xs
xsm
sm
md
lg

ผู้บริหาร บลจ.หนุนจัดตั้งดัชนี SRI

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ภาคกองทุนรวม หนุนตั้งคณะกรรมการกลาง สกรีนบริษัทที่ผ่านเกณฑ์ CSR ก่อนตั้งเป็นอินเด็กซ์ ระบุหากทำได้การลงทุนก็จะตามมา "เอ็มเอฟซี" เผย สนตั้งกองทุนลุยหุ้นรับผิดชอบต่อสังคม แต่ยังไม่รู้ว่าหุ้นตัวไหนบ้างที่ลงทุนได้ ส่วนแผนปีหน้า ตั้งเป้าระดมทุนประมาณ 2 หมื่นล้านบาท จากกองทุน 14 กองทุน แยกเป็นตราสารหนี้หมื่นล้านและพร็อพเพอร์ตี้ฟันด์หมื่นล้าน พร้อมประเมินเศรษฐกิจปีหน้า จีดีพีโต 1-2% พร้อมลุ้นแผนกระตุ้นของ"โอบามา" และ"อภิสิทธิ์" ปัจจัยหนุน

นายศุภกร สุนทรกิจ รองกรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) เอ็มเอฟซี จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า การลงทุนในรูปแบบ SRI (Social Responsibility Investment) มีลักษณะใกล้เคียงกับ CG ที่เราลงทุนอยู่แล้ว แต่อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้ ยังไม่มีตัวกลางในการกำหนดอย่างชัดเจนว่าบริษัทใดบ้างที่มีการดำเนินธุรกิจที่แสดงถึงความรับผิดชอบต่อสังคม CSR (Corporate Social Responsibility) ดังนั้น การตั้งเป็นอินเด็กซ์ขึ้นมาเพื่อเป็นข้อมูลให้นักลงทุน จึงน่าจะเป็นเรื่องที่ดี

ทั้งนี้ เรื่องดังกล่าวจะเกิดขึ้นได้ ต้องผ่านขั้นตอน 3 ขั้นตอน ขั้นตอนแรกต้องมีการตั้งคณะกรรมการ CSR ขึ้นมา เพื่อว่าเงื่อนไขในการกำหนดบริษัทที่มี CSR เป็นปีต่อปี หลังจากนั้น ก็ร่วมกันทำอินเด็กซ์ขึ้นมา ซึ่งหลังจากผ่านขั้นตอนทุกอย่างแล้ว เชื่อว่าการลงทุนทั้งหลายก็จะตามมาเอง

"ในการตั้งอินเด็กซ์นั้น ถ้าอยากให้เกิดเร็ว ต้องมีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาเป็นตัวกลางก่อน แล้วตั้งเงื่อนไขต่างๆ ให้พร้อม ซึ่งเรื่องนี้ เราเองในฐานะนักลงทุนสถาบันสามารถดำเนินการเองได้ ด้วยการส่งแบบสอบถามไปยังบริษัทจดทะเบียน ให้ตอบกลับมา ถ้าเป็นบริษัทที่มี CSR เราก็เข้าไปลงทุนได้"นายศุภกรกล่าว

นายศุภกรกล่าวว่า สำหรับบลจ.เอ็มเอฟซี มีแผนตั้งกองทุนที่ลงทุนในหุ้นมีการดำเนินธุรกิจที่แสดงถึงความรับผิดชอบต่อสังคมเช่นกัน แต่ยังไม่รู้ว่าจะลงทุนตัวไหนดี เพราะยังไม่รู้ว่าหุ้นแต่ละตัวหรือหุ้นตัวไหนผ่านหลักเกณฑ์ดังกล่าวบ้าง อย่างไรก็ตาม เราเองมีกองทุนในลักษณะนี้อยู่แล้ว นั่นคือ กองทุนอิสลามิกส์ฟันด์ ซึ่งมีคณะกรรมการคอยกลั่นกรองหุ้นที่สามารถลงทุนได้ เพราะว่าการลงทุนของกองทุนดังกล่าว ต้องลงทุนให้ถูกต้องตามหลักศาสนาอิสลาม

นายสมจินต์ ศรไพศาล กรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) วรรณ จำกัด กล่าวว่า การลงทุนในรูปแบบ SRI ถือเป็นหลักการที่ดีและควรเป็นหลักการในชีวิตทุกคน ซึ่งนอกจากจะต้องมีคนที่เก่งและดีและ บริษัทเอกชนทั่วไปก็ต้องเก่งและดีด้วย นอกจากความสามารถในแง่ของการทำกำไรแล้ว ต้องมีในมุมมองของการรับผิดชอบต่อสังคมด้วย

"สภาพเศรษฐกิจปัจจุบันไม่มีภาคส่วนใดในโลกที่มีกำลังเข้มแข็งและมีอำนาจมากเท่ากับภาคบริษัทเอกชน ดังนั้น บริษัทเหล่านี้ซึ่งสามารถสร้างสรรค์สังคมได้ ถ้ารู้สึกรับผิดชอบอยู่ในใจ ซึ่งไม่ใช่แค่ผู้บริหารเท่านั้น ต้องรวมถึงพนักงานที่มีส่วนด้วย"

ทั้งนี้ การลงทุนของบลจ.วรรณ เอง เราสนใจเรื่องนี้อยู่แล้ว ถ้าหากเป็นธุรกิจที่ดูแล้วไม่โปรงใส ขาดจริยธรรมและการกำกับที่ดี เราก็จะไม่ลงทุนอยู่แล้ว อย่างไรก็ตาม ในช่วงนี้เป็นยุตต้นๆ ของ SRI ซึ่งเราจำเป็นต้องศึกษาเพิ่มเติมในระดับต่อไป ส่วนการจัดทำดัชนี SRI ขึ้นมาอ้างอิงนั้น ก็ถือเป็นเรื่องที่ดีและน่าสนับสนุน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อเร็วๆ นี้ คณะกรรมการมูลนิธิตลาดหลักทรัพย์ ได้มีมติให้จัดตั้งกองทุนส่งเสริมกิจกรรมเพื่อสังคมของภาคธุรกิจ เพื่อทำหน้าที่สนับสนุนและผลักดันให้บริษัทจดทะเบียน รวมทั้งภาคธุรกิจให้มีการดำเนินธุรกิจที่แสดงถึงความรับผิดชอบต่อสังคม (CSR) อย่างจริงจังและเป็นรูปธรรมมากขึ้น และอยู่ภายใต้การดูแลของสถาบันธุรกิจเพื่อสังคม (Corporate Social Responsibility Institute:CSRI) ที่จัดตั้งขึ้นเพื่อส่งเสริม CSR ของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ และภาคธุรกิจ

ทั้งนี้ คณะกรรมการมูลนิธิฯ ได้อนุมัติงบประมาณ 10 ล้านบาท เพื่อดำเนินงานในลักษณะการสมทบเงินทุนให้กับบริษัทจดทะเบียน และภาคธุรกิจที่มีแนวคิดในการดำเนินกิจกรรมเพื่อสังคมที่สอดคล้องกับเจตนารมณ์ของมูลนิธิ ตลาดหลักทรัพย์ฯ แนวทางดังกล่าว จะมีส่วนในการสร้างแรงจูงใจ และกระตุ้นให้ภาคธุรกิจให้ความสนใจกับการดำเนินธุรกิจอย่างมี CSR เป็นรูปธรรมเพิ่มมากขึ้น รวมทั้งยังเป็นโอกาสในการแสดงให้เห็นถึงเจตนารมณ์ที่ชัดเจนของตลาดหลักทรัพย์ฯ ในการส่งเสริม CSR ของภาคธุรกิจ ซึ่งถือได้ว่าเป็นส่วนสำคัญอย่างยิ่งในการส่งเสริมให้ภาคธุรกิจมีการเติบโตอย่างยั่งยืน และเป็นรากฐานสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศในระยะยาว

ขณะที่ มูลนิธิตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้รับอนุมัติจากคณะกรรมการตลาดหลักทรัพย์ฯ ให้จัดตั้งขึ้นในปี 2549 เพื่อดำเนินกิจกรรมเพื่อการพัฒนาสังคม ชุมชน และสิ่งแวดล้อม โครงการและกิจกรรมด้านการศึกษา รวมทั้ง กิจกรรมเพื่อการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด อบายมุข และสิ่งแวดล้อม รวมถึงการสนับสนุนหน่วยงานและชุมชนที่มีการดำเนินงานในด้านการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด อบายมุข และสิ่งแวดล้อม และในปี 2550 มูลนิธิฯ ได้สนับสนุนงบประมาณแก่สถาบันธุรกิจเพื่อสังคมที่ตลาดหลักทรัพย์ฯ จัดตั้งขึ้นเพื่อส่งเสริมการดำเนินงานด้าน CSRของภาคธุรกิจ การจัดตั้งกองทุนส่งเสริมกิจกรรมเพื่อสังคมของภาคธุรกิจในครั้งนี้ จึงนับเป็นกลไกสำคัญในการผลักดันงาน CSR ของภาคธุรกิจให้เป็นรูปธรรมมากขึ้น

**เอ็มเอฟซีตั้งเป้าAUMปี52**

ด้าน นายพิชิต อัคราทิตย์ กรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน เอ็มเอฟซี จำกัด (มหาชน) หรือ MFC กล่าวถึงแผนในปีหน้าว่า ในเบื้องต้นคาดว่าจะออกกองทุนใหม่ ทั้งกองทุนพันธบัตรระยะสั้นอายุ 6 เดือน ถึง 1 ปี รวมถึงกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ (พร็อพเพอร์ตี้ฟันด์) รวมประมาณ 14 กอง มูลค่ารวมประมาณ 2 หมื่นล้านบาท โดยแบ่งเป็นกองทุนตราสารหนี้ระยะสั้นมูลค่าประมาณ 1 หมื่นล้านบาท โดยให้ผลตอบแทนสูงกว่าอัตราเงินฝากเฉลี่ย 0.5-1% แต่ทั้งนี้ต้องขึ้นอยู่กับอัตราดอกเบี้ยเงินฝากในขณะนั้นด้วย

สำหรับกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์นั้น คาดว่าจะมีมูลค่าประมาณ 1 หมื่นล้านบาท โดยให้ผลตอบแทนอยู่ที่ประมาณ 7% ซึ่งเป็นผลตอบแทนที่ใกล้เคียงกับปีนี้ ทั้งนี้ การลงทุนดังกล่าว จะส่งทุนในประเทศเป็นส่วนใหญ่ ขณะที่ในครึ่งปีหลังจะมีการพิจารณาอีกครั้งว่าจะมีการลงทุนในต่างประเทศหรือไม่ เนื่องจากยังคงต้องติดตามภาวะตลาดในขณะนั้นก่อนว่ามีแนวโน้มอย่างไร

"ภาพรวมอุตสาหกรรมกองทุนรวมในปี 52 ก็มองว่าการลงทุนกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ ก็ค่อนข้างน่าสนใจโดยมีผลตอบแทนเฉลี่ยในช่วงที่ผ่านมาไม่ต่ำกว่า 7%"นายพิชิตกล่าว

อย่างไรก็ตาม สำหรับแผนในปีหน้าจะมีการทบทวนหารืออีกครั้ง ในช่วงเดือนมกราคม และคาดว่าจะได้ข้อสรุปและแถลงแผนปีหน้าในช่วงปลายเดือน

นายพิชิตกล่าวต่อว่า สำหรับแนวโน้มการขยายตัวของเศรษฐกิจในปีหน้า คาดว่าจะเติบโตประมาณ 1-2% เนื่องจากมองว่าในช่วงไตรมาส 3 และ 4 จะเริ่มเห็นความชัดเจนในมุมมองของเศรษฐกิจที่ดีขึ้น ทั้งสถานการณ์การเงินของโลก โดยเฉพาะภาพของเศรษฐกิจสหรัฐฯ และยุโรป

นอกจากนี้ ยังมองว่าการที่ภาครัฐมีนโยบายออกมากระตุ้นเศรษฐกิจ ทั้งในประเด็นที่ต้องการขยายวงเงินในการกระตุ้นให้มากกว่า 1แสนล้านบาทก็เป็นผลดี ทำให้บรรยากาศและความเชื่อมั่นในการลงทุนดีขึ้น แต่ในระยะยาวมองว่าการบริโภคและการลงทุนนั้นก็อาจจะขึ้นอยู่กับเศรษฐกิจ ณ ขณะนั้นประกอบด้วยส่วนของวงเงินมองว่าจะมากหรือน้อยก็ขึ้นอยู่กับวิธีการนำไปใช้และมาตรการที่จะมารองรับ
กำลังโหลดความคิดเห็น