ส่วนปัญหาภัยธรรมชาติและศัตรูพืชนั้น รัฐบาลกำลังเดินหน้าผลักดันโครงการประกันภัยพืชผลทางการเกษตร โดยธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) อยู่ระหว่างดำเนินการขยายประกันภัยพืชผลทางการเกษตร จากเดิมแค่ประกันภัยธรรมชาติขยายไปสู่ภัยที่เกิดจากศัตรูพืช
นายเอ็นนู ซื่อสุวรรณ รองผู้จัดการ ธ.ก.ส. กล่าวว่า ธ.ก.ส.ได้ทำประกันภัยพืชผลที่เกิดจากภัยธรรมชาติ ในปัจจุบัน 2 ประเภท คือ ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์กับข้าว โดยข้าวโพดทำมา 2-3 ปีร่วมกับธนาคารโลกและร่วมมือกับองค์การความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศแห่งญี่ปุ่น (เจบิก) ทำประกันภัยพืชผลจากภัยธรรมชาติให้กับข้าวที่จังหวัดขอนแก่น
"คาดว่าทั้ง 2 โครงการจะได้ผลสรุปในเดือนมีนาคม 2553 และขณะนี้กระทรวงเกษตรฯ อยู่ระหว่างยกร่าง พ.ร.บ.ประกันภัยธรรมชาติให้กับผลิตผลทางการเกษตร ส่วนการทำประกันภัยภัยพืชผลจากศัตรูพืชนั้น อยู่ระหว่างศึกษาว่าจะทำได้หรือไม่ เนื่องจากทางบริษัทประกันมองว่าสามารถป้องกันไม่ให้เกิดขึ้นได้"
นายเอ็นนู กล่าวถึงโครงการประกันรายได้เกษตรกร โดยระบุว่า โครงการดังกล่าวครอบคลุมผลกระทบจากภัยธรรมชาติและศัตรูพืชบางส่วนอยู่แล้ว เพราะรัฐบาลจะจ่ายเงินตามผลผลิตต่อไร่ที่ได้รับแจ้งมา ส่วนปัญหาการจ่ายเงินโครงการประกันรายได้ล่าช้า เกิดจากเกษตรกรส่วนน้อยในบางพื้นที่ขอเปลี่ยนแปลงปริมาณผลผลิตใหม่ ทำให้เกิดความล่าช้า อย่างไรก็ตาม ความล่าช้าคงไม่เกิน 2 สัปดาห์