xs
xsm
sm
md
lg

แบงก์ยุโรปต่อคิวเข้าไอซียู วิกฤตฯ ลามสู่ยุโรปตะวันออก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


"วิกฤตแฮมเบอร์เกอร์" ลามจากยุโรปตะวันตกเข้ายุโรปตะวันออกแล้ว ถึงคิว "สเวด์แบงก์" ธนาคารสัญชาติสวีเดน เตรียมเพิ่มทุน 1.56 พันล้านดอลลาร์กู้วิกฤต "ไอเอ็มเอฟ" ปล่อยกู้ยูเครน 1.65 หมื่นล้านดอลลาร์ "ฮังการี" เตรียมเข้าคิวเป็นรายต่อไป

วันนี้ ( 27 ต.ค.) สำนักข่าวเอพีรายงานว่า สเวด์แบงก์ ธนาคารสัญชาติสวีเดนเตรียมเพิ่มทุน 12.4 พันล้านโครน หรือประมาณ 1.56 พันล้านดอลลาร์ หลังสถานะความแข็งแกร่งทางการเงินลดลงจากผลกระทบวิกฤตการเงินโลก

ผู้บริหาร สเวด์แบงก์ เปิดเผยว่า แผนการจำหน่ายหุ้นสามัญเพิ่มทุนดังกล่าวจะได้รับความเห็นชอบจากที่ประชุมผู้ถือหุ้นวาระพิเศษในวันที่ 25 พ.ย.นี้

ทั้งนี้ สเวด์แบงก์เป็นหนึ่งในธนาคารที่ได้รับผลกระทบจากการล้มละลายของเลห์แมนบราเธอร์ส และความไร้เสถียรภาพของสถาบันการเงินในภูมิภาคทะเลบอลติค

ล่าสุด มีรายงานว่า เคบีซี กรุ๊ป เอ็นวี ซึ่งเป็นธนาคารและบริษัทประกันรายใหญ่ที่สุดของเบลเยียม จะขายหุ้นบุริมสิทธิมูลค่า 3.5 พันล้านยูโร หรือประมาณ 4.3 พันล้านดอลลาร์ ให้กับรัฐบาล ซึ่งถือเป็นมาตรการช่วยเหลือสถาบันการเงินล่าสุดของรัฐบาลในแถบยุโรป โดยรัฐบาลจะซื้อหุ้นที่ปลอดสิทธิลงคะแนนเสียงที่จ่ายดอกเบี้ยต่อปีอย่างน้อย 8.5% และได้รับสิทธิในการส่งผู้แทนเป็นบอร์ดของธนาคาร 2 คน แต่ธนาคารจะไม่จ่ายเงินปันผลจากกำไรที่ได้ในปีนี้ เพื่อรักษาระดับเงินทุนไว้

สำนักข่าวบลูมเบิร์ก รายงานว่า การตั้งสำรองจากภาวะการขาดทุนในตลาดสินเชื่อ และตลาดหุ้นที่ร่วงลงทำให้ธนาคารและบริษัทประกันต้องขอความช่วยเหลือจากรัฐบาล ส่วนแบงค์อื่นๆในยุโรปก็ได้รับความช่วยเหลือจากรัฐบาลไปหลายแห่งเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ได้แก่ เด็กเซีย เอสเอ, ไอเอ็นจี กรุ๊ป และบีเอ็นพี พาริบาส์ ซึ่งตกลงที่จะซื้อหุ้นในฟอร์ติส 75%

นายอันเดร เบอร์เกน ซีอีโอของเคบีซี กล่าวว่า การปฏิบัติการช่วยเหลือไอเอ็นจี การระดมทุนของแบงค์ใหญ่ในฝรั่งเศสทำให้เราสามารถทำข้อตกลงกับรัฐได้ ตอนนี้เป็นเรื่องยากมากที่จะระดมทุนในตลาด

ทั้งนี้ ราคาหุ้นเคบีซีร่วงถึง 14% ในตลาดหุ้นยูโรเน็กซ์ บรัสเซลส์ หลังจากที่เปิดทำการซื้อขายพุ่ง 4.9% และอ่อนตัวลงในเวลาต่อมา 90 เซนต์ หรือ 3.4% แตะ 25.80 ยูโรเมื่อเวลา 9.49 น.ตามเวลาท้องถิ่น

ก่อนหน้านี้ กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) เตรียมปล่อยกู้ให้กับประเทศยูเครน 1.65 หมื่นล้านดอลลาร์ และให้ความช่วยเหลือด้านการเงินแก่ฮังการี เนื่องจากวิกฤตสินเชื่อทั่วโลกและความกังวลเกี่ยวกับภาวะถดถอยได้ลุกลามไปถึงตลาดเกิดใหม่ในยุโรปตะวันออก

ทั้งนี้ เงินกู้ของยูเครนจะกินเวลา 24 เดือน และยังต้องได้รับการอนุมัติจากรัฐสภาเพื่อออกเป็นกฎหมายก่อนที่จะนำมาใช้กับแบงก์ภายในประเทศได้ ส่วนข้อตกลงกับฮังการีนั้นได้มีการดำเนินการโดยผ่านความร่วมมือกับสหภาพยุโรป

สำนักข่าวบลูมเบิร์ก รายงานว่า ยุโรปตะวันออกกำลังได้รับผลกระทบ เนื่องจากนักลงทุนประสบภาวะขาดทุนในประเทศพัฒนาแล้ว รวมทั้งยังมีการขายหุ้น พันธบัตร และสกุลเงินในตลาดเกิดใหม่ที่มีความเสี่ยงมากกว่า โดยยูเครนเป็นประเทศแรกในภูมิภาคที่รับความช่วยเหลือจากไอเอ็มเอฟในช่วงวิกฤต โดยรายละเอียดของข้อตกลงการกู้ยืมเงินของฮังการีจะมีการประกาศในเร็วๆ นี้ เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว เบลารุสก็ขอเงินกู้จากไอเอ็มเอฟอย่างน้อย 2 พันล้านดอลลาร์ หลังจากที่ธนาคารในประเทศไม่สามารถกู้ยืมเงินได้

นายทิโมธี อัช หัวหน้าฝ่ายวิจัยตลาดเกิดใหม่ของโรยัล แบงก์ ออฟ สก็อตแลนด์ กล่าวว่า เงินเป็นแค่ประเด็นเพียงครึ่งหนึ่ง ขณะที่เงื่อนไขต่างๆ เป็นเงื่อนไขที่สำคัญ เราหวังว่ากองทุนจะยังคงจุดยืนในการผลักดันให้อัตราแลกเปลี่ยนมาความยืดหยุ่นมากกว่าเดิม รวมทั้งการปฏิรูปในภาคธุรกิจการธนาคาร และแปรรูปมากกว่านี้

ประธานาธิบดีวิคเตอร์ ยุสเชนโก ของยูเครน กำลังเผชิญกับช่วงขาลงทางเศรษฐกิจ เนื่องจากราคาสินค้าส่งออกที่สำคัญของประเทศ อาทิ เหล็ก อ่อนตัวลง และค่าเงินที่อ่อนตัวลงก็ทำให้สินค้านำเข้าแพงขึ้น และได้ผลักดันให้ ครม.ยูเครนขึ้นภาษีศุลกากร เพื่อควบคุมการนำเข้า และช่วยผู้ผลิตภายในประเทศกระตุ้นการส่งออกเพื่อรับมือกับช่องว่างทางการค้าที่สูงขึ้น
กำลังโหลดความคิดเห็น