xs
xsm
sm
md
lg

รัฐรับมือธุรกิจอ่อนแรงลงทุน ม.ค.สินเชื่อชะลอติดต่อเดือนที่ 3

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

แบงก์ชาติรายงานภาวะสินเชื่อสิ้นเชื่อ ม.ค.52 ต่อ “ครม.เศรษฐกิจ” ระบุ สภาพคล่องสินเชื่อชะลอตัวติดต่อเดือนที่ 3 ตามภาวะอ่อนล้าของเศรษฐกิจ ด้านรายสาขาลดทุกภาค เว้นสินเชื่อบ้านขยายเพิ่มเป็น 12.7% กระทรวงคลังชี้หนี้สาธารณะปีงบ 53 เพิ่มสู่ระดับร้อยละ 45.31 ของจีดีพี “รัฐบาลมาร์ค” แก้เกม! ทุ่ม 400 ล้าน ล็อบบี้สื่อมืออาชีพระดับโลกฟื้นความเชื่อมั่นกระตุ้น ศก.ไทย

วานนี้ (11 มี.ค.) นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ได้เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการรัฐมนตรีเศรษฐกิจ (ครม.เศรษฐกิจ) ครั้งที่ 7/2552 โดยมีรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมประชุม

ทั้งนี้ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้รายงานภาวะสินเชื่อ เงินฝาก และสภาพคล่องของระบบธนาคารพาณิชย์ ณ สิ้นเดือนมกราคม 2552 สรุปว่า สินเชื่อระบบธนาคารพาณิชย์ขยายตัวในอัตราที่ชะลอลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 (10% yoy) เนื่องจากความต้องการสินเชื่อภาคเอกชนชะลอลงจากภาวะเศรษฐกิจ ซึ่งประมาณการดัชนีการลงทุนภาคเอกชนในเดือนมกราคม 2552 หดตัวลง คิดเป็น 7.9% (yoy) ต่อเนื่องจากเดือนธันวาคม 2551 ที่หดตัว 3.6% (yoy)

สินเชื่อรายสาขาชะลอตัวลงทั้งสินเชื่อธุรกิจและสินเชื่ออุปโภคบริโภคส่วนบุคคล โดยการขยายตัวของสินเชื่อธุรกิจ ณ สิ้นเดือนมกราคม 2552 อยู่ที่ 8.9% (yoy) ลดลงจากไตรมาส 4 ปี 2551 ที่อยู่ในระดับ 10.5% (yoy) และสินเชื่ออุปโภคบริโภคส่วนบุคคล ชะลอลงจาก 14.0% เป็น 13.3% (yoy) ยกเว้นสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยขยายตัวเพิ่มขึ้นจาก 12.5% ณ สิ้นปี 2551 เป็น 12.7%

เงินฝากขยายตัวชะลอลงจากสิ้นปี 2551 อยู่ที่ 5.4% (yoy) จากการย้ายเงินฝากไปลงทุนหลักทรัพย์อื่น สภาพคล่อง ปรับตัวดีขึ้น โดยสัดส่วนสินเชื่อต่อเงินฝากรวม B/E (Loan/Deposit+B/E) ลดลงจาก 88.3% เป็น 86.9%

ทั้งนี้ พบว่า เงินบาทในสัปดาห์ที่ผ่านมาผันผวนอยู่ในระดับ 35-97-36.35 บาท/ดอลลาห์ สรอ. โดยปรับตัวแข็งค่าขึ้นในช่วงปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา และเมื่อเปรียบเทียบกับสกุลเงินในภูมิภาค ยังมีแนวโน้มอยู่ในระดับใกล้เคียงกัน นอกจากนี้ อัตราดอกเบี้ยตลาดเงินระยะสั้นยังเคลื่อนไหวสอดคล้องกับอัตราดอกเบี้ยนโยบาย

หนี้สาธารณะปี 53 พุ่ง 4,460 พันล้านบาท

รายงานข่าวแจ้งว่า กระทรวงการคลัง ได้รายงานยอดหนี้สาธารณะคงค้าง ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2551 มีจำนวน 3,471.34 พันล้านบาท หรือร้อยละ 38.13 ของจีดีพี (โดยจีดีพีปี 2551 เท่ากับ 9,102.80 พันบ้านบาท) ประกอบด้วย 1) หนี้รัฐบาลกู้โดยตรง 2,134.73 พันล้านบาท 2) หนี้รัฐวิสาหกิจที่ไม่เป็นสถาบันการเงิน 1,047.26 พันล้านบาท 3) หนี้รัฐวิสาหกิจที่เป็นสถาบันการเงิน 143.94 พันล้านบาท 4) หนี้กองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน (FIDF) 136.91 พันล้านบาท และ 5) หนี้หน่วยงานอื่นของรัฐ 8.50 พันล้านบาท

ทั้งนี้ เมื่อเปรียบเทียบหนี้สาธารณะต่อจีดีพของกลุ่มประเทศพัฒนาแล้วและกลุ่มประเทศเกิดใหม่รวม 18 ประเทศ เช่น ญี่ปุ่น (ร้อยละ 194.2) สหรัฐอเมริกา (ร้อยละ 63.4) สหราชอาณาจักร (ร้อยละ 42.9) อินเดีย (ร้อยละ 69.8) มาเลเซีย (ร้อยละ 42.7) และเวียดนาม (ร้อยละ 38.6) เป็นต้น พบว่าสัดส่วนหนี้สาธารณะของประเทศไทยอยู่ในระดับไม่สูงมาก

สำหรับแนวโน้มหนี้สาธารณะคงค้างและภาระหนี้ต่องบประมาณของไทย ปี 2552 และ 2553 คาดว่า จะมีจำนวนประมาณ 4,063 พันล้านบาท หรือร้อยละ 43.34 ของจีดีพี และเพิ่มขึ้นเป็น 4,460 พันล้านบาท หรือร้อยละ 45.31 ของจีดีพีตามลำดับ ซึ่งเป็นผลจากการก่อหนี้ใหม่ของรัฐบาลและรัฐวิสาหกิจจากแผนฟื้นฟูเศรษฐกิจระยะเร่งด่วน และแผนฟื้นฟูเศรษฐกิจระยะปานกลาง โดยอัตราส่วนหนี้ต่อจีดีพี (Debt/GDP) ยังคงอยู่ภายใต้กรอบความยั่งยืนทางการคลังไม่เกินร้อยละ 50 และภาระหนี้ต่องบประมาณไม่เกินร้อยละ 50

ทุ่ม 400 ล.สร้างอิมเมจ “ไทย” แหล่งลงทุน

แหล่งข่าวจากทำเนียบรัฐบาล กล่าวว่า ในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 10 มี.ค.ที่ผ่านมา ได้มีการเสนอผลการประชุมคณะกรรมการรัฐมนตรีเศรษฐกิจ เมื่อวันที่ 4 มี.ค. เข้าสู่ที่ประชุมเป็นวาระจรเรื่องที่ 1 อย่างไรก็ตาม เอกสารดังกล่าวไม่มีการนำมาเปิดเผย และแถลงต่อสื่อมวลชนแต่อย่างใด

จากการตรวจสอบ พบว่า ผลการประชุม ครม.เศรษฐกิจได้เสนอให้ ครม.พิจารณาแนวทางการกระตุ้นเศรษฐกิจ เพื่อการลงทุนสำหรับอนาคต โดยอ้างถึงคณะกรรมการที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจ ซึ่งมี นายสถาพร กวิตานนท์ เป็นประธาน ได้เสนอเรื่องแนวทางการกระตุ้นเศรษฐกิจเพื่อการลงทุนสำหรับอนาคต ประกอบด้วย แนวทางดำเนินการในระยะเร่งด่วน และทิศทางการพัฒนาประเทศในอนาคต

แนวทางดำเนินการในระยะเร่งด่วน มี 3 แนวทางหลัก ได้แก่ แนวทางที่ 1 จัดทำโครงการฟื้นฟูภาพลักษณ์เศรษฐกิจไทย ดำเนินการร่วมกับบริษัทสื่อสารมวลชนมืออาชีพระดับโลก โดยจัดสรรงบประมาณ 400 ล้านบาท ให้สำนักเลขาธิการนายกฯ และแต่งตั้งคณะกรรมการฟื้นฟูภาพลักษณ์และความเชื่อมั่นเศรษฐกิจไทย เป็นกลไกรับผิดชอบ ดำเนินการ จัดประชุม สัมมนาผู้บริหารระดับสูงของบริษัทชั้นนำของโลก (CEO FORUM) หรือ การประชุมเศรษฐกิจในระดับภูมิภาค (Economic Forum) โดยอาจดำเนินการร่วมกับสื่อสารมวลชนระดับโลก เช่นCNN Forbes หรือ CNBC เป็นต้น

นอกจากนี้ จัดตั้งศูนย์ประสานเพื่อเร่งรัดและอำนวยความสะดวกในการประกอบธุรกิจ เพื่อให้ข้อมูล คำปรึกษา และขอใบอนุญาตการประกอบธุรกิจในทุกขั้นตอน เพื่อสร้างความเชิ่อมั่นให้นักลงทุน

ส่วนแนวทางที่ 2 ควบคุมความเสียหายจากวิกฤตให้อยู่ในวงจำกัด และเร่งช่วยเหลือภาคการผลิตจริง ทั้งการลงทุน การส่งออก และการท่องเที่ยว ซึ่งเป็นเส้นเลือดใหญ่ของระบบเศรษฐกิจ ให้สามารถฝ่าวิกฤตในครั้งนี้ได้ โดยจัดทำระบบป้องกันรองรับกรณีเกิดปัญหาและเยียวยา ควบคุมดูแลค่าใช้จ่ายด้านสาธารณูปโภคต่างๆสำหรับภาคอุตสาหกรรม เร่งรัดการแก้ไขปัญหาสำคัญของนักลงทุนที่ค้างมานานและได้ทำลายความเชื่อมั่นของนักลงทุน การแก้ไขปัญหาสภาพคล่องของผู้ประกอบการ กำหนดมาตรการรองรับการเลิกจ้างแรงงาน เปิดเว็ปไซต์ แสดงข้อมูลการใช้จ่ายงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมกลางปี จำนวน 1.16 แสนล้านบาท เพื่อให้ประชาชนสามารถตรวจสอบความคืบหน้า

แนวทางที่ 3 กระตุ้นให้เกิดการลงทุน เพื่อสร้างรากฐานการพัฒนาความสามารถในการแข่งขันของเศรษฐกิจไทยในอนาคต ทั้งนี้ เพื่อให้ประเทศมีความแข็งแกร่งและมีความพร้อมสูงที่สุด เมื่อเศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัว

แหล่งข่าวแจ้งว่า เอกสารผลการประชุม ครม.เศรษฐกิจ ยังระบุด้วยว่า กระทรวงพาณิชย์ได้เสนอ เรื่อง การจัดงานไทยรวมพลัง กู้เศรษฐกิจชาติ โดยบูรณาการหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พร้อมขออนุมัติเพิ่มเติมวงเงินจำนวน 90 ล้านบาท เพื่อเป็นงานรองรับประชาชนที่มีรายได้ต่ำกว่า 15,000 บาท หลังจากได้รับเช็คช่วยชาติจากรัฐบาลจำนวน 2,000 บาท จะได้นำมาจับจ่ายใช้สอย สินค้าราคาประหยัด
กำลังโหลดความคิดเห็น