xs
xsm
sm
md
lg

ดึงเงินกู้จีนลุย 5 เส้นทางการค้าอาเซียน "กรณ์" ดันตั้ง 2 กองทุน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ไทยเสนอใช้เงินกู้จากจีนสร้าง 5 เส้นทางเชื่อมอาเซียน ด้าน รมต.จีน ยันความพร้อมหนุนเงินกู้ เพื่อดำเนินโครงการโลจิสติกส์ เชื่อมโยงโครงสร้างด้านคมนาคม ขณะที่ รมว.คลัง ออกแรงดึงอาเซียน+3 เร่งตั้ง 2 กองทุน ลดการพึ่งพาชาติมหาอำนาจ




นางพรทิวา นาคาศัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยผลการหารือกับนายเฉิน เตอ หมิง รัฐมนตรีพาณิชย์สาธารณรัฐประชาชนจีน ว่า ฝ่ายไทยขอบคุณจีน ที่จัดตั้ง China - ASEAN Investment Cooperation Fund มูลค่า 10,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เป็นกองทุนที่จัดตั้งขึ้นเพื่อภาคเอกชน สำหรับสนับสนุนการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคม เครือข่ายโทรคมนาคม รวมทั้งพลังงานและแหล่งพลังงาน เพื่อเชื่อมโยงอาเซียนกับจีน และ China - ASEAN US 15 Billion Loan หรือ เงินกู้จำนวน 15,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ตั้งขึ้นเพื่อสนับสนุนการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคม เพื่อเชื่อมอาเซียนกับจีน ซึ่งทั้งสองโครงการ กำลังอยู่ในระหว่างการกำหนดรายละเอียด หากมีความคืบหน้า จะแจ้งให้ฝ่ายไทยทราบ

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า ฝ่ายไทยแสดงความสนใจจัดทำโครงการโลจิสติกส์กับประเทศอาเซียน โดยขอการสนับสนุนเงินกู้จาก China - ASEAN Loan ประกอบด้วย การทำเส้นทางดานัง-ตราด-แม่สอด-มะละเหม่ง , เส้นทางจากกาญจนบุรี-ทวาย มีท่าเรือน้ำลึกที่ทวาย เป็นเส้นทางเชื่อมโยงจีน-อาเซียน-อินเดีย , เส้นทาง R3 (คุนมั่น-กงลู่) , เส้นทาง R3E และ R3W (ยูนนาน-กรุงเทพฯ-สิงคโปร์) ซึ่งจีนเห็นว่า หากเส้นทางผ่านประเทศใดในอาเซียน สามารถใช้เงินก้อนนี้ได้ แต่ให้จัดทำการศึกษาความเป็นไปได้ก่อน หรืออาจดำเนินการภายใต้กรอบ GMS (กรอบความร่วมมืออนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง) และต้องดูด้วยว่า ประเทศที่เส้นทางผ่าน เห็นชอบด้วยหรือไม่ และเส้นทางใดให้ผลตอบแทนที่ดี หรือบางเส้นทางต้องใช้รถไฟ จะต้องมีมาตรฐานเดียวกัน และหากการก่อสร้างเกิดขึ้นในจีน จะไม่ใช้กองทุนนี้ เพราะมีงบประมาณเป็นของตัวเอง

นางพรทิวา กล่าวว่า ทั้งสองฝ่ายยังหารือเกี่ยวกับความตกลงขยายความร่วมมือทวิภาคีทางเศรษฐกิจและการค้าในเชิงกว้างและเชิงลึก ระหว่างไทยกับจีน ที่ได้ลงนามโดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ของไทย และรัฐมนตรีการค้าของจีน เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2552 โดยทั้ง 2 ฝ่ายย้ำว่า จะให้เจ้าหน้าที่อาวุโสที่รับผิดชอบของ 2 ประเทศ หารือจัดทำแผนพัฒนาระยะ 5 ปี และกำหนดแผนงานอย่างเป็นรูปธรรม ภายในเดือนพฤศจิกายน 2552 นี้

นอกจากนี้ ยังรวมไปถึงการหารือเกี่ยวกับการส่งออกผลไม้ไทยไปจีน โดยเฉพาะเรื่องใบอนุญาตนำเข้าสินค้าที่ได้มาตรฐานสุขอนามัย และการกำหนดราคากลางของศุลกากรจีน ซึ่งได้ไทยเรียกร้องให้จีนขยายใบอนุญาต จาก 6 เดือน เป็น 1 ปี และเพิ่มจำนวนผลตามใบอนุญาตนำเข้า ให้ขยายครอบคลุม จาก 1 ชนิด เป็น 23 ชนิด ซึ่งจีนรับจะนำไปพิจารณาต่อไป

โดยก่อนหน้านี้ จีนได้แสดงท่าทีและยื่นข้อเสนอว่า พร้อมที่จะสนับสนุนเงินกู้จากกองทุนไชน่าอาเซียน เพื่อดำเนินโครงการโลจิสติกส์เชื่อมโยงการคมนาคมในภูมิภาค และพร้อมที่จะขยายความร่วมมือทวิภาคีในด้านเศรษฐกิจและการค้าให้มากขึ้น

**เร่งตั้งกองทุนริเริ่มเชียงใหม่-กองทุนสาธารณูปโภค

สำหรับการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน ครั้งที่ 15 ที่อำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรีครั้งนี้ ประเด็นหนึ่งที่น่าสนใจและติดตามในด้านการพัฒนาและแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจแก่กลุ่มประเทศสมาชิก คือ การจัดตั้งกองทุนริเริ่มเชียงใหม่ และกองทุนสาธารณูปโภค

นายกรณ์ จาติกวณิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า การประชุมสุดยอดอาเซียนวันนี้ ในส่วนของกระทรวงการคลังของไทยได้รายงาน 2 เรื่องให้ที่ประชุมรับทราบและพิจารณา คือ กองทุนริเริ่มเชียงใหม่ และกองทุนสาธารณูปโภค

สำหรับกองทุนริเริ่มเชียงใหม่จะสามารถเริ่มดำเนินการได้ในต้นปี 2553 เพื่อใช้ในกรณีที่ในอนาคตประเทศสมาชิกประเทศใดประเทศหนึ่งประสบปัญหาเศรษฐกิจ สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ทันที เป็นการนำไปใช้แก้ปัญหาสภาพคล่องเฉพาะหน้า โดยไม่จำเป็นต้องเข้าโครงการของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ซึ่งเป็นเรื่องที่ดีที่ประเทศสมาชิกอาเซียนจะร่วมมือกัน

โครงการนี้มีขึ้นมาเพื่อช่วยเหลือตัวเองในการใช้ทุนสำรองระหว่างประเทศ อยู่ที่ 1.2 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ มีประเทศอาเซียนบวก 3 คือ จีน เกาหลีใต้ และญี่ปุ่น เข้ามามีบทบาทในการสนับสนุนการลงขันด้วยในสัดส่วน 80% คิดเป็นเงินประมาณ 9.6 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ ฯ ส่วนที่เหลืออีก 20% คิดเป็นเงินทั้งหมด 2.4 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ที่กลุ่มประเทศสมาชิกอาเซียนจะร่วมลงขัน

ทั้งนี้ ประเทศไทยเป็น 1 ใน 5 ประเทศขนาดใหญ่จึงได้ให้การสนับสนุน 80% ในสัดส่วนที่อาเซียนลงทุน 20% โดยทั้งสองโครงการจะมีการประชุมอย่างไม่เป็นทางการอีกครั้งในการประชุมรัฐมนตรีคลังอาเซียน ในการประชุมเอเปกที่ประเทศสิงคโปร์ช่วงเดือนพฤศจิกายน 2552 นี้ อีกครั้ง ซึ่งหากได้ข้อสรุปแล้ว เชื่อว่าจะช่วยเพิ่มระดับความเชื่อมโยงทางด้านเศรษฐกิจระหว่างประเทศอาเซียน ในการยกระดับและพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศสมาชิกไปด้วยกัน

ทั้งนี้ ไทยในฐานะที่เป็นผู้ริเริ่มแนวคิดการจัดตั้งกองทุนดังกล่าว จึงเป็นผู้รายงานความคืบหน้าและร่วมกันหาผลสรุปร่วมกันในเวทีครั้งนี้ โดยมอบหมายให้นายกรณ์ จาติกวณิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ในฐานะตัวแทนของไทย เป็นผู้รับมอบภารกิจในการทำหน้าที่ดังกล่าว

ที่ผ่านมา รัฐมนตรีคลังของแต่ละประเทศสมาชิกได้หารือประเด็นส่วนอื่นกันมาบ้างแล้ว เพื่อให้มีความชัดเจนและตกผลึกเป็นรูปธรรมมากขึ้น และในการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน ครั้งที่ 15 นี้ ส่วนหนึ่งจึงเป็นการหารือว่าด้วยเรื่องการหาสถานที่จัดตั้งสำนักงานกองทุน ว่าควรตั้งอยู่ที่ไหน ซึ่งประเทศไทยได้เสนอตัว เพราะหากมองถึงจุดเริ่มต้นแล้ว กองทุนนี้ มีแนวคิดริเริ่มขึ้นที่การประชุมที่เชียงใหม่ จึงเป็นที่มาของกองทุนริเริ่มเชียงใหม่นั่นเอง

หากการผลักดันครั้งนี้สำเร็จ เชื่อว่าประโยชน์จะเกิดขึ้นกับประเทศสมาชิกอาเซียน โดยสามารถดึงเงินจากกองทุนเข้ามาแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าได้ ช่วยให้ประเทศกลุ่มสมาชิก ได้รับความช่วยเหลือได้ทันท่วงที แตกต่างจากที่ผ่านมา ที่กลุ่มประเทศสมาชิก ต้องหันหน้าไปพึ่งพากองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) และต้องอยู่ภายใต้กติกา เงื่อนไขที่กดดัน ไม่แตกต่างจากเมืองขึ้นทางการเงิน

ส่วนการจัดตั้งกองทุนสาธารณูปโภค ที่ไทยเสนอร่วมกับมาเลเซียนั้น ยังไม่สามารถระบุงบประมาณได้ เนื่องจากต้องพิจารณาตามมูลค่าของโครงการที่จะจัดทำ ซึ่งทาง ABB หรือธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งเอเชีย และคณะกรรมการจะเป็นผู้พิจารณาโครงการ โดยจะรายงานความคืบหน้าอีกครั้งในการประชุมรัฐมนตรีคลังอาเซียนที่ประเทศสิงคโปร์ในช่วงเดือนพฤศจิกายนนี้

สำหรับวิธีการจัดตั้งกองทุนสาธารณูปโภคนั้น เป็นการใช้เงินกองทุนสำรองที่แต่ละประเทศมีอยู่ มาลงขันกันเพื่อใช้ในการลงทุนการพัฒนาสาธารณูปโภค โดยเฉพาะสาธารณูปโภคที่เกี่ยวกับการเชื่อมโยงให้เศรษฐกิจและประชาชนอาเซียน มีความใกล้เคียงและใกล้ชิด สะดวกในการสื่อสารกันมากขึ้น ซึ่งประเด็นนี้นับว่ามีความก้าวหน้าไปมากแล้ว ต่อไปไทยและประเทศเพื่อนบ้านก็จะมีลักษณะการติดต่อเชื่อมโยงกันในทุกรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นการเดินทางโดยรถไฟ ท่าเรือ หรือสนามบิน คล้ายกับสหภาพยุโรป (EU) นั่นเอง

นับเป็นแนวคิดสร้างสรรค์ใหม่ที่นำเม็ดเงินสำรองที่มีอยู่ มาลงทุนให้เกิดประโยชน์ร่วมกัน เพราะที่ผ่านมา ไทยมักนำทุนสำรองสะสะมไปลงทุนกับพันธบัตรของสหรัฐฯ หรือญี่ปุ่น ซึ่งเป็นการนำเงินออกไปนอกภูมิภาคของเราหมด และการปรับวิธีคิดใหม่ ด้วยปันส่วนมาลงทุนในภูมิภาค ของเราเอง น่าจะเป็นประโยชน์ในการพัฒนาเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศสมาชิกได้มากกว่า และไทยก็ได้รับเกียรติเป็นผู้ออกแบบกองทุนเพื่อให้ธนาคารกลางของทุกประเทศมีสิทธิที่จะสามารถเข้ามาร่วมได้

“คาดว่าจะได้รูปธรรมแน่นอน และเป็นนวัตกรรมที่ชาวโลกให้ความสนใจกันมาก เพราะเป็นครั้งแรกที่มีกลุ่มประเทศในภูมิภาค รวมตัวกันในลักษณะนี้เพื่อดูแลช่วยเหลือตัวเอง ซึ่งภูมิภาคอื่นก็ไม่เคยมีมาก่อน และเรายกระดับความสำคัญของกองทุนนี้ขึ้นมาด้วยปริมาณเม็ดเงินที่เพิ่มขึ้น และด้วยความร่วมมือที่ได้รับจากประเทศบวกสาม คือ จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ถ้าวันหน้า ประเทศใดในกลุ่มไประสบวิกฤตเศรษฐกิจ เงินกองทุนในส่วนนี้ จะนำไปช่วยได้ทันที ”

“ผมมีความเชื่อว่า หากเรารวมตัวกัน เราก็จะมีศักยภาพ และมีพลังมากกว่า ที่เราต่างคนต่างทำในทุกกรณี เช่น การเข้าร่วมประชุม G20 ซึ่งเป็นเวทีระดับโลก แต่ไทยมีสิทธิ มีเสียงในเวทีการประชุมดังกล่าวด้วย ก็เป็นเพราะไทยเป็นประธานอาเซียน และเป็นตัวแทนของประเทศสมาชิกอาเซียนทุกประเทศนั่นเอง”

นี่คือสาระสำคัญที่รัฐมนตรีไทยจะเข้าไปผลักดันในเวทีการประชุมครั้งนี้ ซึ่งรัฐบาลไทยคาดหวังว่า การจัดตั้งทั้งสองกองทุนจะช่วยเพิ่มศักยภาพในกลุ่มประเทศอาเซียนให้นักลงทุนมีความมั่นใจกลับมาลงทุนในอาเซียนมากขึ้น และช่วยเพิ่มมูลค่าของ GDP อาเซียนได้มากกว่า 1.5 ล้านล้านเหรียญสหรัฐในปัจจุบัน
กำลังโหลดความคิดเห็น