ผู้บริหารทีพีซีถอดใจ แล้วแต่รัฐบาลจะตัดสินใจ ขอเป็นเพียงผู้เสนอ 3 แนวทาง ให้ชี้เป็นชี้ตาย ปิด หรือเดินหน้ากิจการต่อ ระบุถ้าตัดสินใจปิด รัฐต้องควักกระเป๋าจ่ายอย่างน้อย 2.4 พันล้านบาท ไม่รวมค่าฟ้องร้อง แต่ถ้าเดินหน้ากิจการต่อต้องทำใจปรับโครงสร้างครั้งใหญ่
นายสรจักร เกษมสุวรรณ ประธานคณะกรรมการ บริษัท ไทยแลนด์ พริวิเลจ คาร์ด จำกัด หรือ ทีพีซี ผู้ดำเนินโครงการบัตรไทยแลนด์อีลิท เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการเห็นชอบ 3 แนวทางการจัดการกับทีพีซี เตรียมนำเสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย(บอร์ดททท.)เพื่อพิจารณา พร้อมนำเสนอต่อคณะรัฐมนตรี(ครม.)เป็นผู้พิจารณาตัดสิน
ซึ่ง 3 แนวทางได้แก่ 1.ยุติโครงการ พร้อมจ่ายเงินชดเชยแก่สมาชิก และผู้ให้บริการ(เวนเดอร์) 2.ดำเนินธุรกิจต่อไปภายใต้แผนการบริหารงานที่ปรับโครงสร้างการทำงานและเงื่อนไขใหม่ทั้งหมด และ 3.ขายหุ้นบางส่วนออกไปให้แก่เอกชนที่สนใจ โดยเหลือสัดส่วนที่ททท.ถือหุ้นไว้อย่างน้อย 25% เพื่อให้มีสิทธิ์ในการออกเสียงแสดงความคิดเห็นชี้ขาด
ทั้งนี้ในทางเลือกที่ 1 การปิดบริษัท รัฐบาลต้องเตรียมเงินไว้สำหรับชดเชยค่าเสียหายเบื้องต้นไม่ต่ำกว่า 2,435 ล้านบาท แบ่งเป็นเงินชดเชยให้สมาชิกที่มีอยู่ 2,570 ราย ทั้งหมด 2,240 ล้านบาท หนี้สินที่ต้องชำระให้กับผู้ให้บริการ(เวนเดอร์) ที่มีสัญญาผูกพันกันอยู่ 168 ล้านบาท และเงินสำหรับเลิกจ้างพนักงานอีกราว 16-17 ล้านบาท โดยค่าเสียหานดังกล่าวยังไม่รวมถึงค่าเสียหายหากสมาชิกมีการฟ้องร้อง
นอกจากในแนวทางนี้ยังจะมีความเสียหายที่เกิดจากทัศนคติของผู้ถือบัตรอีลิท ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้บริหารระดับสูง เป็นผู้นำประเทศ ที่เขาจะเสียความรู้สึกกับประเทศไทย จากความไม่ต่อเนื่องในนโยบายของรัฐบาลไทย ขาดความเชื่อมั่นในประเทศไทย ซึ่งความรู้สึกส่วนนี้คาดเดาไม่ได้ว่าจะกลับคืนมาเมื่อใด
ส่วนทางเลือกข้อ 2 ที่ให้ดำเนินธุรกิจต่อไปนั้นจะต้องปรับโครงสร้างการดำเนินงานอย่างมาก มีแนวทางการเพิ่มรายได้ที่มากกว่าการขายบัตรสมาชิกเพียงอย่างเดียวให้ชัดเจน การควบคุมค่าใช้จ่าย การปรับลดอายุบัตรสมาชิกจากตลอดชีพ เหลือ 30 ปี การจำกัดจำนวนสมาชิกที่จะขายควบคุมไม่ให้เกิน 20,000 ใบ เป็นต้น
และ แนวทางที่3 การดึงเอกชนเข้ามาร่วมทุน และมีส่วนร่วมในการบริหาร เพราะขณะนี้จากทุนจดทะเบียน 1,000 ล้านบาท ของทีพีซี ได้ชำระไปได้เพียง 500 ล้านบาท ดังนั้นอีก 500 ล้านบาท หากตัดสินใจเลือกข้อนี้ก็ให้เสนอขายต่อเอกชนที่สนใจ แต่ทั้งนี้ ต้องให้ ททท.ถือหุ้นไม่น้อยกว่า 25-51% เพื่อ ส่วนเอกชนให้ถือหุ้นในสัดส่วน 49-75% ทั้งนี้เพื่อให้ ททท.มีอำนาจชี้ขาดในการตัดสินใจได้อย่างเต็มที่ ซึ่งขณะนี้ก็มีเอกชนที่สนใจเริ่มติดต่อเข้ามาแล้ว อย่างไรก็ตาม การคัดเลือกก็ต้องให้เป็นผู้ที่มีความเชี่ยวชาญในการบริหารงานด้านนี้ และต้องเป็นองค์กรที่มีฐานการเงินที่มั่นคง
ด้านนายสุรพงษ์ เตรียมชาญชัย รักษาการผู้จัดการใหญ่ ทีพีซี กล่าวว่า ทั้ง 3 แนวทางที่กล่าวมา เป็นการรวบรวมจากข้อมูลเดิมตั้งแต่การว่าจ้างให้คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เป็นผู้ศึกษาแผน พร้อมข้อเสนอแนะ และมติ ครม.ในสมัย พลเอก สุรยุทธ จุลานนท์ ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เมื่อปี 2550 ที่เสนอแนวทางเลือกที่จะให้เอกชนเข้ามาถือหุ้น
“ทีพีซีไม่มีสิทธิ์ชี้นำว่าจะเลือกแนวทางใด เป็นหน้าที่ของ ครม.ที่จะเป็นผู้ตัดสินใจชี้ขาด เพราะทุกแนวทางก็มีทั้งผลดีและผลเสีย เราเพียงแต่นำเสนอทางเลือกตามที่ ครม.ต้องการและได้คัดเลือกในแนวทางที่สามารถทำได้จริงทุกข้อ ซึ่งไม่ว่าจะเลือกแนวทางใดก็จะเกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่กับทีพีซีเท่าๆกัน”นายสุรพงษ์กล่าว