xs
xsm
sm
md
lg

นายกฯ แจงไทยยังไม่เกิดภาวะเงินฝืด เชื่อเป็นแค่ทางเทคนิค

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ
นายกฯ เชื่อไทยยังไม่เกิดเงินฝืด หลังเงินเฟ้อติดลบต่อเนื่อง 6 เดือน แต่รัฐบาลเตรียมใช้เงิน 8 แสนล้าน อัดฉีดสู่ระบบผ่านการลงทุนตามแผนกระตุ้น ศก.พร้อมระบุ เงินเฟ้ออยู่ในระดับต่ำ เปิดช่องใช้นโยบายการเงินได้ง่ายขึ้น หอการค้าฯ แจงเป็นแค่ทางเทคนิค ไม่น่าห่วง เพราะเกิดจากราคาน้ำมันที่ลดลง และมาตรการ 6 เดือน

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี เชื่อว่า ประเทศไทยจะไม่เข้าสู่ภาวะเงินฝืด แม้ล่าสุดกระทรวงพาณิชย์จะประกาศอัตราเงินเฟ้อที่พบว่าติดลบต่อเนื่องกันถึง 6 เดือน เพราะเชื่อว่าเมื่อรัฐบาลใช้เงิน 8 แสนล้านบาทจากกฎหมายการกู้เงินทั้ง 2 ฉบับ เพื่อนำมาลงทุนตามแผนกระตุ้นเศรษฐกิจ ก็จะทำให้เกิดเม็ดเงินที่ลงไปหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ เกิดการจ้างงาน และไม่ทำให้เกิดภาวะเงินฝืด

“คงไม่เกิดเงินฝืดตามที่กังวลกัน เมื่อรัฐบาลเอาเงินออกจากระบบ 8 แสนล้านบาท เพื่อนำกลับมาลงทุนสร้างงานให้เงินหมุนเวียน เชื่อว่า จะไม่ทำให้เกิดภาวะเงินฝืดอย่างแน่นอน”

นายกรัฐมนตรี ยังระบุว่า การที่อัตราเงินเฟ้อของไทยอยู่ในระดับต่ำ จะทำให้เป็นช่องทางที่ได้ใช้นโยบายการเงินได้มากขึ้น

โดยวานนี้ กระทรวงพาณิชย์ รายงานอัตราเงินเฟ้อเดือนมิถุนายน 2552 ติดลบ 4.0% ต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 6 และเฉลี่ยครึ่งปีแรกอัตราเงินเฟ้อติดลบ 1.6%

นายศิริพล ยอดเมืองเจริญ ปลัดกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปหรือดัชนีเงินเฟ้อประจำเดือนมิถุนายน 2552 ปรับตัวลดลง 4% เทียบกับช่วงเดือนเดียวกันของปี 2551 ซึ่งเป็นการลดลงติดต่อกันเป็นเดือนที่ 6 และเงินเฟ้อต่ำสุดในรอบ 12 ปีนับตั้งแต่วิกฤตต้มยำกุ้งในปี 2540 สาเหตุมาจากการลดลงของดัชนีราคาหมวดพาหนะ การขนส่ง และการสื่อสาร 17.5% ค่าน้ำ ค่าไฟ และค่าประปา ลดลง 5% และค่าใช้จ่ายหมวดการศึกษาลดลง 10%

แต่เมื่อเทียบกับเดือนพฤษภาคม 2552 ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปเพิ่มขึ้น 0.4% แม้ว่าการติดลบต่อเนื่องกันเป็นเดือนที่ 6 แต่ยืนยันว่า ยังไม่ใช่ภาวะเงินฝืดอย่างที่เกิดความกังวล เพราะการที่จะเกิดภาวะเงินฝืดนั้น สินค้าส่วนใหญ่จะต้องปรับราคาลดลง แต่ขณะนี้ราคาสินค้าในหมวดอาหารยังสูงขึ้น มีเพียงหมวดพลังงานที่ลดลงรวมทั้งยังมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐที่ช่วยกระตุ้นการใช้จ่ายได้

สำหรับดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปเฉลี่ยระยะ 6 เดือนแรก (มกราคม-มิถุนายน 52) พบว่า ลดลง 1.6% เนื่องจากการลดลงของราคาน้ำมันเชื้อเพลิง 25.3% ค่ากระแสไฟฟ้า ลดลง25.5% และค่าน้ำประปาลดลง 36.7% ส่วนหมวดเครื่องนุ่งห่มและรองเท้า ลดลง0.9% เป็นสำคัญ ทั้งนี้ดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐานของประเทศประจำเดือนมิถุนายน 2552 เท่ากับ 102.5 ลดลง 1% เมื่อเทียบกับช่วงเดือนเดียวกันของปีก่อน แต่หากเทียบกับเดือนพฤษภาคม 2552 จะเพิ่มขึ้น 0.2% และเฉลี่ย 6 เดือนแรกปีนี้ ขยายตัวสูงขึ้น 0.7% นายศิริพล กล่าวว่า

สำหรับเงินเฟ้อทั้งปี 2552 นั้น กระทรวงพาณิชย์ยังคงคาดไว้ที่เป้าหมายเดิม คือ 0-0.5% เนื่องจากในช่วงครึ่งปีหลัง เชื่อว่า อัตราเงินเฟ้อจะกลับมาเป็นบวกได้ จากราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้น อัตราแลกเปลี่ยนอาจจะแข็งค่าขึ้น และบางมาตรการของรัฐที่จะเข้ามาช่วยประชาชนในด้านค่าครองชีพ อย่างไรก็ตามภายใน 1-2 เดือนข้างหน้าจะทบทวนอัตราเงินเฟ้อใหม่

นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวยอมรับว่า ในทางเทคนิค ประเทศไทยเข้าสู่สภาวะเงินฝืดแล้ว แต่ไม่ใช่เรื่องที่น่ากังวล เพราะอัตราเงินเฟ้อที่ลดลงเกิดจากราคาน้ำมันที่ลดลง ประกอบกับรัฐบาลได้ใช้ 5 มาตรการ 6 เดือน ทำให้ต้นทุนราคาสินค้าปรับลดลง ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานยังคงเป็นบวก แสดงให้เห็นว่ากำลังซื้อในประเทศยังมีอยู่ ดังนั้น ประเทศไทยจะไม่เกิดภาวะเงินฝืดขึ้น

อย่างไรก็ตาม อัตราเงินเฟ้อที่ติดลบต่อเนื่อง 6 เดือน อาจทำให้เกิดภาวะเงินฝืดขึ้นในธุรกิจบางสาขา อาทิ วัสดุก่อสร้าง รัฐบาลต้องเร่งเดินหน้ามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ เพื่อไม่ให้ภาวะเงินฝืดครอบคลุมทุกสินค้า
กำลังโหลดความคิดเห็น