“พาณิชย์” เดินหน้าโครงการแท็กซี่ธงฟ้า หลังเคลียร์คมนาคมจบ ชี้ไม่ผิดกฎหมาย เพราะขึ้นอยู่กับความสมัครใจของแท็กซี่ที่เข้าร่วมโครงการ และไม่ได้ปรับลดค่ามิเตอร์ เล็งดึงรถตู้-วินมอเตอร์ไซด์ ร่วมบริการธงฟ้าต่อไป
นายประพล มิลินทนจินดา เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า ทางกระทรวงพาณิชย์ได้ทำความเข้าใจกับกระทรวงคมนาคมและอธิบดีกรมการขนส่งทางบกแล้ว กรณีกลุ่มสหกรณ์รถแท็กซี่เข้าร่วมโครงการบลูเซอร์วิส ลดค่าบริการ 5 บาท ซึ่งขณะนี้กระทรวงคมนาคมเข้าใจเจตนาของการดำเนินโครงการแล้วว่าไม่ใช่การปรับลดค่ามิเตอร์แท็กซี่ แต่เป็นการปรับลดค่าโดยสารต่อเที่ยวให้กับผู้ใช้บริการ โดยขึ้นอยู่กับความสมัครใจของแท็กซี่ที่เข้าร่วมโครงการ ดังนั้น จึงไม่ถือว่าเป็นการกระทำผิดกฎหมาย
นายประพล กล่าวว่า เท่าที่ศึกษาโครงการนี้ไม่ขัดต่อกฎหมายของกระทรวงคมนาคมโดยเฉพาะกรมการขนส่งทางบก เพราะเป็นการลดค่าบริการแบบสมัครใจไม่ได้แก้ไขมิเตอร์ ต่อไปกระทรวงพาณิชย์จะชี้แจงรายละเอียดให้กระทรวงคมนาคมทราบ เพื่อต้องการให้โครงการฟ้าใสคนไทยยิ้มได้ สามารถช่วยเหลือและลดค่าครองชีพให้แก่ประชาชน
ส่วนโครงการบลูเซอร์วิสนั้น เบื้องต้นจะมีรถแท็กซี่ 100-200 คันเข้าร่วมโครงการ คาดว่าจะเริ่มโครงการอย่างช้าวันที่ 20 ก.พ.นี้ และกำลังพิจารณาร่วมกับสหกรณ์รถแท็กซี่ว่า จะติดสติกเกอร์หรือธงฟ้า เพื่อให้ผู้ใช้บริการจะได้เห็นชัดเจน นอกจากนี้ กระทรวงพาณิชย์กำลังศึกษาโครงการรถแท็กซี่ลด 5 บาท เป็นโครงการนำร่อง โดยอาจจะดึงผู้ประกอบการรถตู้สาธารณะและวินมอเตอร์ไซค์เข้าร่วมโครงการต่อไปด้วย
นายวิฑูร แนวพานิช ประธานสหกรณ์แท็กซี่สยาม จำกัด กล่าวว่า การเข้าร่วมโครงการดังกล่าวได้มีการศึกษาแล้วไม่ขัดกฎหมายกรมการขนส่งทางบกและไม่ได้แก้ไขมิเตอร์ เพียงแต่ต้องการให้ผู้เข้าร่วมโครงการสมัครใจลดค่าบริการ 5 บาทให้กับประชาชนที่ใช้บริการ โดยสัปดาห์นี้ทางกลุ่มสหกรณ์รถแท็กซี่ประมาณ 100 สหกรณ์จะประชุม โดยทางกลุ่มจะชี้แจงแนวทางการลดค่าครองชีพให้ผู้ใช้บริการแท็กซี่
เบื้องต้นกำหนดจะมีผู้เข้าร่วม 100-200 คน เชื่อว่าหลังจากทำความเข้าใจจะมีกลุ่มสหกรณ์อื่นๆ รวมถึงผู้ขับรถแท็กซี่ส่วนตัวเข้าร่วมโครงการจำนวนมาก และทางกลุ่มจะขอความร่วมมืออู่รถแท็กซี่เข้ามาช่วยแบ่งเบาภาระให้กับผู้ขับรถแท็กซี่เช่าวันต่อวัน โดยเจ้าของอู่อาจจะรับภาระหรือลดค่าเช่า แต่จะเท่าใดคงต้องหารือกันอีกครั้ง รวมถึงค่าใช้บริการเรียกรถแท็กซี่ผ่านศูนย์ จาก 20 บาท เหลือไม่เกิน 15 บาทต่อครั้งต่อเที่ยว เพื่อช่วยเหลือประชาชนที่ใช้บริการรถแท็กซี่สาธารณะ
คาดว่าโครงการนี้จะได้รับความสนใจ เพราะขณะนี้หลายสหกรณ์ได้ติดตามเข้าร่วมโครงการดังกล่าว อยากให้กระทรวงพาณิชย์จัดประชุมกลุ่มรถแท็กซี่ทั้งหมด เพื่อให้ส่วนราชการชี้แจงแนวทาง และคาดว่าจะปล่อยขบวนรถแท็กซี่ดังกล่าวประมาณกลางเดือน ก.พ.นี้
นายวิฑูร กล่าวว่า ที่สำคัญการปรับลดค่าบริการรถแท็กซี่ครั้งนี้ ถือเป็นแนวทางที่ภาครัฐขอความร่วมมือไม่ได้บังคับ มีระยะเวลาให้บริการอย่างน้อย 6 เดือน หากกลุ่มผู้ขับรถแท็กซี่ยังสนใจก็อาจจะพิจารณาปรับลดต่อได้