xs
xsm
sm
md
lg

คาดตรุษจีนเงินสะพัด 1.9 หมื่น ล.ศก.ซบลดแจกอั่งเปา-เที่ยวนอก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เผย ช่วงเทศกาลตรุษจีนปีนี้ คาด มีเงินสะพัด 1.9 หมื่นล้าน ต่ำกว่าปีก่อน 1.6% จากภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว-หวั่นถูกลดเงินเดือน ทำให้ลดจำนวนเงินในการแจกอั่งเปา รวมถึงการไปท่องเที่ยวต่างประเทศ

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เผยผลสำรวจการจับจ่ายใช้สอยของคนกรุงเทพฯในช่วงเทศกาลตรุษจีนตั้งแต่วันที่ 9-16 มกราคม ปีนี้ คาดว่า จะมีเม็ดเงินจับจ่ายใช้สอยประมาณ 19,000 ล้านบาท ลดลง 1.6% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน แบ่งเป็นเม็ดเงินใช้ในการซื้อเครื่องเซ่นไหว้ประมาณ 4,700 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 2.2% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยประเด็นที่น่าสนใจในเรื่องตลาดเครื่องเซ่นไหว้ คือ งบประมาณในการซื้อเครื่องเซ่นไหว้ การตั้งงบประมาณในการซื้อสินค้าเครื่องเซ่นไหว้ในเทศกาลตรุษจีนปีนี้ ส่วนใหญ่คือ ร้อยละ 57.5 ตั้งงบประมาณในการซื้อเครื่องเซ่นไหว้เท่ากับปีที่แล้ว ส่วนร้อยละ 29.9 ตั้งงบประมาณลดลงจากปีที่แล้ว และมีเพียงร้อยละ 12.6 ที่ตั้งงบประมาณเพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว และจากการสำรวจพบว่าการตั้งงบประมาณการใช้จ่ายเพื่อซื้อเครื่องเซ่นไหว้เฉลี่ยประมาณครัวเรือนละ 3,300 บาท

ส่วนค่าใช้จ่ายในการแจกอั่งเปา คาดว่า จะมีจำนวน 7,400 ล้านบาท ลดลง 5.1% เมื่อเทียบกับปีก่อน โดยประเด็นที่น่าสนใจที่พบในการสำรวจครั้งนี้ คือ ท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจที่ซบเซา จากการสำรวจคนส่วนใหญ่ร้อยละ 58.7 ปรับการแจกอั่งเปา เนื่องจากคาดการณ์ว่า รายได้จะลดลง และต้องระมัดระวังค่าใช้จ่าย โดยจำนวนบุตรหลานที่จะแจกอั่งเปา และราคาทองรูปพรรณจะยังคงใกล้เคียงกับในปีที่ผ่านมา แต่ผู้แจกอั่งเปาบางส่วนอาจจะลดจำนวนเงิน หรือน้ำหนักทองลงเล็กน้อย กล่าวคือ ในปี 2552 น้ำหนักทองรูปพรรณที่เป็นอั่งเปาจะอยู่ที่ 1 สลึง และ 2 สลึง ในขณะที่ในปีที่ผ่านมาน้ำหนักทองรูปพรรณที่เป็นอั่งเปาจะอยู่ที่ 50 สตางค์ และ 1 บาท สำหรับในส่วนที่ลดลง คือ การแจกอั่งเปาลูกจ้างที่เปลี่ยนจากการแจกทองมาเป็นการให้เงินสด หรือลดจำนวนเงินที่ให้ลง โดยรวมการตั้งงบประมาณในการแจกอั่งเปา (รวมทั้งเงินสดและทองรูปพรรณ) อยู่ที่เฉลี่ยคนละ 5,800 บาท ลดลงเมื่อเทียบกับปี 2551 ซึ่งมีค่าใช้จ่ายด้านอั่งเปาเฉลี่ยคนละ 6,000 บาท

ส่วนกิจกรรมอื่นๆ ในช่วงตรุษจีนสำหรับผู้ที่ตั้งใจจะอยู่กรุงเทพฯในช่วงวันหยุด จากการสำรวจพบว่า อันดับหนึ่ง ร้อยละ 39.3 เป็นการไหว้พระตามศาลเจ้า/วัดต่างๆ ในกรุงเทพฯ โดยสถานที่ยอดนิยม ได้แก่ วัดมังกรกมลาวาส วัดพระศรีรัตนศาสดาราม ศาลเจ้าพ่อเสือ วัดสระเกษ วัดกัลยาณมิตร วัดไตรมิตร วัดหัวลำโพง ศาลหลักเมือง เป็นต้น กิจกรรมยอดนิยมอันดับรองลงมา คือ ร้อยละ 31.4 รับประทานอาหารนอกบ้าน โดยงบประมาณสำหรับกิจกรรมนอกบ้านอยู่ที่ระดับเฉลี่ยประมาณคนละ 1,000 บาท ซึ่งใกล้เคียงกับในปีที่ผ่านมา คาดว่า จะมีเม็ดเงินรวมประมาณ 1,900 ล้านบาท สะพัดสู่ธุรกิจที่เกี่ยวข้อง เช่น ภัตตาคาร ร้านอาหาร ห้างสรรพสินค้า โรงภาพยนตร์ และสวนสนุก เป็นต้น ซึ่งเพิ่มขึ้นจากปีก่อนที่มีเม็ดเงินสะพัดประมาณ 1,800 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 5.6%

สำหรับผู้ที่วางแผนไปเที่ยวต่างจังหวัดในช่วงตรุษจีน โดยรวมทั้งแบบไปเช้า-เย็นกลับ และพักแรมค้างคืน จะงบประมาณค่าใช้จ่ายเฉลี่ยในการเดินทางไปเที่ยวต่างจังหวัดช่วงตรุษจีนเฉลี่ยคนละ 4,487 บาท ซึ่งลักษณะพิเศษของการเดินทางท่องเที่ยวในช่วงตรุษจีน คือ ส่วนใหญ่จะเป็นการเดินทางแบบเช้าไปเย็นกลับ แต่จะมีค่าใช้จ่ายเฉลี่ยต่อคนใกล้เคียงกับผู้ที่ท่องเที่ยวแบบค้างคืน เนื่องจากมีค่าใช้จ่ายส่วนเพิ่มจากเครื่องเซ่นไหว้ต่างๆ คาดว่า ค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปเที่ยวต่างจังหวัดในช่วงเทศกาลตรุษจีนปี 2552 จะก่อให้เกิดเม็ดเงินสะพัด 3,500 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้วที่มีเม็ดเงินสะพัด 3,300 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 6% เนื่องจากคาดว่าจำนวนคนที่จะเดินทางท่องเที่ยวในประเทศมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น แต่นักเดินทางท่องเที่ยวก็ยังใช้นโยบายท่องเที่ยวแบบประหยัด

และค่าใช้จ่ายสำหรับการท่องเที่ยวนอกประเทศนั้น มีงบประมาณค่าใช้จ่ายเฉลี่ยในการเดินทางไปเที่ยวต่างประเทศช่วงตรุษจีนอยู่ที่เฉลี่ยประมาณคนละ 31,250 บาท คาดว่า คิดเป็นมูลค่าประมาณ 1,500 ล้านบาท ซึ่งลดลง 16.7% เมื่อเทียบกับในปีที่ผ่านมา
กำลังโหลดความคิดเห็น