xs
xsm
sm
md
lg

ป.ป.ท.แก้เกมบิ๊ก กบข.ชง ยธ.ตั้งทีมไล่ล่าไอ้โม่งสวมสูท

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เลขาฯ ป.ป.ท.เตรียมชง รมว.ยุติธรรม พรุ่งนี้ แต่งตั้งชุดไล่ล่าโจรสวมสูทปล้นเงินกองทุน หลังบอร์ด กบข.ฮึดสู้ ชงตีความอำนาจ ป.ป.ท.พร้อมตั้งคณะกรรมการสอบกันเอง

นายธาริต เพ็งดิษฐ์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) เปิดเผยว่า ในวันพรุ่งนี้ (23 มี.ค.) ป.ป.ท.จะเดินหน้าตรวจสอบความไม่ชอบมาพากลในกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) โดยตนจะเสนอต่อนายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ลงนามแต่งตั้งคณะทำงานเข้าตรวจสอบการลงทุนของ กบข.โดยจะเป็นการสนธิกำลังของ ป.ป.ท.กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) และสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) เพื่อใช้อำนาจตามกฎหมาย 3 ฉบับ ของ ป.ป.ท. ดีเอสไอ และ ปปง.เข้าตรวจสอบกระแสการเงินว่าผลประโยชน์ทับซ้อน หรือมีการเอื้อประโยชน์กับกลุ่มบุคคลใดหรือไม่

นอกจากนี้ จะมีการทาบทามบุคคลภายนอกจากสำนักงานกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) สำนักงานตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) วิทยาลัยตลาดทุน กระทรวงการคลัง สำนักงานอัยการสูงสุด และนักวิชาการอิสระ ให้ร่วมเป็นคณะกรรมการตรวจสอบ กบข.ด้วย

นายธาริต กล่าวอีกว่า สำหรับกรณีที่คณะกรรมการ กบข.มีมติให้ผู้แทน ป.ป.ท.เข้าร่วมการตรวจสอบการลงทุนของ กบข.นั้น ตนยินดีให้ความร่วมมือในการส่งผู้แทนเข้าร่วมกับคณะกรรมการชุดดังกล่าว แม้จะเป็นการตรวจสอบภายในกันเอง แต่การตรวจสอบจากภายนอกจากหน่วยบังคับกฎหมายยังต้องทำต่อไป โดยในส่วนของกระทรวงยุติธรรมจะเสนอให้ตั้งศูนย์ประสานงานการตรวจสอบ เพื่อเปิดให้สมาชิกกบข.จำนวน 1.17 ล้านคน เข้าร้องเรียน และให้ข้อมูล เนื่องจากสมาชิก กบข.อยู่ในภาวะขาดหน่วยงานเข้ามาดูแล ทั้งที่เป็นข้าราชการที่ได้รับความเดือดร้อน

ทั้งนี้ มีการตั้งข้อสังเกตว่า การเสนอให้ รมว.ยุติธรรม ลงนามแต่งตั้ง ป.ป.ท. ดีเอสไอ และ ป.ป.ง. เข้าร่วมการตรวจสอบการลงทุนของ กบข. เป็นการแก้เกมกลับของ ป.ป.ท. ภายหลัง กบข.พยายามให้มีการตรวจสอบภายในโดยเป็นคนกันเอง พร้อมสวนกลับ โดยตั้งข้อสังเกตถึงอำนาจสอบสวนของ ป.ป.ท.โดยจะเสนอให้กฤษฎีกาตีความประเด็นอำนาจสอบสวน

นายศุภรัตน์ ควัฒน์กุล ปลัดกระทรวงการคลัง ในฐานะประธานกรรมการ (บอร์ด) กบข.กล่าวถึงผลสรุปการประชุมบอร์ด เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยระบุว่า กบข.ได้มีข้อสรุปให้ตั้งคณะกรรมการเฉพาะกิจเพื่อตรวจสอบการดำเนินงานของ กบข.ในปี 2551 จนถึงปัจจุบัน โดยคณะกรรมการเฉพาะกิจดังกล่าวจะมีอำนาจตรวจสอบใน 3 ส่วน คือ 1.ตรวจสอบการลงทุนและการดำเนินงานอื่นของ กบข.ตั้งแต่ปี 2551 จนถึงปัจจุบันว่าเป็นไปตามกฎหมาย ระเบียบ คำสั่ง ประกาศ และเป็นไปตามมติของคณะกรรมการกบข.ที่เกี่ยวข้องหรือไม่

2.ตรวจสอบการดำเนินงานของ กบข.ว่า ได้บริหารเงินลงทุนเพื่อรักษาผลประโยชน์ของสมาชิกอย่างมีประสิทธิภาพตามแนวทางการดูแลเงินออมเพื่อการเกษียณอายุของสมาชิกแล้วหรือไม่ และ 3.ตรวจสอบแนวทางการประชาสัมพันธ์ข้อมูลข่าวสารต่างๆ ของ กบข.และการชี้แจงสมาชิกว่าเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลเพียงใด

คณะกรรมการเฉพาะกิจดังกล่าว จะต้องเสนอรายงานผลผลการตรวจสอบของคณะกรรมการเฉพาะกิจต่อคณะกรรมการกบข.ภายใน 30 วัน นับตั้งแต่วันที่ 20 มี.ค.2552 เพื่อจะพิจารณาเสนอรายงานต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังต่อไป โดยให้ กบข.และบุคคลที่เกี่ยวข้องให้ความร่วมมือกับคณะกรรมการเฉพาะกิจในการดำเนินการอย่างเต็มที่

นายศุภรัตน์ กล่าวเสริมว่า คณะกรรมการเฉพาะกิจมี นายสมพล เกียรติไพบูลย์ เป็นประธานกรรมการ โดย นายสมพล ถือเป็นบุคคลที่มีความรู้ความสามารถและเป็นผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งเป็นที่ยอมรับ นอกจากนี้ยังเคยเป็นข้าราชการพลเรือนมาโดยตำแหน่งสุดท้าย คือ ปลัดกระทรวงพาณิชย์มานั่งเป็นประธานคณะกรรมการเฉพาะกิจดังกล่าว

นอกจากนี้ จะมีองค์ประกอบจากตัวแทนของหน่วยงานต่างๆ ทั้งกระทรวงการคลัง สำนักงานอัยการสูงสุด ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย สำนักงานตำรวจแห่งชาติ สำนักงานป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) น.ส.บุญชู มั่งคั่ง ผู้แทนสมาชิกซึ่งเป็นข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา นายอภิชาติ จีรวุฒิ ผู้แทนสมาชิกซึ่งเป็นข้าราชการพลเรือน และผู้อำนวยการสำนักกฎหมาย กบข.

อย่างไรก็ตาม ในระหว่างนี้ ป.ป.ท.จะตั้งคณะกรรมการขึ้นตรวจสอบด้วย คณะกรรมการกบข. ก็จะขอดูอำนาจตามกฎหมายก่อน ซึ่งหาก ทั้งนี้ ระหว่างที่คณะกรรมการเฉพาะกิจทำการตรวจสอบ นายวิสิฐ ตันติสุนทร เลขาธิการกบข.ยังคงปฏิบัติหน้าที่ได้ตามปกติ เพราะไม่ใช่เป็นการตรวจสอบเลขาธิการกบข.แต่ประการใด แต่เป็นการตรวจสอบใน 3 ประเด็นหลักดังกล่าวเพื่อให้เกิดความชัดเจนขึ้นมา

ส่วนกรณีที่มีการพูดถึงอำนาจการเข้ามาตรวจการทำงานของ ป.ป.ท.นั้น นายชัยเกษม นิติสิริ อัยการสูงสุด กล่าวว่า ตามกฏหมายแล้วผู้ที่มีอำนาจเข้ามาตรวจสอบคือ คณะกรรมการ ป.ป.ท. ไม่ใช่สำนักงานคือเลขาธิการ ซึ่งในส่วนของคณะกรรมการเอง ปัจจุบันยังไม่มีการแต่งตั้ง ดังนั้น เราจึงเห็นว่าจะเสนอเรื่องดังกล่าวผ่านกระทรวงการคลัง เพื่อให้กฤษฎีกาพิจารณาดีความว่า ป.ป.ท.มีอำนาจเข้ามาตรวจสอบการทำงานของ กบข.ตามกฎหมายหรือไม่

อย่างไรก็ตาม หากทาง ป.ป.ท.มั่นใจว่า มีอำนาจถูกต้อง เราก็จะเสนอให้คณะกรรมการ กบข. พิจารณาอีกครั้ง หากคณะกรรมการเห็นด้วยก็พร้อมให้เข้ามาตรวจสอบว่ามีการลงทุนที่ถูกต้องตามกฏหมายหรือไม่
กำลังโหลดความคิดเห็น