xs
xsm
sm
md
lg

กูรูอสังหาฯ แนะแบงก์ชาติผ่อนเกณฑ์สำรอง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

บิ๊กศุภาลัยวอนแบงก์อย่ากีดกันคนอาชีพอิสระซื้อบ้าน แต่ให้พิจารณาแหล่งรายได้มั่นคงหรือไม่ ระบุหากไม่ปล่อยกู้อสังหาฯหยุดชะงัก จะกระทบธุรกิจเกี่ยวเนื่องชะลอตาม ด้าน รศ.มานพ พงศทัต เสนอแนวทางแก้ปัญหาแบงก์เข้มปล่อยกู้คนซื้อบ้าน ผู้ประกอบการ-แบงก์-ลูกค้า ร่วมมือ หากกู้ไม่ผ่านให้ใช้วิธียืดเวลาโอนออกไปอีก 1 ปี

นายอธิป พีชานนท์ นายกสมาคมอาคารชุดไทย กล่าวภายหลังเปิดงานมหกรรมคอนโดเอ็กซ์โป 2008 ที่เริ่มขึ้นเมื่อ 2 พ.ย. ว่า ช่วงที่ผ่านมาบริษัทฯมีมาตรการช่วยเหลือลูกค้า เพื่อป้องกันปัญหาการถูกปฎิเสธสินเชื่อจากสถาบันการเงิน โดยกรณีที่ลูกค้าได้รับอนุมัติวงเงินกู้ต่ำกว่าราคาที่อยู่อาศัย จะแนะนำให้เปลี่ยนเป็นซื้อยูนิตอื่นที่ถูกลงในโครงการเดียวกันกรณีที่ลูกค้าไม่สามารถโอนได้ หากยังต้องการซื้อห้องชุด จะแนะนำให้ซื้อโครงการที่อยู่ระหว่างการก่อสร้าง เพื่อยืดระยะเวลาการโอนออกไปมีระยะผ่อนดาวน์นานขึ้น และเงินที่จ่ายมาแล้วถือเป็นเงินดาวน์ในโครการใหม่แทน

" ลูกค้าของศุภาลัยที่ถูกปฎิเสธสินเชื่อมี 10% เท่านั้น โครงการที่ถูกปฏิเสธสินเชื่อสูงๆ น่าจะมาจากกลุ่มลูกค้าเป้าหมายมีรายได้ไม่แน่นอน หรือโครงการไม่ได้ตรวจสอบคุณสมบัติการขอสินเชื่อในเบื้องต้นก่อน อยากวอนแบงก์ อย่าปฏิเสธสินเชื่อลูกค้าในกลุ่มอาชีพอิสระที่มีรายได้ที่ดี แต่สถาบันการเงินควรตรวจสอบแหล่งที่มาของรายได้ เพราะหากแบงก์ไม่ปล่อยสินเชื่อบ้านจะทำให้ธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องได้รับผลกระทบ "

ด้านกูรูอสังหาฯ รศ.นาย มานพ พงศทัต อาจารย์ผู้ทรงคุณวุฒิ ประจำภาควิชาเคหะการ คณะสถาปัตยกรรมศาตร์ จุฬาฯ แนะทางออกภาวะที่ความสามารถการผ่อนชำระของผู้ซื้อบ้านลดลง ธนาคาพาณิชย์เข้มงวดในการอนุมัติสินเชื่อ ก็เพื่อป้องกันปัญหาการฟ้องร้อง บังคับหลักประกัน และป้องกันไม่ให้เกิดหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) เพิ่ม

ส่วนกรณีที่ลูกค้า ทำสัญญาเงินกู้ไปแล้วอยู่ระหว่างผ่อนชำระ และความสามารถลดลงจากปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจนั้น ผู้ประกอบการ ลูกค้าและแบงก์พาณิชย์ควรให้ความร่วมมือกันในลักษณะผ่อนปรน โดยการยืดระยะเวลาการโอน หรือเข้าช่วยเหลือด้วยการเปลี่ยนสัญญาเงินกู้เป็นการเช่า เพื่อลดภาระค่าผ่อนงวดลง และเมื่อสถานะความสามารถในการชำระหนี้ของผู้กู้กลับมา ก็ให้กลับมาคงสถานะเป็นสัญญาเงินกู้เหมือนเดิม

" ลูกค้าที่ถูกแบงก์ปฏิเสธสินเชื่อ แบงก์ควรผ่อนปรนลูกค้าในกลุ่มที่คุณสมบัติไม่ถึงเกณฑ์ โดยใช้วิธีชะลอการโอนออกไปอีก 1 ปีเพื่อประเมินว่าลูกค้าว่ามีความสามารถในการชำระหนี้มากน้อยแค่ไหน หากผ่านเกณฑ์จึงให้เข้าสู่กระบวนการโอน "

นอกจากนี้ ทางธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) ควรผ่อนปรนเงื่อนไขการสำรองตามมาตรการ ไอเอเอส 39 โดยการยืดระยะเวลาการกันสำรอง ในกรณีที่ขาดผ่อนส่งเกิน 3 เดือนและเข้าข่ายเป็นเอ็นพีแอล โดยให้สำรองเพียง 50% ของเกณฑ์เดิม
กำลังโหลดความคิดเห็น