หวยออนไลน์เจอวิบากกรรมเก่า บอร์ดสลากกินแบ่งฯ ตีกลับมาตรการเยียวยา หวั่นแผนเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบ โดยตั้งกองทุนเข้ามาดูแล อาจขัดต่อกฎหมาย
นายนครินทร์ เมฆไตรรัตน์ คณบดีคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในฐานะกรรมการสลากกินแบ่งรัฐบาล กล่าวถึงผลการประชุมคณะกรรมการสำนักงานสลากฯ วันนี้ ได้หารือวางหลักเกณฑ์ในการจัดสรรโควตาสลากกินแบ่งรัฐบาล (ลอตเตอรี่) ใหม่ โดยให้นำผลศึกษาจากคณะอนุกรรมการปราบปรามการขายสลากฯ เกินราคา และอนุกรรมการวางหลักเกณฑ์จัดสรรสลากฯ มาสรุปผลร่วมกันเพื่อให้แบ่งโควตาการขายลอตเตอรี่ คาดว่าจะได้ข้อสรุปที่ชัดเจนในการประชุมครั้งต่อไป
ทั้งนี้ เพื่อปรับลดสัดส่วนการจัดสรรโควต้าลอตเตอรี่ในส่วนของผู้จำหน่ายรายย่อยมากกว่า 40,000 ราย โดยมีสัดส่วนร้อยละ 70 ของสลากฯ ที่พิมพ์ออกจำหน่าย ปรับลดให้เหลือเพียงร้อยละ 50 เพื่อปรับเพิ่มโควตาในส่วนของสมาคม มูลนิธิ องค์กรการกุศล 70 แห่ง จากเดิมที่มีสัดส่วนร้อยละ 15 เพิ่มเป็นร้อยละ 25 และนิติบุคคลจากร้อยละ 15 เพิ่มเป็นร้อยละ 25 สำหรับรายย่อยต้องการเพิ่มจำนวนสลากต่อรายเป็น 20-30 เล่มต่อราย จากเดิมได้รับ 1-2 เล่มต่อราย เพื่อให้มีรายได้เพียงพอ
นอกจากนี้ ที่ประชุมคณะกรรมการสลากฯ ได้พิจารณาเรื่องการขายสลากเลขท้าย 2 ตัว 3 ตัวผ่านเครื่องอัตโนมัติ (หวยออนไลน์) ที่สำนักงานสลากฯ ได้รายงานผลกระทบทางสังคมและมาตรการเยียวยาให้พิจารณา ซึ่งมีทั้งระยะสั้นและระยะยาว แต่คณะกรรมการฯ ได้ตีกลับมาตรการเยียวยาฯ และให้ปรับปรุงมาตรการดังกล่าวให้เป็นรูปธรรมให้ชัดเจนมากขึ้น เนื่องจากเห็นว่าไม่มีความชัดเจนในทางปฏิบัติแต่อย่างใด เพราะการจัดตั้งกองทุนผู้ได้รับผลกระทบจากหวยออนไลน์ ยังไม่มีความชัดเจนเกี่ยวกับอำนาจและขอบเขตตามกฎหมายที่สำนักงานสลากฯ จะสามารถจัดตั้งกองทุนได้หรือไม่ และในการการประชุมครั้งต่อไป และจะเชิญนายสุขุม เฉลยทรัพย์ ที่ปรึกษาอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต ในฐานะประธานดำเนินงานสำรวจความคิดเห็นของประชาชนต่อโครงการหวยออนไลน์ มาชี้แจงผลสรุปของผลสำรวจให้ที่ประชุมทราบด้วย
อย่างไรก็ตาม สำนักงานสลากฯ ยืนยันว่า ยังต้องการเดินหน้าโครงการขายหวยออนไลน์ โดยล่าสุดคณะกรรมการฯ ได้อนุมัติให้ต่อสัญญาเช่าอาคาร บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) ที่บางรักอีก 1 ปี เพื่อใช้เป็นศูนย์ดูแลระบบซอฟต์แวร์ของหวยออนไลน์ ซึ่งถือเป็นข้อผูกพันของสำนักงานสลากฯ ต่อโครงการหวยออนไลน์ และยังหวังว่าโครงการหวยออนไลน์น่าจะเปิดขายได้ภายในสิ้นปีนี้ นอกจากนี้ ที่ประชุมได้อนุมัติให้สำนักงานสลากฯ จัดพิมพ์ลอตเตอรี่การกุศลเพิ่มอีก 16 ล้านฉบับ โดยเริ่มตั้งแต่งวดวันที่ 16 ธ.ค.นี้เป็นต้นไป ซึ่งจะเป็นโควตาของสภากาชาดไทย 4 ล้านฉบับ และโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์อีก 12 ล้านฉบับ จากปัจจุบันที่พิมพ์อยู่ 50 ล้านฉบับ ทำให้มีสลากทั้งสิ้น 66 ล้านฉบับ เชื่อว่าจะมีผลทำให้ปัญหาราคาสลากแพงนั้นลดลงได้ในระดับที่น่าพอใจ
นายวันชัย สุระกุล ผู้อำนวยการสำนักงานสลากฯ กล่าวว่า หลังจากที่ได้ยอดตัวเลขการพิมพ์สลากฯ ที่แน่นอนแล้ว สำนักงานสลากฯ ต้องใช้เวลาอีก 1 เดือน ในการปรับปรุงระบบซอฟต์แวร์ให้รองรับปริมาณการพิมพ์และการจัดสรรรางวัลที่เพิ่มขึ้นให้เรียบร้อย ก่อนที่จะพิจารณานำมาตรการกระจายรางวัลที่ 1 เป็น 33 ครั้งมาใช้ในเดือนกุมภาพันธ์ 2553 ซึ่งเชื่อว่าจะทำให้ปัญหาลอตเตอรี่ราคาแพง และปัญหาการรวมชุดลอตเตอรี่หมดไปอย่างแน่นอน