ธ.อาร์บีเอส แบงก์อันดับ 2 ของอังกฤษ เกือบล้มละลาย โดยขอรับการช่วยเหลือทางการเงินฉุกเฉินจากรัฐบาลในวงเงิน 2 หมื่นล้านปอนด์ พร้อมโอนอำนาจทั้งหมด-การปลดผู้บริหารฯ โดยรัฐบาลอังกฤษได้เข้าซื้อหุ้นบุริมสิทธิ์จำนวน 5 พันล้านปอนด์ และจะเสนอซื้อหุ้นจากประชาชนที่ราคา 65.5 เพนนีต่อหุ้น ถือเป็นธนาคารใหญ่ที่สุดของยุโรปที่ล้มในวิกฤตครั้งนี้
วันนี้ ( 13 ต.ค.) สำนักข่าวต่างประเทศระบุว่า รอยัลแบงก์ออฟสก็อตแลนด์กรุ๊ป (อาร์บีเอส) ธนาคารรายใหญ่อันดับ 2 ของอังกฤษได้รับความช่วยเหลือทางการเงินฉุกเฉินจากรัฐบาล 20 พันล้านปอนด์ หรือประมาณ 34 พันล้านดอลลาร์ พร้อมกับโอนอำนาจการบริหารให้รัฐบาลอังกฤษ และปลดประธานเจ้าหน้าที่บริหารออก
โดยรัฐบาลอังกฤษได้เข้าซื้อหุ้นบุริมสิทธิ์ของธนาคารอาร์บีเอสจำนวน 5 พันล้านปอนด์ และจะเสนอซื้อหุ้นจากประชาชนที่ราคา 65.5 เพนนีต่อหุ้น
ทั้งนี้ การเข้าไปโอบอุ้มดังกล่าวทำให้อาร์บีเอ็ส เป็นธนาคารรายใหญ่ที่สุดในยุโรปที่ถูกพิทักษ์กิจการโดยรัฐบาล และเป็นธนาคารที่ได้รับความช่วยเหลือจากรัฐบาลอังกฤษมากที่สุด
โดยก่อนหน้านี้ นายกอร์ดอน บราวน์ นายกรัฐมนตรีอังกฤษ ได้ประกาศมาตรการกู้วิกฤติระบบการเงินในประเทศ เพื่อบรรเทาผลกระทบทางเศรษฐกิจที่ขยายวงมาจากวิกฤติสินเชื่อในสหรัฐอเมริกาแล้ว โดยในช่วงแรกนี้ เตรียมอัดฉีดวงเงิน 500,000 ล้านปอนด์ เพื่ออุ้มธนาคารรายใหญ่ของประเทศถึง 8 แห่ง ได้แก่ แอบเบย์ บาร์เคลย์ส เอชบีโอเอส เอชเอสบีซี ลอยด์ ทีเอสบี เนชั่นไวด์ บิลดิ้ง โซไซตี้ รอยัล แบงก์ ออฟ สกอตแลนด์ (อาร์บีเอส) และสแตนดาร์ด ชาร์เตอร์
ภายใต้เป้าหมายเพื่อขจัดอุปสรรคจากกรณีที่ธนาคารพาณิชย์ไม่ต้องการออกสินเชื่อให้ระหว่างกันเนื่องจากประสบภาวะตึงตัวด้านสภาพคล่อง จึงเป็นหน้าที่ของรัฐบาลที่ต้องออกมาแทรกแซงทำหน้าที่เป็นตัวกลางรับประกันการออกสินเชื่อระหว่างธนาคารพาณิชย์ด้วยกัน
ตามรายละเอียดของมาตรการกู้วิกฤต กำหนดว่าธนาคารพาณิชย์ทั้งหลายจะต้องเพิ่มทุนอย่างน้อย 25,000 ล้านปอนด์ ซึ่งในที่นี้อาจขอกู้ยืมจากช่องทางที่รัฐบาลจัดหาให้ โดยธนาคารกลางอังกฤษ ตกลงจะจัดหาเงินกู้ระยะสั้นเพิ่มอีกมูลค่า 100,000 ล้านปอนด์ สมทบกับวงเงินกู้ที่ออกมาก่อนหน้านี้มูลค่า 100,000 ล้านปอนด์ และจะออกวงเงินรับประกันการกู้ยืมระหว่างธนาคารพาณิชย์ให้อีก 250,000 ล้านปอนด์ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับภาคการเงินและขับเคลื่อนให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจเดินหน้าต่อไปได้
ขณะที่ กระทรวงการคลังจะออกขายพันธบัตรที่รับประกันโดยรัฐบาล (Gilts) มูลค่า 25,000 ล้านปอนด์เพื่อนำไปซื้อหุ้นบุริมสิทธิ (หุ้นที่ผู้ถือได้เงินปันผลตายตัวและในลำดับก่อนการจ่ายเงินปันผลให้กับผู้ถือหุ้นสามัญ แต่จะไม่มีอำนาจในด้านการบริหารธุรกิจ) ในธนาคารทั้ง 8 แห่งข้างต้นภายในสิ้นเดือน มี.ค.ปีหน้า และอีก 25,000 ล้านปอนด์ จะเปิดกว้างไว้ให้เผื่อธนาคารที่ต้องการเงินทุนอัดฉีด
ด้านบริษัทวิเคราะห์ แซนฟอร์ด ซี. เบิร์นสไตน์ ประเมินว่า อาร์บีเอส อาจได้รับเงินอัดฉีดจากรัฐบาลมากถึง 8,000 ล้านปอนด์จากเงินทุนทั้งหมดกว่า 20,000 ล้านปอนด์ที่รัฐบาลกันไว้สำหรับเข้าไปลงทุนในธนาคารเป้าหมาย ขณะที่บาร์เคลย์ส และเอชบีโอเอสอาจต้องการเงินอัดฉีดรายละ 5,000 ล้านปอนด์ และอีก 2,500 ล้านปอนด์สำหรับธนาคารลอยด์ ทีเอสบี ในที่นี้อาจหมายถึงว่า รัฐบาลอังกฤษน่าจะเข้าไปถือหุ้นในอาร์บีเอส 35% ใน ลอยด์ส และเอชบีโอเอส รายละ 25% และ 20% ในบาร์เคลย์ส