xs
xsm
sm
md
lg

ชี้ 10 เทรนด์ CSR มาแรง จี้รัฐยกเป็นวาระแห่งชาติ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

กูรูซีเอสอาร์ ชี้เทรนด์กซีเอสอาร์ 10 แนวทาง เผยธุรกิจไทยควรลงทุนให้ชุมชนไม่ใช่แค่บริจาค แนะภาครัฐไทยควรบรรจุซีเอสอาร์กู้ภาพความโปร่งใสคืน หลังอันดับล่วงจาก 50 เป็น 80 แทน

นายริชาร์ด เวลฟอร์ด ประธานความรับผิดชอบต่อสังคมขององค์กรธุรกิจในภูมิภาคเอเชีย เปิดเผยว่า แนวโน้มช่วง 10 ปีข้างหน้าการทำตลาดรับผิดชอบต่อสังคมขององค์กรธุรกิจ หรือ CSR (Corporate Social Responsibility) คาดว่าจะมี 10 แนวทาง  คือ 1. สิ่งแวดล้อมเลื่อนลำดับขึ้นเป็นวาระอย่างรวดเร็ว เพราะมีตัวแปรด้านภูมิอากาศเปลี่ยนแปลงและพลังงาน  การขาดแคลนและการปนเปื้อนของน้ำ และผลกระทบต่อสุขภาพของมนุษย์ 2. สิทธิแรงงานและสิทธิมนุษยชน ความรับผิดชอบของบริษัทขยายขอบเขตไปยังพนักงานของตัวเองและแรงงาน

3. ความคาดหวังที่เพิ่มขึ้นเกี่ยวกับความโปร่งใส เพราะสร้างภาพลักษณ์ที่ดีและมีความน่าเชื่อถือ  4.การทำซีเอสอาร์ให้เป็นสถาบัน หรือเป็นการฝากฝังไว้กับกฎหมายและบรรทัดฐานของสถาบัน ISO26000 เป็นมาตรฐานขั้นต่ำ 5. การสื่อสารมากขึ้นระหว่างบริษัทกับผู้ถือหุ้น โดยมักจะแทรกตัวในโครงสร้างของบรรษัทภิบาล 6. การต่อสู้แย่งผู้มีความสามารถ เพราะความคาดหวังที่เปลี่ยนแปลงในส่วนของแรงงาน และความเคลื่อนไหวจากอาชีพไปยังประสบการณ์ของคนรุ่นใหม่ 7.เปลี่ยนจากการกุศลเป็นการลงทุนเพื่อชุมชน เนื่องจากบริจาคน้อยลง เข้าไปมีส่วนร่วมมากขึ้นได้ผลตอบแทนมากขึ้น

8. ความเกี่ยวข้องกับห่วงโซ่อุปทานอย่างลึกซึ้งมากขึ้น เพื่อยกระดับจากการตรวจสอบซัพพลายเออร์ และตรวจสอบประเด็นด้านสิ่งแวดล้อมตามห่วงโซ่อุปทาน และ 9. คือ การเติบโตของธุรกิจเพื่อสังคม  การควบรวมของโครงสร้างธุรกิจกับเอ็นจีโอ และ 10. ภาคเอกชนและการบรรเทาความยากจน เพราะจัดการตลาดใหม่ในกลุ่มคนจน และรับมือกับช่องว่างฐานะในประเทศกำลังพัฒนา

นายริชาร์ด เวลฟอร์ด กล่าวว่า สำหรับทิศทางการทำซีเอสอาร์ของไทยควรมุ่งเน้นในเชิงคุณค่ามากขึ้นมากกว่าเน้นไปในทางบริจาค ควรมุ่งไปสู่การลงทุนทางสังคมหรือลงทุนให้กับชุมชนมากขึ้น และการทำซีเอสอาร์ต้องดำเนินการควบคู่กับธรรมาภิบาลหรือการเปิดเผยข้อมูลเพื่อความโปร่งใส เทรนด์ที่จะมาแรง คือ การเน้นด้านสิ่งแวดล้อม  

นายกษิต ภิรมย์ นายกสมาคมส่งเสริมธรรมาภิบาล กล่าวว่า การทำซีเอสอาร์ภาครัฐควรดำเนินการในระดับนโยบายหรือวาระแห่งชาติด้วย ไม่ควรจำกัดเฉพาะเอกชนเท่านั้น เนื่องจากพบว่ายังไม่มีพรรคการเมืองที่ดำเนินนโยบายธรรมาภิบาล เพราะเรื่องคอรัปชั่นถือว่าเป็นปัญหาสำคัญ โดยในช่วง 5 ปีที่ผ่านมาในแง่ของความโปร่งใสประเทศไทยเคยอยู่อันดับ 50 และล่าสุดอยู่อันดับที่ 80

สำหรับการจัดอันดับ CSR Asia โดยการวัดทั้งกลยุทธ์การสื่อสาร นโยบาย การตลาด สถานที่ทำงานและคน สิ่งแวดล้อมและการลงทุนเพื่อชุมชน พบว่า ฮ่องกง ติดอันดับ 1 ด้วย 51.8 คะแนน อันดับ 2 มาเลเซีย 35.8 คะแนน อันดับ 3 ไทย 30.55 คะแนน และอันดับ 4 สิงคโปร์ 29.9 คะแนน ซึ่งประเทศไทยมีคะแนนนำสิงคโปร์ โดยขึ้นมาอยู่อันดับ 3 ในแง่ของคะแนนเฉลี่ย

ส่วนบริษัทในไทย 10 อันดับ ในแง่มีการเปิดเผยข้อมูลอย่างโปร่งใส พบว่า บมจ.ปูนซิเมนต์ไทย มีคะแนน 70.2% ติดอันดับ 6 ในเอเชีย, อันดับ 2 คือ บมจ.ปตท.สำรวจและผลิต 39.5%, อันดับ 17 และอันดับ 3 บมจ.ปตท. 37.9% อันดับ 19, ตามด้วย บมจ.ปตท อะโรแมนติกส์และการกลั่น 30.6 คะแนน อันดับ 28 บมจ.ไทยออยล์ 29 คะแนน อันดับ 31  บมจ.บ้านปู 28.2 คะแนน อันดับ 32 บมจ.ผลิตไฟฟ้าราชบุรี โฮลดิ้ง 27.4 คะแนน อันดับ 33 บมจ.ท่าอากาศยานไทย 25.8 คะแนน อันดับ 38 บมจ.ธนาคารกรุงไทย 25 คะแนน อันดับ 41 และ บมจ.เซ็นทรัลพัฒนา 21.8 คะแนน อันดับที่ 46
กำลังโหลดความคิดเห็น