xs
xsm
sm
md
lg

เอกชนสวด ส.ส.ป่วนสภา หวั่นเล่นเกมหนัก กรอบอาเซียนล่ม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ภาคเอกชนหวั่นเกมการเมืองป่วนกรอบข้อตกลงอาเซียน จี้ต่อมสำนึก ส.ส.ให้ความสำคัญต่อการประชุมสภา เพื่อแสดงจุดยืนการทำงานเพื่อประเทศชาติ เตือนหากสภาล่ม ยิ่งสร้างผลเสียหายต่อประเทศ ทั้งการทำลายภาพลักษณ์ และความเชื่อมั่นการลงทุน แนะรัฐบาลเร่งเดินหน้าแก้วิกฤต ศก.เร่งด่วน ตั้งกองทุน 5 หมื่นล้าน ค้ำประกันส่งออก

นายสันติ วิลาสศักดานนท์ ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวแสดงความมั่นใจว่า การประชุมร่วม 2 สภา เพื่อพิจารณากรอบข้อตกลงอาเซียน น่าจะผ่านความเห็นชอบ เพราะถือเป็นภารกิจของนักการเมืองทุกพรรคที่ต้องแสดงจุดยืนเพื่อประเทศชาติ และเห็นว่า สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ต้องร่วมมือและรับผู้ชอบร่วมกัน เพื่อไม่ให้เกิดเหตุการณ์สภาล่มอีก

ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีเองก็ต้องชี้แจงให้สภาเห็นถึงความสำคัญในกรอบข้อตกลงที่จะเป็นผลดีและผลเสียต่อประเทศอย่างไร ขณะนี้ ภาคเอกชนมีความมั่นใจว่า การประชุมร่วม 2 สภา ครั้งนี้ น่าจะผ่านความเห็นชอบเกี่ยวกับกรอบข้อตกลงอาเซียน

อย่างไรก็ตาม หากกรอบข้อตกลงอาเซียนไม่ผ่านความเห็นชอบจากสภา คาดว่า จะยิ่งสร้างผลเสียหายต่อประเทศ และเป็นการทำลายภาพลักษณ์ของประเทศอย่างมาก โดยเฉพาะความเชื่อมั่นของนักลงทุน เพราะรัฐบาลจะขาดความชอบธรรมในการลงนามความร่วมมือการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนที่จะเกิดขึ้นในการประชุมครั้งนี้

“ส.ส.ควรคำนึงถึงประเทศชาติเป็นหลัก ไม่ควรเล่นเกมการเมืองจนทำให้เกิดความเสียหายต่อประเทศ เพราะผู้ที่ได้รับผลเสียหายอย่างมากคือผู้ประกอบการ ซึ่งจะส่งผลกระทบไปยังผู้ว่างงานได้”

สำหรับเรื่องเร่งด่วนที่ภาคเอกชน มองว่า รัฐบาลควรเร่งดำเนินการก่อน เพื่อแก้ปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจ ได้แก่ การหาแนวทางแก้ไขปัญหาการส่งออก และสภาพคล่องที่มีความสำคัญต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจ และการแก้ไขปัญหาคนตกงาน โดย ส.อ.ท.เตรียมเสนอกระทรวงการคลังพิจารณาค้ำประกันผู้ส่งออก เพื่อกระตุ้นให้เกิดการส่งออกและเป็นการประกันความเสี่ยงให้กับผู้ประกอบการ

นอกจากนี้ ภาคเอกชนยังเตรียมเสนอต่อนายกรัฐมนตรีในการประชุมคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชน (กรอ.) ครั้งหน้า เพื่อขอสนับสนุนงบประมาณจำนวน 50,000 ล้านบาท จัดตั้งกองทุนค้ำประกันการส่งออก

โดยกองทุนดังกล่าว จะเน้นไปที่การช่วยเหลือกลุ่มผู้ส่งออกขนาดกลางและย่อม (SMEs) ซึ่งหลักการของกองทุนนี้เป็นการให้รัฐบาลช่วยค้ำประกันการส่งออกให้กับ SMEs เป็นการลดความเสี่ยงให้ผู้ประกอบการ รวมถึงเป็นการช่วยเพิ่มแรงจูงใจให้ผู้ส่งออกรายย่อยมีความเชื่อมั่นที่จะกล้าออกไปทำตลาดใหม่ๆ ตามนโยบายของรัฐบาลที่ต้องการขยายตลาดส่งออกไปยังตลาดใหม่ ทดแทนตลาดหลักที่กำลังซื้อเริ่มลดลงตามแนวโน้มเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว

โดยอาจจะขอความร่วมมือรัฐบาลให้ช่วยเจรจากับธนาคารเฉพาะกิจของรัฐ เช่น ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (เอสเอ็มอีแบงก์) ในการช่วยค้ำประกันการส่งออกให้กลุ่มผู้ประกอบการ

นายสันติ กล่าวถึงการที่นายกรัฐมนตรีจะนำคณะเดินทางไปประเทศญี่ปุ่นในช่วงต้นเดือน กุมภาพันธ์ 2552 โดยมั่นใจว่า การเดินทางไปในครั้งนี้จะเป็นการสร้างความมั่นใจให้กับนักลงทุนญี่ปุ่น และจะได้รับผลตอบรับที่ดีกลับมา เนื่องจากนักลงทุนญี่ปุ่น ยังมองว่า ประเทศไทยมีความน่าสนใจที่จะเข้ามาลงทุนเป็นอันดับแรกในภูมิภาค

ทั้งนี้ คาดว่า กลุ่มธุรกิจที่มีโอกาสดีที่ญี่ปุ่นจะเข้ามาลงทุนเพิ่มเติม คือ สินค้าอิเลกทรอนิกส์ เครื่องใช้ไฟฟ้า อาหารสำเร็จรูป เสื้อผ้าสำเร็จรูป รวมถึงสินค้าเหล็กด้วย

ส่วนแนวคิดของรัฐบาลที่จะจัดเก็บภาษีที่ดินและทรัพย์สิน เนื่องจากเป็นเรื่องที่มีรายละเอียดมาก ดังนั้น รัฐบาลควรศึกษาข้อดี-ข้อเสียให้ชัดเจนก่อนว่าเกิดประโยชน์กับคนส่วนใหญ่หรือไม่
กำลังโหลดความคิดเห็น