ร.ฟ.ท.เตรียมเสนอคมนาคม แก้ปัญหาจุดตัดรถไฟทั่วประเทศ 2,449 แห่ง ชี้จุดตัดถนนสี่แยกอันตรายกว่า 1,009 แห่ง ไม่มีเครื่องกั้น หวั่นงบ 2 พันล้าน ถูกลากยาว 5 ปี วอนรัฐจัดงบสนันสนุนเร่งด่วนเพื่อแก้ปัญหาภายใน 2 ปี พร้อมเสนอแนวทางให้ อพท.เข้ามามีส่วนร่วมในการดูแล
นายยุทธนา ทัพเจริญ ผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) กล่าวถึงกรณีศาลจังหวัดบุรีรัมย์ พิพากษาให้ ร.ฟ.ท.รับผิดชอบชดใช้ค่าสินไหมทดแทน รวมเป็นเงินกว่า 14 ล้านบาท จากเหตุการณ์รถไฟพุ่งชนรถรับ-ส่งนักเรียนบริเวณแยกหนองแสง เขตเทศบาลตำบลลำปลายมาศ อ.ลำปลายมาศ จ.บุรีรัมย์ เมื่อวันที่ 14 มกราคม 2552 ที่ผ่านมา โดยระบุว่า เท่าที่รับรายงานจากเจ้าหน้าที่ ร.ฟ.ท.ยังไม่เคยได้รับหมายเรียกเข้าชี้แจงในคดีดังกล่าว
อย่างไรก็ตาม นายยุทธนา กล่าวว่า เมื่อศาลมีคำพิพากษาออกมา ร.ฟ.ท.จะมีการหารือฝ่ายกฎหมาย เพื่อพิจารณาดำเนินการในขั้นตอนต่อไป โดยยืนยันว่า ร.ฟ.ท.มีจุดยืนชัดเจน หากเป็นไปตามกรอบของกฎหมาย ก็พร้อมชดเชยค่าสินไหมเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมทั้งกับผู้เสียหาย และ ร.ฟ.ท.เอง
นอกจากนี้ เพื่อเป็นการแก้ไขปัญหาอุบัติเหตุบริเวณจุดตัดระหว่างถนนและรางรถไฟ ร.ฟ.ท.จะเสนอเรื่องถึงกระทรวงคมนาคมเพื่อขอสนับสนุนงบประมาณในการแก้ไขจุดตัดทางแยก ซึ่งปัจจุบันพบว่ามีจุดตัดทั่วประเทศ 2,449 แห่ง และในจำนวนดังกล่าวมีจุดตัดถนนกับรางรถไฟ 1,009 แห่ง ที่ไม่มีเครื่องกั้น หากจะมีการปรับปรุงให้มีเครื่องกั้นจะใช้งบประมาณ 2,000 ล้านบาท
“เดิม ร.ฟ.ท.ได้ขอจัดสรรงบประมาณอยู่แล้ว แต่จะผูกพันอยู่ในงบประมาณ 5 ปีข้างหน้า ซึ่งฝ่ายบริหารเห็นว่าจะล่าช้าเกินไป จึงจะเสนอขอให้รัฐบาลสนับสนุนงบประมาณดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 2 ปี เพื่อบรรเทาปัญหาดังกล่าวอย่างรวดเร็ว”
ขณะเดียวกัน เพื่อเป็นการประกันความเสี่ยงจากอุบัติเหตุที่เกี่ยวกับการเดินรถ ร.ฟ.ท.จะทำประกันภัยอุบัติเหตุกับบริษัทประกันภัยที่จะครอบคลุมอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นบนเขตทางรถไฟและขบวนรถ ซึ่งในส่วนนี้จะมีบริษัทประกันเข้ามารับผิดชอบค่าชดเชยและค่าสินไหมต่างๆ หาก ร.ฟ.ท.จะดำเนินการได้เคยมีการประเมินค่าเบี้ยประกันไว้ปีละ 60 ล้านบาท
สำหรับแนวทางแก้ไขปัญหาดังกล่าวอย่างยั่งยืน ร.ฟ.ท.จะเสนอแนวทางขอให้รัฐบาลออกกฎหมาย เพื่อสนับสนุนให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) เข้ามามีบทบาทในการดูแลเขตถนน เขตทางรถไฟ การดูแลเครื่องกั้นให้มีความสมบูรณ์ พร้อมใช้งานตลอดไป