"บิ๊ก บขส." เตรียมแผนย้ายสถานีขนส่ง "หมอชิต 2" ออกไปชานเมือง เล็งปักหลักที่ "รังสิต" ภายใน 3-4 ปีข้างหน้า เพื่อรองรับส่วนต่อขยายโครงการรถไฟฟ้าสายสีแดง เชื่อมการเดินทางจาก "เหนือ-อีสาน" เข้าตัวเมืองได้สะดวกขึ้น ยอมรับปริมาณการใช้เริ่มแออัด-การจราจรคับคั่ง โดยเฉพาะช่วงเวลาเร่งด่วน-เทศกาล บอร์ด บขส.ไฟเขียวแล้ว คาดสรุปแผนได้ภายในปีนี้
นายชัยรัตน์ สงวนชื่อ อธิบดีกรมการขนส่งทางบกในฐานะกรรมการบริษัทขนส่ง จำกัด (บขส.) เปิดเผยว่า ขณะนี้ บขส.อยู่ระหว่างจัดทำแผนการย้ายสถานีขนส่งหมอชิต 2 จากบริเวณถนนกำแพงเพชร ไปที่รังสิต เนื่องจากสถานีขนส่งหมอชิต 2 ปัจจุบันมีพื้นที่คับแคบและมีปัญหาจราจรอย่างมาก คาดว่าจะเปิดสถานีแห่งใหม่ที่รังสิตอีกประมาณ 3-4 ปีข้างหน้า เพื่อให้พร้อมกับการเปิดเดินรถไฟฟ้าสายสีแดง ช่วงบางซื่อ-รังสิต เพื่อให้การเดินทางเข้าเมืองมีความสะดวกมากขึ้น
นายวุฒิชาติ กัลยาณมิตร กรรมการผู้จัดการใหญ่ บขส. กล่าวว่า ได้จ้างมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรีศึกษารายละเอียดโครงการจัดทำแผนแม่บทในการพัฒนาที่ดินสถานีขนส่งหมอชิต เพื่อใช้เป็นข้อกำหนดต้นแบบสำหรับการพัฒนาสถานีขนส่งทุกแห่งของ บขส.รวมถึงใช้เป็นแนวทางในการพัฒนาสถานีขนส่งต่างๆ ให้มีศักยภาพ
นายวุฒิชาติ ระบุว่า เมื่อเร็วๆ นี้ บขส.ได้นำเสนอให้คณะกรรมการ บขส. ที่มีนายปิยะพันธ์ จัมปาสุต เป็นประธานพิจารณาแล้ว โดยบอร์ดได้มอบให้ บขส.กลับไปจัดทำรายละเอียดโครงการให้มีความเหมาะสมและคุ้มทุน
"บอร์ดรับทราบถึงปัญหาความแออัดของสถานีขนส่งหมอชิตในขณะนี้ จึงให้ฝ่ายบริหารไปจัดทำรายละเอียดเพิ่มเติม ซึ่งประมาณกลางเดือน ก.ค.2552 นี้ จะนำเสนอที่ประชุมบอร์ดพิจารณาอีกครั้ง"
นายวุฒิชาติ กล่าวเสริมว่า สถานีขนส่งหมอชิต 2 ถนนกำแพงเพชร เริ่มมีความคับแคบและการจราจรติดขัด ทางเข้าออกมีทางเดียว คาดว่าภายในปีนี้จะแล้วเสร็จ และสรุปความชัดเจนได้ว่าจะเริ่มดำเนินการก่อสร้างรูปแบบใด
"ตอนนี้ หมอชิต 2 แออัดคับแคบ และจราจรติดขัดมาก โดยเฉพาะชั่วโมงเร่งด่วน และช่วงเทศกาล ดังนั้น จึงมีแนวคิดที่จะย้ายออกไปอยู่ในชานเมืองที่มีระบบการขนส่งพร้อมรองรับ ซึ่งที่รังสิตมองว่าเหมาะสม เพราะอยู่ติดกับถนนสายหลักที่สามารถเดินทางไปได้ทั้งสายเหนือและตะวันออกเฉียงเหนือ และในอนาคตอีก 3-4 ปี จะมีรถไฟฟ้าสายสีแดง ช่วงบางซื่อ-รังสิต ที่กระทรวงคมนาคมจะก่อสร้างเร็วๆ นี้"
นอกจากนี้ บขส.จะดำเนินการปรับปรุงคุณภาพการบริการเดินรถของบริษัทฯ จำนวน 3 เส้นทาง ประกอบด้วย เส้นทาง 18 กรุงเทพฯ-เชียงใหม่ ม.4(ก) เส้นทาง 5 กรุงเทพฯ-หนองบัวลำภู ม.4(ข) และเส้นทาง 984 กรุงเทพฯ-ตรัง ม.4(ข) และจะยกระดับมาตรฐานคุณภาพการให้บริการด้านความสะดวก ปลอดภัย และตรงต่อเวลา เพื่อให้ผู้ใช้บริการมีความมั่นใจและพึงพอใจมากยิ่งขึ้น