“ไอเอ็มเอฟ” แนะสถาบันการเงินในอาเซียนเพิ่มทุน เพื่อตั้งรับผลกระทบวิกฤต ศก.โลก เพราะปัญหาที่เกิดขึ้น มาจากภาคเศรษฐกิจที่แท้จริง อาจส่งผลกระทบต่อความสามารถในการชำระหนี้ของลูกค้าเงินกู้ของสถาบันการเงิน
นายศุภรัตน์ ควัฒนกุล ปลัดกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า การประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสกระทรวงการคลังและธนาคารกลางอาเซียน+3 ในวันนี้ ซึ่งเป็นวันที่ 3 โดยมีผู้แทนจากธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเซีย (เอดีบี) และ กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) ร่วมประชุมด้วย ที่ประชุมได้หารือถึงภาพรวมเศรษฐกิจโลกที่กำลังเป็นปัญหาและเชื่อว่าจะส่งผลกระทบรุนแรงมากขึ้น และคาดว่า เศรษฐกิจของประเทศกลุ่มอาเซียน รวมถึงไทยจะได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจโลกด้วยเช่นกัน
ทั้งนี้ ไอเอ็มเอฟ ได้เตือนประเทศในภูมิภาคอาเซียนให้ระวังผลกระทบที่อาจเกิดกับภาคสถาบันการเงิน แม้ขณะนี้จะมีความแข็งแกร่งและยังสามารถรองรับผลกระทบจากเศรษฐกิจโลกได้ แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นมาจากภาคเศรษฐกิจที่แท้จริง (Real Sector) อาจส่งผลกระทบต่อความสามารถในการชำระหนี้ของลูกค้าเงินกู้ของสถาบันการเงิน
ดังนั้น ในที่สุดแล้วผลกระทบดังกล่าวอาจจะทำให้สถาบันการเงินเกิดปัญหาสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) และอาจทำให้เกิดปัญหาด้านสถานะ จึงเห็นว่าขณะนี้สถาบันการเงินและธนาคารพาณิชย์จำเป็นต้องมีการเพิ่มทุนให้เพียงพอรองรับผลกระทบที่เกิดขึ้น เพื่อไม่ให้เกิดคามเสียหาย และเพื่อให้สถาบันการเงินมีความพร้อมในการปล่อยเงินกู้เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจต่อไป
“แม้ตอนนี้สถาบันการเงินในภูมิภาคยังแข็งแกร่ง ไม่ได้รับผลกระทบจากวิกฤติโลก แต่ไอเอ็มเอฟมองว่าสถาบันการเงินควรจะรีบเพิ่มทุนในช่วงนี้ เพราะหากช้าไปอาจจะไม่ทันกับวิกฤติที่รุนแรงขึ้น ซึ่งจะทำให้การเพิ่มทุนยากลำบากและมีต้นทุนที่สูงขึ้นด้วย”
ปลัดกระทรวงการคลัง กล่าวอีกว่า ในการประชุม รมว.คลังอาเซียน ในวันพรุ่งนี้ ในส่วนของไทย นายกรณ์ จาติกวณิช รมว.คลัง จะได้นำเสนอแนวทางการจัดตั้งกองทุนโครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure Fund) ให้ที่ประชุมพิจารณา
นอกจากนี้ จะมีการผลักดันเพื่อให้เกิดความคืบหน้าเกี่ยวกับมาตรการริเริ่มต่างๆ เช่น มาตรการริเริ่ม ที่เชียงใหม่ (Chaing Mai Initiative:CMI) การจัดตั้งกองทุนความร่วมมือทางการเงินในการนำเงินสำรองระหว่างประเทศร่วมจัดตั้งกองทุน ซึ่งขณะนี้ประเทศสมาชิกอาเซียน 10 ประเทศ มีข้อตกลงร่วมกันที่พร้อมจะนำเงินสำรองฯสมทบเข้ากองทุน
การตั้งกองทุนดังกล่าว ยังติดปัญหาเกี่ยวกับกลุ่มประเทศ+3 คือ จีน เกาหลีใต้ และญี่ปุ่น ซึ่งอาจจะมีการนำข้อสรุปในการประชุมวันพรุ่งนี้ นำไปหารือในการประชุม รมว.คลังอาเซียน+3 อีกครั้ง ในเดือนพฤศภาคม 2552 ที่บาหลี ประเทศอินโดนีเซีย
“ตอนนี้กลุ่มอาเซียน มีข้อตกลงร่วมกันที่จะนำเงิน reserve สมทบเข้ากองทุนความร่วมมือทางการเงิน แต่ยังมีปัญหาเกี่ยวกับประเทศ +3 ซึ่งคงจะมีการหารือกันในกลางปีนี้ ซึ่งไม่แน่ใจว่าจะมีข้อสรุปได้หรือไม่ และเป็นเรื่องพูดยากว่าจะมีข้อตกลงได้ทัน ที่จะรองรับวิกฤตเศรษฐกิจโลกหรือไม่ด้วย” ปลัดกระทรวงการคลัง กล่าวสรุปทิ้งท้าย