xs
xsm
sm
md
lg

การบินไทยขาดทุน 2.1 หมื่น ล.เบรกกลับสุวรรณภูมิหลัง เม.ย.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

การบินไทย สุ่มเสี่ยงวิกฤต ผลประกอบการปี 51 ขาดทุนสุทธิเป็นประวัติการณ์ 2.13 หมื่นล้าน ขาดทุนต่อหุ้น 12.58 บาท ขณะที่ส่วนของทุนจดทะเบียนชำระแล้วแค่ 1.69 หมื่นล้าน ชี้ปมใหญ่ผิดพลาดเรื่องบริหารราคาน้ำมัน ด้านบอร์ดเห็นชอบแผนฟื้นฟูธุรกิจ ตั้ง “พิชัย” คุมทีมมีอำนาจเบ็ดเสร็จ คาดปี 52 พ้นวิกฤตขาดทุน เห็นกำไรแน่ 4,000 ล้านบาท พร้อมชะลอย้ายสนามบินดอนเมืองกลับสุวรรณภูมิอีก 1 เดือน อ้างให้ผ่านช่วงสงกรานต์เดือนเม.ย.ด้านสหภาพฯ ชี้ไม่จริงใจ ตอนย้ายกลับเร่งประกาศ แต่ชะลอกลับไม่รีบแจ้ง ระบุโอนเส้นทางให้นกแอร์ แน่นอนการบินไทยเสียประโยชน์

บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) หรือ THAI หน่วยงานรัฐวิสาหกิจชั้นดีของไทย กำลังเข้าสู่ภาวะวิกฤต โดยเฉพาะประสิทธิภาพในการบริหารจัดการที่ไม่ทันเหตุการณ์ จนส่งผลให้ฐานะการเงินของบริษัทค่อนข้างประสบปัญหา

ล่าสุด บริษัท การบินไทย ได้รายงานผลประกอบการประจำปีบัญชี 2551 สิ้นสุดวันที่ 31 ธ.ค.51 โดยมีผลขาดทุนสุทธิ 21,314 ล้านบาท ซึ่งในรอบปี 51 บริษัทต้องเผชิญกับวิกฤตการณ์ต่างๆ ได้แก่ ราคาน้ำมันในตลาดโลกที่ปรับตัวสูงสุดเป็นประวัติการณ์ สภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวทั่วโลกและสถานการณ์ความไม่สงบทางการเมืองภายในประเทศ เป็นผลให้ปีบัญชี 2551 บริษัทฯ มีรายได้จากการขายและการบริการรวม 200,118 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อนร้อยละ 1.6 แต่มีค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานรวม 206,780 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 10.8 สาเหตุหลักมาจากค่าน้ำมันเพิ่มขึ้นตามราคาน้ำมันที่เพิ่มขึ้นจากปีก่อน โดยเฉลี่ยถึงร้อยละ 47

ขณะที่ค่าเสื่อมราคาเพิ่มขึ้น เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงประมาณการอายุการใช้งานของเครื่องบินและเครื่องยนต์รุ่นใหม่จาก 20 ปี เป็น 15 ปี และการจ่ายชดเชยพนักงานที่เข้าร่วมโครงการร่วมใจจากองค์กร เพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายบุคลากรในระยะยาว นอกจากนี้ ณ วันสิ้นงวดค่าเงินบาทอ่อนลง ทำให้บริษัทขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ ซึ่งส่วนใหญ่เกิดจากการปรับยอดหนี้สินคงเหลือเป็นเงินตราต่างประเทศ ณ วันสิ้นงวด เป็นเงินบาท จำนวน 4,471 ล้านบาท ประกอบกับมีการตั้งสำรองประมาณการค่าความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นจากกรณีที่บริษัทถูกฟ้องคดีละเมิดกฎหมายการป้องกันการค้าที่ไม่เป็นธรรม 4,290 ล้านบาท และสำรองขาดทุนจากการด้อยค่าของเครื่องบิน ซึ่งอยู่ระหว่างการจำหน่าย 4,426 ล้านบาท เป็นผลให้บริษัทฯ มีผลการดำเนินงานขาดทุนสุทธิ 21,314 ล้านบาท หรือขาดทุนต่อหุ้น 12.58 บาท (ขณะที่ในงบดุลส่วนของทุนที่ออกและชำระแล้ว 16,989.0 ล้านบาท) เปรียบเทียบกับปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 4,428 ล้านบาท คิดเป็นกำไรต่อหุ้น 2.57 บาท

อย่างไรก็ดี หากไม่รวมขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ การตั้งสำรองประมาณการค่าความเสียหาย ที่อาจเกิดขึ้นจากคดีละเมิดกฎหมายการป้องกันการค้าที่ไม่เป็นธรรม และสำรองขาดทุนจากการด้อยค่าของเครื่องบิน บริษัทจะขาดทุนก่อนภาษีเงินได้ 10,413 ล้านบาท

ทั้งนี้ ฐานะการเงิน ณ วันที่ 30 ธ.ค.2551 บริษัทมีสินทรัพย์รวมทั้งสิ้น 259,534 ล้านบาท ลดลงจาก ณ วันที่ 31 ธ.ค.2550 จำนวน 20,741 ล้านบาท โดยมีหนี้สินรวมทั้งสิ้น 213,652 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 1,402 ล้านบาท และส่วนของผู้ถือหุ้นรวมทั้งสิ้น 45,882 ล้านบาท ลดลง 22,143 ล้านบาท

ด้านความเคลื่อนไหวราคาหุ้น บมจ.การบินไทย (THAI) วานนี้ (27 ก.พ.) ราคาหุ้นได้ปรับตัวเพิ่มขึ้นสวนทางภาวะตลาดหุ้นไทย โดยมีราคาต่ำสุดที่ 7.45 บาท ก่อนจะปิดซื้อขายที่ราคาสูงสุด 7.65 บาท เพิ่มขึ้นจากวันก่อน 0.05 บาท หรือคิดเป็น 0.66% มูลค่าการซื้อขายรวม 8.98 ล้านบาท ขณะที่ดัชนีตลาดหุ้นไทยปิดที่ 431.52 จุด ลดลง 0.42 จุด หรือ 0.10% มูลค่าการซื้อขายรวม 5,647.74 ล้านบาท

เห็นชอบแผนฟื้นฟูหวั่นล้ม!

นายสุรชัย ธารสิทธิ์พงษ์ ปลัดกระทรวงคมนาคมในฐานะประธานคณะกรรมการบริษัท การบินไทย เปิดเผยภายหลังการประชุมวานนี้ (27 ก.พ.) ว่า ที่ประชุมเห็นชอบหลักการแผนฟื้นฟูธุรกิจและการเงินของบริษัทแล้ว และได้ตั้งคณะกรรมการบริหารแผนฟื้นฟูธุรกิจบริษัท ประกอบด้วย 1.นายพิชัย ชุณหวชิร เป็นประธาน 2.นายอารีพงศ์ ภู่ชอุ่ม ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) 3.นายชัยศักดิ์ อังค์สุวรรณ รองปลัดกระทรวงคมนาคม 4.นายวัลลภ พุกกะณะสุต อดีตรองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ฝ่ายการพาณิชย์ บริษัท การบินไทย เป็นกรรมการ

5.พลอากาศเอก ณรงค์ศักดิ์ สังขพงศ์ รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ สำนักเลขานุการ บริษัทฯ ปฏิบัติหน้าที่ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท การบินไทย เป็นเลขานุการคณะกรรมการฯ และ 6. นายโชคชัย ปัญญายงค์ ผู้อำนวยการใหญ่ ฝ่ายโครงการท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ บริษัท การบินไทย เป็นผู้ช่วยเลขานุการคณะกรรมการ

โดยให้คณะกรรมการดังกล่าวไปทบทวนแผนครั้งสุดท้ายก่อนเสนอกระทรวงคมนาคมและกระทรวงการคลังภายใน 1 เดือน เพื่อนำไปสู่การปฎิบัติต่อไป โดยคณะกรรมการจะมีหน้าที่กำหนดนโยบาย วัตถุประสงค์ เป้าหมายและบริหารจัดการ กำกับดูแลฝ่ายบริหารให้ดำเนินการจัดทำแผนธุรกิจและดำเนินการตามแผนด้วย ทั้งนี้ เพื่อฟื้นฟูกิจการของบริษัท อย่างเป็นรูปธรรมและมีประสิทธิภาพ

เชื่อปี 52 มีกำไร 4,000 ล้านบาท

นายสุรชัย กล่าวว่า ตามแผนฟื้นฟูของบริษัท มีการตั้งเป้าหมายในการลดค่าใช้จ่ายในปี 2552 ไว้ประมาณ 5% จากค่าใช้จ่ายที่ไม่รวมค่าใช้จ่ายด้านน้ำมันเชื้อเพลิง ซึ่งมีสัดส่วนประมาณ 47%ของค่าใช้จ่ายทั้งหมดประมาณ 2แสนล้านบาท และคาดว่าถ้าดำเนินการได้ตามแผน ผลประกอบการในปี 2552 จะมีกำไรสุทธิประมาณ 4,000 ล้านบาท นอกจากนี้ ในปี 2552-2554 บริษัทมีความจำเป็นในการใช้เงินกู้เพื่อเข้ามาสนับสนุนการดำเนินธุรกิจรวม 20,000 ล้านบาท

“เชื่อว่า แผนฟื้นฟูของบริษัทไม่น่ามีปัญหาในขั้นตอนการเสนอ
กระทรวงคมนาคมและคลัง เพราะมีผู้แทนทั้งคมนาคมและคลังร่วมในทีมทำแผนด้วย ส่วนคณะกรรมการบริษัททั้งหมด ยังคงทำหน้าที่ตามปกติ โดยคาดว่าจะมีการลาออกก่อนการประชุมสามัญผู้ถือหุ้นวันที่ 22 เม.ย.2552” นายสุรชัย กล่าว

ด้าน พลอากาศเอก ณรงค์ศักดิ์ กล่าวว่า ในปี 2552 บริษัทมีความจำเป็นด้านการเงินเพื่อเสริมสภาพคล่องในการดำเนินธุรกิจที่มีวิกฤตประมาณ 18,000-19,000 ล้านบาท และการบริหารงานปี 2552 นั้น จะต้องเน้นลดค่าใช้จ่ายให้มาก เพื่อทำให้เกิดช่องว่างระหว่างรายได้และค่าใช้จ่ายมากที่สุด ซึ่งจะทำให้บริษัทมีกำไร ในภาวะที่เศรษฐกิจมีปัญหาและการเติบโตของรายได้ไม่มาก

ชะลอย้ายกลับสุวรรณภูมิอีก 1 เดือน

พลอากาศเอก ณรงค์ศักดิ์ สังขพงศ์ รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ สำนักเลขานุการบริษัท ปฏิบัติหน้าที่ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท การบินไทย กล่าวว่า ที่ประชุมคณะกรรมการบริหารนโยบาย (Executive Meeting Management : EMM) บริษัทเมื่อวันที่ 24 ก.พ.ที่ผ่านมา มีมติให้การบินไทยคงการให้บริการเที่ยวบินภายในประเทศที่ท่าอากาศยานดอนเมืองไปก่อน จนกว่าจะผ่านพ้นช่วงเทศกาลสงกรานต์ ซึ่งคาดว่าประมาณต้นเดือน พ.ค.จะประกาศการย้ายเที่ยวบินกลับไปสุวรรณภูมิอีกครั้ง หลังจากที่ก่อนหน้านี้ ได้ประกาศว่า จะย้ายเที่ยวบินภายในประเทศ กลับไปให้บริการที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ในวันที่ 29 มี.ค.2552 เป็นต้นไป

ทั้งนี้ เนื่องจากเห็นว่า ในช่วงเดือน เม.ย.นี้ เป็นช่วงฤดูท่องเที่ยวและเทศกาลสงกรานต์ มีผู้ใช้บริการสายการบินไทยค่อนข้างมาก การให้บริการเที่ยวบินภายในประเทศที่ท่าอากาศยานดอนเมืองไปยังท่าอากาศยานภูมิภาคต่างๆ จะทำให้ผู้โดยสารได้รับความสะดวกมากกว่า และจะทำให้บริษัทมีรายได้จากการให้บริการในช่วงเวลาดังกล่าว และยังเป็นการสนับสนุนนโยบายรัฐบาลในการอำนวยความสะดวกในการเดินทางเพื่อส่งเสริมด้านการท่องเที่ยวด้วย

พลอากาศเอก ณรงค์ศักดิ์ กล่าวว่า ฝ่ายการตลาดจะต้องเร่งทำประชาสัมพันธ์ให้แก่ผู้โดยสารที่ซื้อตั๋วเดินทางในช่วงเดือน เม.ย.ให้ทราบว่า บริษัทยังคงทำการบินที่ดอนเมืองจากที่มีการแจ้งไปก่อนหน้านี้ ว่า ผู้โดยสารที่ซื้อตั๋วเดินทางตั้งแต่วันที่ 29 มี.ค.2552 ต้องไปขึ้นเครื่องที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ เพื่อไม่ให้เกิดความสับสน

อย่างไรก็ตาม แผนการย้ายเที่ยวบินภายในประเทศกลับไปให้บริการที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมินั้น ในระยะยาวจะส่งผลดีต่อบริษัท โดยเฉพาะการลดค่าใช้จ่ายและการเพิ่มประสิทธิภาพในการหมุนเวียนการใช้เครื่องบิน

พลอากาศเอก ณรงค์ศักดิ์ กล่าวถึงการโอนเส้นทางบินภายในประเทศที่ขาดทุนให้บริษัท สายการบินนกแอร์ จำกัด ว่า ปัจจุบันเส้นทางภายในประเทศหลัก ที่การบินไทยให้บริการเช่น เชียงใหม่ และภูเก็ต นั้น มีกำไร แต่ยอมรับว่ามีบางเส้นทางที่ขาดทุนเช่น พิษณุโลก ซึ่งบริษัทยังคงต้องทำการบินต่อไป เพราะเป็นหน้าที่และข้อบังคับในการเป็นสายการบินแห่งชาติที่ต้องอำนวยความสะดวกให้แก่ประชาชน และการโอนเส้นทางให้นกแอร์บินแทนนั้น ก็ต้องดูศักยภาพนกแอร์ด้วยว่า รองรับได้หรือไม่เพราะปัจจุบันนกแอร์มีเครื่องบินเพียง 3 ลำเท่านั้น

สหภาพฯชี้การเมืองแทรกแซง

นางแจ่มศรี สุกโชติรัตน์ ประธานสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ บริษัท การบินไทยฯ กล่าวว่า การย้ายเที่ยวบินภายในประเทศของการบินไทยจากดอนเมืองไปสุวรรณภูมิ มีความไม่ชอบมาพากลตั้งแต่แรก เพราะมีความเร่งรีบ และมีการประชาสัมพันธ์ไปทั่วโลกแล้ว แต่การชะลอการย้ายกลับล่าสุดของฝ่ายบริหาร อาจจะเป็นเกมของการดำเนินการเพื่อสนองนโยบายนักการเมืองหรือไม่ เพราะขณะนี้ยังไม่มีการประชาสัมพันธ์ใดๆ ออกมา ซึ่งเชื่อว่า ในวันที่ 29 มี.ค.นี้จะมีผู้โดยสารสับสนแน่นอน

“ตอนที่จะย้ายกลับสุวรรณภูมิ ทำกันอย่างเร่งรีบ แต่พอชะลอไม่เร่งแจ้งเปลี่ยนแปลง เหมือนต้องการทำให้เกิดปัญหา และใช้เป็นเหตุผลว่า ผู้โดยสารมาใช้บริการที่ดอนเมืองน้อย จึงต้องเร่งย้ายไปสุวรรณภูมิ สหภาพฯ มองว่า เป็นเกมที่จะทำงานสนองนโยบายการเมืองมากกว่า และบริษัทก็จะได้รับความเสียหาย เพราะนอกจากผู้โดยสารจะสับสนกับนโยบายที่กลับไปกลับมาแล้ว รายได้ก็จะไม่เป็นไปตามเป้าหมายด้วย เนื่องจากเมื่อการบินไทยประกาศไม่บินที่ดอนเมืองแล้ว ผู้โดยสารก็หันไปซื้อตั๋วนกแอร์กับวันทูโก” นางแจ่มศรี กล่าวและย้ำว่า

สหภาพฯ จะรณรงค์ให้พนักงานการบินไทย เห็นถึงปัญหาที่จะเกิดขึ้นในการดำเนินนโยบายดังกล่าว เพราะการบินไทยจะสูญเสียโอกาสและเสียตลาดผู้โดยสารภายในประเทศให้แก่นกแอร์และวันทูโก และผลักดันให้คงการบินที่ดอนเมืองต่อไป หากนกแอร์และวันทูโกยังอยู่ที่ดอนเมืองการบินไทยก็ต้องอยู่

อย่างไรก็ตาม กรณีที่ รมว.คมนาคม ให้สัมภาษณ์ว่า จะให้การบินไทยโอนเส้นทางบินภายในประเทศให้นกแอร์ เป็นการแทรกแซงการบริหารงานภายในมากเกินไป เพราะการจะโอนเส้นทางใดให้นกแอร์จะต้องมีเหตุผลที่ชัดเจน และปัจจุบันการบินไทย ถือหุ้นในนกแอร์เพียง 39% ไม่มีอำนาจในการบริหารนกแอร์ จึงไม่ใช้บริษัทแม่ที่แท้จริง นโยบายดังกล่าวทำให้การบินไทยเสียประโยชน์
การบินไทยขาดทุน2.1หมื่นล.เบรกกลับสุวรรณภูมิหลังเม.ย.
การบินไทยสุ่มเสี่ยงวิกฤต ผลประกอบการปี 51 ขาดทุนสุทธิเป็นประวัติการณ์ 2.13หมื่นล้าน ขาดทุนต่อหุ้น 12.58 บาท ขณะที่ส่วนของทุนจดทะเบียนชำระแล้วแค่ 1.69 หมื่นล้าน ชี้ปมใหญ่ผิดพลาดเรื่องบริหารราคาน้ำมัน ด้านบอร์ดฯ เห็นชอบแผนฟื้นฟูธุรกิจ ตั้ง”พิชัย”คุมทีมมีอำนาจเบ็ดเสร็จ คาดปี 52 พ้นวิกฤตขาดทุน เห็นกำไรแน่ 4,000 ล้านบาท พร้อมชะลอย้ายสนามบินดอนเมืองกลับสุวรรณภูมิอีก 1 เดือน อ้างให้ผ่านช่วงสงกรานต์เดือนเม.ย. ด้านสหภาพฯ ชี้ไม่จริงใจ ตอนย้ายกลับเร่งประกาศ แต่ชะลอกลับไม่รีบแจ้ง ระบุโอนเส้นทางให้นกแอร์ แน่นอนการบินไทยเสียประโยชน์
กำลังโหลดความคิดเห็น